อาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง แปลบๆ รู้สึกเจ็บแน่นตรงหน้าอก บ้างก็ว่าตัวเองคิดไปเองหรือเปล่า เดี๋ยวก็หาย แต่รู้หรือไม่ว่าบางรายที่เกิดอาการใจสั่นเช่นนี้ อาจเป็นสัญญาณที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหัวใจได้
สาเหตุของอาการใจสั่น
• อาการใจสั่นที่อาจเกิดจากความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ หรือ โรคหัวใจ
• อาการใจสั่นร่วมกับอาการอื่น เช่น หน้ามืด เป็นลมหมดสติ เจ็บ แน่นหน้าอก หรือเหนื่อยหอบกว่าปกติ อาจบ่งบอกถึง โรคหัวใจรุนแรงควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
• อาการใจสั่นที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยไม่สัมผัสกับการออกแรง และสามารถหายได้เอง ผู้ป่วยมักแยกอาการแตกต่างกันขณะที่มีและไม่มีอาการใจสั่น
• การใจสั่นที่เกิดร่วมกับจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
• อาการใจสั่นในผู้ป่วยที่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยที่เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตายจากหลอดเลือดอุดตัน หัวใจโตล้มเหลว หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
• อาการใจสั่นในผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวใกล้ชิดเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะการเสียชีวิตกะทันหันก่อนวัยอันควร
ในบางครั้งที่หัวใจเต้นเร็วมาก อาจเกิดการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อย หรือเวียนศีรษะ บางครั้งหัวใจเต้นเร็วจนไม่สามารถพยุงความดันโลหิต ก็จะส่งผลให้เกิดการหน้ามืด เวียนศีรษะได้ และถ้าอาการเกิดขึ้นขณะที่อยู่นิ่ง ๆ โดยอาการเกิดขึ้นและหยุดทันที ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์หรือสัมพันธ์กับอาการเวียนหัว วูบ หน้ามืด มักมีสาเหตุจากวงจรไฟฟ้าเต้นผิดปกติ เพราะหากเกิดการตื่นเต้น เครียด หรือการออกกำลังกาย มักจะมีการเต้นเร็ว ค่อยๆเป็น และค่อยๆเต้นช้าลงเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ภาวะหัวใจเต้นเร็วอาจจะไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ แต่เกิดจากความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะเลือดจาง ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ จากโรคท้องร่วงหรือเสียเลือดมาก ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาแล้ว ภาวะหัวใจเต้นเร็วก็จะกลับสู่ปกติ โดยไม่ต้องใช้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ
แนวทางการรักษาภาวะใจสั่น
- ตรวจร่างกาย การตรวจเอ็กซเรย์เงาปอด และหัวใจ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อช่วยการวินิจฉัย หรือนำไปสู่การส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมที่เหมาะสม
- ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตนเองอาจมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาดหรือไม่นั้น แพทย์อาจส่งตรวจการเต้นของหัวใจด้วยการเดิน วิ่ง สายพานเลื่อน
- ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตัวเอง มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ลิ้นหัวใจตีบ หรือผนังกั้นหัวใจรั่ว หรือโรคของ เยื่อหุ้มหัวใจ คุณหมอก็จะส่งตรวจด้วยเครื่องตรวจเสียงสะท้อนหัวใจ (Ecohocardigraphy)
นอกจากนี้ การรักษายังขึ้นอยู่กับผลการตรวจว่ามีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ถ้ามี การที่หัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นเป็นชนิดใด และที่สำคัญมีสาเหตุจากโรคหัวใจ หรือ ความผิดปกติของอวัยวะใด การรักษาที่สำคัญ คือ รักษาที่สาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว หากหลอดเลือดหัวใจตีบมาก อาจต้องได้รับการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจ เช่น การทำบอลลูน หรือการถ่างหลอดเลือด ด้วยขดลวดต่อไป
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการใจสั่น
- คาเฟอีน
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ภาวะความเครียด
- การอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ภาวะขาดน้ำ
- การเจ็บป่วยจากโรค เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือทำงานมากเกินไป
- ยาบางชนิด
การป้องกันการเกิดภาวะใจสั่น
ส่วนการป้องกันตนเองให้ห่างภาวะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอกเลือด ก็คือ การดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำจิตใจให้แจ่มใส ลดความเครียด งดการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และถ้าหากมีอาการที่ผิดปกติควรเข้าพบแพทยทันที
นพ.จีระศักดิ์ สิริธัญญานนท์โดยโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
โทร 02-467-1111 ต่อ 3290