บทความทางการแพทย์

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบัน


โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจไม่มีอาการเตือนมาก่อน การที่จะรู้ว่าผู้ใดมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากหรือน้อย เราสามารถดูได้จากปัจจัยเสี่ยงได้แก่ สูงอายุ มีประวัติในครอบครัว ประวัติการสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง การประมาณค่าความเสี่ยงในคนที่ยังไม่มีอาการโรคหัวใจว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเท่าไรใน 10 ปีข้างหน้า สามารถคำนวณได้โดยการใส่ข้อมูลลงไปในคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีโปรแกรมคำนวณหลายโปรแกรม แต่ส่วนใหญ่จะทำจากข้อมูลในอเมริกาและยุโรป โปรแกรมที่น่าจะใช้ได้กับคนเอเชียได้แก่ คะแนนความเสี่ยงแฟรมิ่งแฮม (Framingham Risk Score) หรือสกอร์ (SCORE: Systematic Coronary Risk Evaluation) ทุกคนที่คิดว่ามีความเสี่ยงควรจะคำนวณความเสี่ยงของตัวเองดู ซึ่งสามารถค้นหาได้ในอินเตอร์เน็ต หากเราทราบความเสี่ยงแล้วเราสามารถจัดการตัวเราได้ดีขึ้น หรือ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาในระยะแรกด้วยยาซึ่งอาจจะทำให้ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตได้



แต่หากหลอดเลือดหัวใจตีบมากแล้ว จำเป็นต้องรักษาเพิ่มเติมโดยการขยายด้วยบอลลูน และใส่ขดลวดที่หลอดเลือดหัวใจบริเวณที่มีการตีบ ผู้ป่วยบางรายที่มีหลอดเลือดตีบในตำแหน่งที่สำคัญหรือตีบหลายจุด อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาซึ่งเรียกว่า การผ่าตัดทำทางเบี่ยงของหลอดเลือดหัวใจ ให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจโดยใช้หลอดเลือดเสริม (รูปที่ 2) หรือบางท่านอาจเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting)

การผ่าตัดในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูงกว่าแต่ก่อนมาก ความเสี่ยงในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด เช่น ถ้าผู้ป่วยอายุ 70 ปี เป็นโรคเบาหวานใช้ยารับประทาน มีโรคความดันโลหิตสูง ไม่มีภาวะกล้ามเนื้อตายเฉียบพลัน การบีบตัวของหัวใจปกติ อัตราเสี่ยงของการผ่าตัดเพียงแค่ 1% แต่ถ้ารอให้ผู้ป่วยเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจ ความเสี่ยงอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3% หรือบางครั้งผู้ป่วยมาโรงพยาบาลไม่ทันโดยมีอาการของหัวใจเต้นผิดปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทันทีได้ ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงมีผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่า ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันถึงแม้ว่าจะรักษาได้ แต่การทำงานของหัวใจก็อาจจะกลับมาได้ไม่เป็นปกติ ต่างกับผู้ป่วยที่ยังไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตายก่อนการรักษา


แต่เดิม การผ่าตัดจะใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (On-Pump Coronary Artery Bypass Grafting) มาช่วยในการทำงานเพื่อให้หัวใจหยุดเต้นโดยศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันการผ่าตัดโรคหัวใจหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน สามารถทำได้โดยโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary Artery Bypass Grafting) หรือหัวใจไม่หยุดเต้น โดยใช้เครื่องมือช่วยให้บริเวณผ่าตัดหยุดนิ่งพอที่ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดได้ ศัลยแพทย์จะเป็นผู้ที่เลือกชนิดของการผ่าตัดให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย


การใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมมีข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือหัวใจหยุดเต้น ศัลยแพทย์สามารถทำการต่อหลอดเลือดใหม่ได้ง่าย แต่การใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมก็มีข้อเสียคือ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นทั่วร่างกาย เนื่องจากเลือดทั้งหมดในร่างกายต้องออกมาผ่านเครื่องปอดหัวใจเทียม เพิ่มเติมออกซิเจนแล้วให้กลับไปในตัวผู้ป่วยใหม่ นอกจากนี้ร่างกายยังกระตุ้นสารเคมี ทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น การใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมยังมีผลต่อเกล็ดเลือดและการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติหลังผ่าตัด การใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมมีผลต่อระบบการทำงานของปอด ไตและสมองนอกจากนี้การทำให้หัวใจหยุดโดยใช้สารเคมีซึ่งจำเป็น ยังอาจมีผลกระทบในระดับเซลล์ของหัวใจและทำให้การฟื้นตัวและการทำงานของหัวใจลดลงหลังผ่าตัด ในบางกรณีที่เป็นผู้สูงอายุซึ่งมีเศษไขมันหรือคราบไขมันติดอยู่ตรงหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (aorta) อยู่เดิมแล้ว เมื่อใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมอาจทำให้เศษไขมันที่เกาะอยู่หลุดเข้าไปในระบบการทำงานของส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ หรือฟองอากาศเล็กๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมอาจหลุดเข้าไปในระบบการทำงานของส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าหลุดเข้าไปในระบบการทำงานของสมองอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้ ถ้าหากศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดหลอดเลือดบายพาสได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม ภาวะแทรกซ้อนทั้งหมดของเครื่องปอดหัวใจเทียมจะถูกตัดออกไป100% การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาสโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (Off-pump Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการทางเลือกจากเดิม อย่างไรก็ตามการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาสโดยหัวใจไม่หยุดเต้นก็มีผลข้างเคียงถ้าศัลยแพทย์ไม่มีความชำนาญและประสบการณ์เพียงพอจะทำให้เส้นเลือดตีบตันกว่าเดิมได้ หรือศัลยแพทย์บางท่านที่มีการประสานงานกับวิสัญญีแพทย์ได้ไม่ดีพอจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้ด้วยเช่นกัน


สมาคมแพทย์โรคหัวใจ สมาคมศัลยแพทย์หัวใจและสมาคมแพทย์ที่รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบโดยใช้บอลลูนและขดลวด ได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางการรักษาผู้ป่วยโดยอาศัยหลักฐานที่ได้มีการศึกษากันมาจำนวนมากกมายหลายปี ในสหรัฐอเมริกาแนวทางการรักษาได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2554 ส่วนในทางฝั่งยุโรป แนวทางการรักษาได้ปรับปรุงและประกาศใช้ใหม่เมื่อเดือน ตุลาคม ปีนี้ ซึ่งมีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยที่การรักษา ได้มีการรักษาโดยใช้บอลลูนและขดลวดมากขึ้น แต่การรักษาโดยการผ่าตัดยังใช้ได้ผลดีและให้ผลการรักษาที่ดีในระยะยาว การที่ผู้ป่วยต้องกลับมารักษาซ้ำอีกน้อยกว่า ผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่ง ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรได้รับทราบถึงข้อมูลและปรึกษากับแพทย์ที่รักษาโดยใช้บอลลูนและศัลยแพทย์หัวใจ หรือเรียกว่า ทีมแพทย์โรคหัวใจ (Heart Team) เพื่อเลือกการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย


ตามหลักฐานและข้อแนะนำของสมาคมโรคหัวใจในยุโรป ยังพบว่าผลการผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (On-pump)ไม่แตกต่างจากการผ่าตัดบายพาสโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมซึ่งทำผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดแบบนี้ และในศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในการทำบายพาส "Off-Pump" จะพบว่าการผ่าตัดแบบนี้สามารถลดการเกิดอัมพาต การติดเชื้อของแผลผ่าตัด การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ลดการให้เลือดและจำนวนวันที่อยู่โรงพยาบาลหลังผ่าตัดน้อยลง สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังพบว่าการผ่าตัดแบบนี้ช่วยลดอัตราตายหลังผ่าตัดได้


ความจริงศัลยแพทย์ต้องสามารถผ่าตัดได้ทั้งแบบที่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมและการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาสแบบหัวใจไม่หยุดเต้น เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีรายละเอียดแตกต่างกัน ศัลยแพทย์ต้องมีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในการผ่าตัดแต่ละแบบ เพื่อให้ผลกระทบเกิดกับผู้ป่วยน้อยที่สุด


นพ.เพิ่มยศ เรืองสกุลราช
ศัลยศาสตร์หัวใจหลอดเลือดและทรวงอก
โรงพยาบาลพญาไท 3 
Contact Us
โรงพยาบาลพญาไท 3
  • 111 ถนนเพชรเกษม แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160
  • 66-(0)2-467-1111
  • WebCenter@phyathai.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
Copyrights ©2015 www.phyathai.com