การฉีดสีสวนหัวใจ เป็นวิธีการเพื่อค้นหาตำแหน่งการตีบตันของหลอดเลือดในหัวใจ แพทย์จะสามารถมองเห็นตำแหน่งความผิดปกตินั้น และดำเนินการรักษาได้ทันเวลา เนื่องจากการรักษาโรคหัวใจไม่สามารถประวิงเวลาได้ การฉีดสีสวนหัวใจจึงเปรียบเสมือนไม้ตายของแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เพราะเมื่อโพกัสเจอปัญหา แนวทางการรักษาก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อ ไป
ฉีดสีสวนหัวใจใช้สีอะไรฉีด
สีในที่นี้หมายถึง สารละลายใส เป็นสารทึบรังสีเป็นสาร ไอโอดีนจะมีมากในอาหารทะเล ฉะนั้นผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเล ก็มีโอกาสแพ้สีที่ฉีดจึงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่าแพ้อาหารทะเลหรือไม่ โดยปกติจะเอกซเรย์ไม่เห็นหลอดเลือด และเมื่อฉีดสารทึบรังสี จะทำให้มองเห็นหลอดเลือดหรือห้องหัวใจเมื่อเอกซเรย์
ฉีดสีสวนหัวใจ คืออะไร?
หมายถึง การใส่สายสวนขนาดเล็กๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มม. เข้าไปตามหลอดเลือดแดง เริ่มที่ตำแหน่งข้อมือ หรือขาหนีบ (นิยมใส่ที่ขาหนีบมากที่สุดเนื่องจากสะดวกและเจ็บน้อยกว่า) จนไปถึงรูเปิดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ แพทย์จะฉีดสารทึบรังสี และ ดูสภาพกล้ามเนื้อ หัวใจและการทำงานของลิ้นหัวใจ
ฉีดสีสวนหัวใจเมื่อไร และจำเป็นมากแค่ไหน
หากท่านมีอาการเจ็บหน้าอก แพทย์จะซักประวัติตรวจร่างกาย แล้ว หากสงสัยว่าเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบตัน แพทย์จะแนะนำให้ฉีดสีสวนหัวใจเนื่องจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เสี่ยงต่อหัวใจวาย และเสียชีวิตในที่สุด
ประโยชน์ของการฉีดสีสวนหัวใจ
1. เพื่อการวินิจฉัยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจ
2. เพื่อการรักษาหากพบว่าเส้นเลือดหัวใจตีบตัน รักษาโดยการขยายหลอดเลือดหัวใจ ด้วยบอลลูนต่อเนื่องในคราวเดียวกัน
ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนทำการสวนหัวใจ
แพทย์จะสอบถามอาการแพ้ยาและ แพ้อาหารทะเล โรคประจำตัวยาที่รับประทานประจำ โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือดควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และนำมาให้ดู ตรวจร่างกายทั่วไปผู้ป่วยและญาติรับฟังการอธิบายจากแพทย์ และเจ้าหน้าที่และเซ็นยินยอมรักษา คืนก่อนตรวจแพทย์จะสั่งงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงก่อนทำ ให้น้ำเกลือ ทำความสะอาดผิวหนังและโกนขนบริเวณที่จะทำการเจาะเพื่อใส่สายสวนหัวใจ
ขั้นตอนเมื่ออยู่ห้องตรวจ
แพทย์จะทำการฉีดยาชาในตำแหน่งที่จะใส่สายสวน ที่นิยมคือขาหนีบ (ที่ข้อมือก็ทำได้) ทายาฆ่าเชื้อแล้วเจาะรูเล็กๆ เพื่อใส่สายสวน ทางเส้นเลือดแดง ไปจนถึงตำแหน่ง รูเปิดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เรียกว่าหลอดเลือด โคโรนารี่ จากนั้นแพทย์จะฉีดสารทึบรังสี และทำการเอกซเรย์เป็นระยะ เพื่อดูหลายๆมุม หากแพทย์พบว่ามีการตีบตันของเส้นเลือด จำเป็นต้องรักษาต่อโดยการทำบอลลูน ก็สามารถทำต่อไปได้เลย ซึ่งผู้ป่วย ญาติและแพทย์ ต้องมีการปรึกษาวางแผนร่วมกันมาแล้วล่วงหน้า ก่อนที่จะถึงวันตรวจ วันที่ทำการตรวจควรจะมีญาติที่สามารถตัดสินใจได้มาด้วย ระหว่างทำการตรวจนั้นผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดีตลอด และสามารถสื่อสารกับแพทย์ได้
ใช้เวลานานแค่ไหน
ขั้นตอนการฉีดสีสวนหัวใจ ใช้เวลา 20 – 30 นาที แต่หากจำเป็นต้องทำบอลลูนเพื่อขยายเส้นเลือดหัวใจก็ใช้เวลาประมาณ 45 นาที - 1 ชั่วโมง
การฉีดสีหัวใจอันตรายไหม ?
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้น้อยมากประมาณ0.01เปอร์เซ็นต์ อาการมีดังนี้ เลือดออก ติดเชื้อ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
การปฏิบัติตัวหลังจากฉีดสีสวนหัวใจ
ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 1-2คืน ระหว่างอยู่โรงพยาบาลต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้
1. นอนราบบนเตียงห้ามลุกไปไหน แม้แต่เข้าห้องน้ำก็ไม่ได้! ห้ามงอขาหรืองอมือ ข้างที่ทำ 6 – 12 ชั่วโมง หรือตามคำแนะนำของแพทย์
2. ส่วนใหญ่แพทย์จะอนุญาตให้เดินในวันรุ่งขึ้นและหากไม่มีอาการผิดปกติแพทย์อนุญาติให้กลับบ้านได้
การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน
- ดูแลแผลให้แห้งสะอาด
- ออกกำลังกายด้วยการเดิน
- เลี่ยงอาหารมีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ข้าวขาหมู อาหารผัด ทอด
- รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์
- มาพบแพทย์ตามนัด
- หากมีอาการแน่นหน้าอก ให้รีบมาพบแพทย์
การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เช่น
- เลี่ยงอาหารมีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ข้าวขาหมู อาหารผัด ทอด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงความเครียดต่างๆ
- งดสูบบุหรี่
- ลดน้ำหนัก
- พักผ่อนคลายเครียด
นพ.จีระศักดิ์ สิริธัญญานนท์