หัวใจคนเรามี 4 ห้อง แบ่งเป็นซ้ายและขวา ผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ แบ่งเป็นห้องบนและล่างโดยลิ้นหัวใจ ในทุกๆ วัน การทำงานปกติของ "หัวใจ"จะเต้นประมาณ 100,000 ครั้งต่อวัน แต่หากในวันหนึ่งหัวใจของเราเกิดอาการผิดปกติขึ้นมาจะทำเช่นไร
ในคนปกติมีเซลล์ในกล้ามเนื้อหัวใจ ทำหน้าที่ สร้างกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้หัวใจทำงานสม่ำเสมอ มีการบีบตัวเลือดจากห้องบนไปยังห้องล่างโดยเซลล์ที่สร้างกระแสไฟฟ้าในตัวเอง จากขอบบนหัวใจห้องบน ส่งกระแสผ่านไปยังห้องล่าง ตามแนวระบบประสาทในหัวใจโดยในคนปกติหัวใจช่วงไม่ออกแรง ชีพจรควรเต้นประมาณ 60-80 ครั้ง/นาที
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arryhythmia) คือ ภาวะใดๆ ที่เกิดความผิดปกติขึ้นในการนำไฟฟ้าของหัวใจโดยหัวใจอาจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ และมีจังหวะสม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอก็ได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดและเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปสามารถแบ่งชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ (Bradyarrhythmia) และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachyarrhythmia)
หัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิด ความรุนแรงต่าง ๆ กัน บางคนอาจไม่มีอาการ
1. กรณีที่หัวใจเต้นเร็วเกินไป คือ ชีพจรเกิน 80 ครั้ง/นาทีในผู้ใหญ่ขณะพัก ถือว่าเร็วกว่าปกติ บางคนอาจมีอาการใจสั่น วิงเวียน หน้ามืด แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย เป็นลม อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) และเสียชีวิต
2. กรณีหัวใจเต้นช้าเกินไป คือ ชีพจรในผู้ใหญ่ขณะพักที่น้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที (ยกเว้นในนักกีฬาที่ฝึกซ้อมสม่ำเสมอสุขภาพแข็งแรง หัวใจอาจเต้นช้าได้มาก ๆ เช่น 50 ครั้ง/นาที ก็ยังถือว่าปกติ) ซึ่งถ้าหัวใจเต้นช้ามาก จะทำให้เลือดที่บีบจากหัวใจไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้วิงเวียน หรือหน้ามืดเป็นลมได้
3. นอกจากเต้นเร็วหรือช้าเกินไปแล้ว หัวใจอาจจะเต้นไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เลือดที่บีบออกจากหัวใจไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะสมอง และหัวใจเอง ทำให้ขาดเลือดจนส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา ดังที่กล่าวข้างต้น
ภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) คือภาวะซึ่งหัวใจไม่มีการบีบตัว ทำงานผิดปกติ หรือทำงานช้าลง ทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือด ทำให้ไม่มีการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายส่วนต่าง ๆ เกิดอาการของการทำงานผิดปกติที่อวัยวะต่าง ๆ ที่เห็นได้อย่างหนึ่ง คือการทำงานของสมอง ซึ่งเมื่อไม่มีเลือดเลี้ยงทำให้หมดสติ หากหัวใจหยุดเต้นนานกว่า 5 นาที มีโอกาสเกิดความเสียหายต่อเนื้อสมองได้มาก การช่วยเหลือในทันทีจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิต และมีการฟื้นตัวของสมองที่ดี หัวใจหยุดเต้นเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ บางครั้งหากได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ได้ หากมีหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันโดยไม่คาดฝันจนเสียชีวิตใช้ศัพท์ว่า Sudden cardiac death
วิธีสำคัญในการรักษาภาวะหัวใจหยุดเต้น คือการช่วยกู้ชีพ (Cardiopulmonary resuscitation : CPR) เพื่อสร้างการไหลเวียนของเลือดให้มีเลือดไปเลี้ยงร่างกาย พิจารณาสัญญาณไฟฟ้าหัวใจว่าเป็นชนิดที่สามารถช็อกไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือได้หรือไม่และให้การรักษาตามความเหมาะสม
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
1. ความผิดปกติของระบบการนำไฟฟ้าในหัวใจอาจจะเกิดจาก โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น จากเชื้อไวรัสบางชนิด
2. ภาวะที่ผู้ป่วยมีโรคหัวใจเดิมอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดต่าง ๆ โรคลิ้นหัวใจตีบ หรือรั่ว เป็นต้น
3. การถูกกระตุ้น ด้วยคาเฟอีนหรือยากระตุ้นประสาท แอมเฟตามีน (Amphetamine) แอลกอฮอล์ ยาลดน้ำหนักบางประเภท ยาขยายหลอดลม เป็นต้น
4. อายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของระบบไฟฟ้าหัวใจ สาเหตุนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้
5.โรคบางชนิดอาจส่งเสริมให้เกิดการเต้นผิดจังหวะได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคเบาหวาน และ ผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม เป็นต้น
