บทความทางการแพทย์

การป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด


โรคหัวใจและหลอดเลือด กินความรวมไปถึงความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดของไต ของสมอง ซึ่งหมายความรวมถึงอัมพฤกษ์อัมพาตที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบด้วย โรคในกลุ่มนี้เป็นเหตุการณ์ตายที่พบบ่อยเป็นอันดับสามรองลงมาจากมะเร็งและอุบัติเหตุ จึงถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่และสำคัญ


กลไกการเกิดโรคนี้เริ่มจากมีไขมันในเลือดสูงแล้วไปสะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆรวมทั้งหัวใจ ผ่านไปหลายปีไขมันที่สะสมบนผนังหลอดเลือดนี้จะกลายเป็นตุ่มที่ใหญ่ขึ้นๆจนทำให้รูของหลอดเลือดตีบแคบจนเลือดไหลผ่านได้น้อย ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกกำลังกายหรือเวลาเครียดซึ่งหัวใจต้องใช้เลือดมาก เมื่อถึงจุดหนึ่งตุ่มไขมันนี้จะแตกออก ทำให้ผิวด้านในหลอดเลือดขรุขระและดึงเอาเกร็ดเลือดและลิ่มเลือดมาอุดตันหลอดเลือดแบบกะทันหัน ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหัวใจวาย

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ป้องกันได้ คือ

   1. สูบบุหรี่
   2. ไขมันในเลือดสูง
   3. ความดันเลือดสูง
   4. เป็นเบาหวาน
   5. ออกกำลังกายน้อย
   6. เป็นโรคอ้วน

การป้องกันโรคนี้ที่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์ คือ

  • ควรวัดความดันเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง ถ้ามีความดันเลือดสูงก็ควรรับการรักษา
  • ชั่งน้ำหนักคำนวณดัชนีมวลกาย จัดการให้น้ำหนักคงที่ในระดับที่ไม่อ้วน
  • พออายุ 20 ปีขึ้นไปควรเจาะเลือดดูไขมันโคเลสเตอรอลในเลือด ถ้าไลฟ์สไตล์และอาหารการกินไม่เปลี่ยนแปลงมาก ควรเจาะเลือดดูไขมันอย่างน้อยทุก 5 ปี แต่ถ้าไลฟ์สไตล์และอาหารการกินเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจจะต้องเจาะเลือดดูไขมันถี่กว่านี้ กรณีที่พบว่าไขมันในเลือดสูง ก็ต้องรับการรักษา
  • เจาะน้ำตาลในเลือดเพื่อคัดกรองเบาหวานทุกปี
  • กรณีเป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำ แต่ประวัติไม่ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรเริ่มต้นออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยค่อยๆเริ่มไปทีละเล็กทีละน้อย จนได้วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที อย่างน้อยวันเว้นวัน ถ้าได้ทุกวันยิ่งดี การเริ่มต้นออกกำลังกายนี้ อาจมีความเสี่ยงอยู่บ้างในคนที่มีโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่มีอาการซ่อนอยู่ ถ้าจะเริ่มต้นโปรแกรมออกกำลังกายโดยไม่ให้มีความเสี่ยงเลย ควรไปตรวจหัวใจขณะออกกำลังกาย (stress test) ก่อนเพื่อความปลอดภัย

ในการตรวจสุขภาพประจำปี แพทย์จะจัดชั้นความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจของผู้ป่วยแต่ละคนออกมาเป็นคะแนน วิธีที่ยอมรับกันทั่วไปคือการคิดคะแนนความเสี่ยงด้วยวิธีฟรามิงแฮม สกอร์ (Framingham Point Score) นำเอาปัจจัยเสี่ยงต่างๆมาคำนวณออกมาเป็นโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในอีกสิบปีข้างหน้า ซึ่งแต่ละคนจะมีคะแนนนี้ไม่เหมือนกัน

ในบางกรณีที่แพทย์ไม่สามารถจัดชั้นความเสี่ยงของผู้ป่วยจากคะแนนความเสี่ยงได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันแพทย์จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกวิธีรักษาซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย เช่นไม่แน่ใจว่าจะต้องใช้ยาเข้ามาช่วยควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ (เช่นยาลดไขมัน ยาแอสไพริน) ในกรณีเช่นนั้นแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยการจัดชั้นความเสี่ยงให้ชัดยิ่งขึ้น ได้แก่การตรวจเอ็กซเรย์หาแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ (calcium score) และ/หรือการตรวจสมรรถนะหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (stress test) ทั้งนี้แพทย์อาจแนะนำให้ทำอย่างเดียวหรือหลายอย่างพร้อมกันตามความจำเป็น

Copyrights ©2015 www.phyathai.com