บทความทางการแพทย์

เจ็บหน้าอกบ่อยเสี่ยงเป็น "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด"


สาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดภาวะแข็งตัว (Ateriosclerosis) ซึ่งเกิดจากการสะสมของสารต่างๆ เกาะบนผนังด้านในของหลอดเลือดส่วนใหญ่ มักจะเป็นผลมาจากไขมันเกาะ ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัว ตีบแคบหรืออุดตัน และความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง เลือดไหลผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลง หรือไมได้เลย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตโดยไม่ทันรู้ตัว


ปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ

ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุมากขึ้น

สัญญาณอันตรายเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

อาการสำคัญของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือ อาการเจ็บหน้าอกบริเวณกลางอกเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย ลักษณะเจ็บแบบจุกแน่น เหมือนมีอะไรบีบรัดหรือของหนักทับหน้าอก มักจะเจ็บร้าวไปที่ไหล่ซ้าย แขนซ้ายมักจะมีอาการระหว่างออกกำลังกาย ทำงานออกแรงมากๆ อยู่ในภาวะโกรธ เครียด ตื่นเต้น เมื่อหยุดออกแรงหรือคลายจากอารมณ์ดังกล่าวอาการเจ็บหน้าอกจะทุเลาลง ควรจะไปพบแพทย์ ซึ่งเป็นอาการของหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ แต่ถ้าหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจอุดตันเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้เลย ทำให้มีกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน มักมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง เจ็บนาน ญาติควรรีบพาส่งโรงพยาบาลเร็วที่สุด มักมีภาวะช็อกและหัวใจวายร่วมด้วย

การตรวจวินิจฉัยอย่างไรจึงจะทราบว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

  • พิจารณาจากการซักประวัติโรคประจำตัว ประวัติการรักษาและลักษณะของอาการเจ็บหน้าอก อาการเจ็บสัมพันธ์กับการออกแรงหรือความเครียดหรือไม่ เจ็บนานแค่ไหนและตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจความดันโลหิตเพื่อพิจารณาความรุนแรงของโรค
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะเดินออกกำลังกายบนสายพาน (Exercise Stress test) เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะออกกำลังกาย เพราะเป็นช่วงที่หัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมาก หากกล้ามเนื้อหัวใจตายก็จะพบการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้า
  • การตรวจเลือด ค่าของสารเคมีในเลือดจะบอกได้ว่า มีกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือไม่ จะสามารถวินิจฉัยความรุนแรงของโรคได้
  • การฉีดสีเข้าหลอดเลือดหัวใจ ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แน่นอนว่า หลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

การรักษาแพทย์จะพิจารณาหลายๆปัจจัยประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา ปัจจัยหลักที่แพทย์พิจารณาคือ ความรุนแรงของโรค พยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจและอาการของผู้ป่วย โดยวิธีการรักษาด้วยยา การใส่สายสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน หรือการผ่าตัดทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting)

การรักษาด้วยยา

ให้ยาขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เช่น ไนโตรกลีเซอลีน (Nitroglycerine) อมใต้ลิ้นทันทีเมื่อเกิดอาการ บางครั้งอาจให้ยาป้องกัน ลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน รับประทานวันละครั้ง
ในรายที่มีโรคประจำตัวที่เป็นต้นเหตุ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง แพทย์จะต้องให้ยาเพื่อรักษาโรคประจำตัวเหล่านี้ควบคู่กันไป

การใส่สายสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือด

แพทย์จะพิจารณาทำกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้ผล เป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน เพื่อถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบตัน ทำให้เลือดไหลผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้สะดวก โดยการใส่สายสวนเล็กๆผ่านทางหลอดเลือดที่ขาหนีบ ที่ปลายสายสวนมีบอลลูนขนาดจิ๋วที่ยังแฟบอยู่ เมื่อเลื่อนบอลลูนไปจนถึงตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบตันแล้ว แพทย์จะดันบอลลูนให้ขยายออก บอลลูนจะเบียดคราบหินปูนคราบไขมันที่เกาะผนังหลอดเลือดให้ยุบลงไป หลังจากนั้นแพทย์จะเอาบอลลูนออกมา แต่บางกรณีแพทย์อาจพิจารณาใส่ขดลวดเล็กๆ (Stent) คาไว้ในบริเวณที่หลอดเลือดตีบตัน เพื่อป้องกันการตีบของหลอดเลือดซ้ำอีก

การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Bypass)

การพิจารณาผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ จะทำในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง โดยแพทย์จะพิจารณาจากพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจและอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก เป็นการผ่าตัดทำทางเบี่ยงข้ามเพิ่มหลอดเลือดใหม่เข้าไป ต่อข้ามตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบตัน ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านไปเลี้ยงหัวใจด้วยเส้นทางใหม่ ซึ่งโดยปกติจะต่อหลอดเลือดประมาณ 3 – 5 เส้น หลังผ่าตัดต้องรับประทานยาต่อเพื่อป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือด

เอาหลอดเลือดใหม่มาจากไหนเพื่อทำบายพาส

การเลือกหลอดเลือดมาทำบายพาส (Graft) แพทย์จะพิจารณาหลายปัจจัยประกอบ เช่น ความยืดหยุ่นและความหนาบางของผนังหลอดเลือด และสภาพร่างกายของผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะนิยมใช้หลอดเลือดแดงบริเวณหน้าอก และหลอดเลือดดำที่ขา

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

  • การรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ อย่างเคร่งครัด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย เน้น ผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด งด ชา กาแฟ บุหรี่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น การเดิน เป็นต้น แต่อย่ามากเกินกำลัง
  • การพักผ่อนที่พอเพียง
  • พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ

การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

  • การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันน้อย มีกากใยมากๆ เช่น ผัก ผลไม้ ปลา เป็นต้น
  • ควรออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 วัน
  • หลีกเลี่ยงการสูบหรี่
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รู้จักผ่อนคลายความเครียด
  • ควบคุมน้ำหนัก งดอาหารหวานจัด
  • ควรตรวจสุขภาพประจำปี
  • หากท่านมีโรคประจำตัว ควรพบแพทย์และรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • เมื่อมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ควรปรึกษาแพทย์s


 นพ.สุวัฒน์ คงดำรงเกียรติ
อายุรแพทย์โรคหัวใจและหัวหน้าศูนย์หัวใจ  
โรงพยาบาลพญาไท 3
Contact Us
โรงพยาบาลพญาไท 3
  • 111 ถนนเพชรเกษม แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160
  • 66-(0)2-467-1111
  • WebCenter@phyathai.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
Copyrights ©2015 www.phyathai.com