6. โรคทางกรรมพันธุ์ ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย เกิดจากความผิดปกติของวงจรไฟฟ้าที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น โรคไหลตาย หรือ Brugada syndrome , Long QT syndrome กลุ่มผู้ป่วยจะมีการเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องล่างจนอาจส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตทันทีทันใด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการ หน้ามืด เป็นลม หากวินิจฉัยได้ก่อนแพทย์จะรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เข้าไปในตัวผู้ป่วยเพื่อป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
โรคไหลตาย ผู้ป่วยมักมีอาการหัวใจเต้นรัวเร็วจนล้มเหลวและหยุดเต้นในที่สุด โดยที่ไม่รู้ตัว มักเป็นขณะที่นอนหลับ ซึ่งภาวะดังกล่าว มีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย หากไม่ได้รับการช่วยชีวิตภายใน 4 นาที ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจึงควรเข้ารับการตรวจแต่เนิ่นๆ เพราะปัจจุบันมีวิธีป้องกันไม่ให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ทำได้โดยการฝังอุปกรณ์บางชนิดเข้าไปใต้ผิวหนังช่วงหน้าอกซ้าย และเชื่อมสายไฟต่อเข้ากับหัวใจ ซึ่งเมื่อใดที่หัวใจเกิดอาการเต้นเร็วกว่าปกติ อุปกรณ์จะส่งกระแสไฟเข้าสู่หัวใจทำให้กลับมาเต้นเป็นปกติ ก่อนที่จะเต้นผิดจังหวะมากจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะหากเกิดอาการต้องได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี มีเวลาในการกู้ชีพ 4 นาทีเท่านั้น ด้วยวิธีปั๊มหัวใจ และปฐมพยาบาลเบื้องต้น (CPR) และจึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
การตรวจวินิจฉัยและรักษา
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย การตรวจชีพจร วัดความเร็วความสม่ำเสมอของการเต้น ความแรงของชีพจรการตรวจฟังเสียงเต้นหัวใจ โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วมักมาร่วมกับการเต้นผิดจังหวะเร็วที่เกิดจากหัวใจห้องบน เป็นต้น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) หาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และชนิดของการเต้นผิดจังหวะของหัวใจขณะนั้น
- การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest x-ray) ดูขนาดและห้องหัวใจ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24-48 ชม. (Holter) เนื่องจากในบางครั้งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทไม่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จึงต้องติดเครื่องตรวจไว้กับตัวผู้ป่วยครบ 1-2 วัน จึงถอดข้อมูลมาแยกชนิดของคลื่นหัวใจ โดยเครื่องวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง
- การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง/อัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram)
- การตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ (Cardiac electrophysiology study)
- ตรวจภาพหลอดเลือดด้วยการสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram)
- การตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อดูความเข้มข้นของเลือดเพื่อดูภาวะซีด การทำงานของไต ไทรอยด์ฮอร์โมน เกลือแร่ในเลือด สารบ่งภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีดังนี้
- การให้ยา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไป (Rate control) เพื่อควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้สม่ำเสมอ (Rhythm control) ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจห้องบนป้องกันภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันในอวัยวะสำคัญส่วนอื่นของร่างกาย
- การนวดจุดประสาทที่คอ กรณีที่เป็นการเต้นเร็วผิดจังหวะจากหัวใจห้องบน แพทย์อาจนวดจุดประสาทที่ลำคอ เพื่อกระตุ้นระบบประสาท พาราสิมพาธิติค (Parasympathetic nervous system) ที่ควบคุมการเต้นของหัวใจให้หัวใจเต้นช้าลง
- การใช้ไฟฟ้ากระตุก เพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (Cardioversion) ให้กลับเต้นปกติ การเต้นผิดจังหวะชนิดที่เกิดจากหัวใจห้องล่าง ทำให้เลือดออกจากหัวใจน้อย อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การช่วยชีวิตที่ได้ผลดี คือการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจ (Defibrillator) ยิ่งรักษาได้เร็วยิ่งได้ผลดี
- การจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency ablation) แพทย์จะใส่สายสวนหัวใจเข้าไป เพื่อทำลายความผิดปกติที่ตรวจพบจากการทำ EP (Electrophysiologic study) ซึ่งวิธีนี้จะทำลายจุดกำเนิด หรือตัดเส้นทางลัดวงจรไฟฟ้าที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะให้หมดไป ทำให้มีอัตราการหายขาดจากโรค ค่อนข้างมาก
โรงพยาบาลพญาไท 3
Call Center 1772
- Boxed
- Widescreen