บทความทางการแพทย์

การสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทาง (ข้อมือ) (Transradial Cardiac Catheterization)


อีกก้าวของความทันสมัยที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการรักษาให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) กับการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทาง(ข้อมือ) ซึ่งช่วยให้การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบไม่ใช่เรื่องน่ากลัวและนอนพักฟื้นนานอีกต่อไป โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคหัวใจที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญของผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งอาการที่พบมักจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลาที่ออกแรงหรือออกกําลังกาย ในบางรายมีอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลันและหัวใจวายได้ เหตุการณ์เหล่านี้สามารถรับมือได้ ถ้าเริ่มต้นเรียนรู้และเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ โดย นพ.สุวัฒน์ คงดำรงเกียรติ ตำแหน่ง อายุรแพทย์โรคหัวใจและหัวหน้าศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ..กับการสวนหลอดเลือดหัวใจ

สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การตรวจวินิจฉัยและรักษาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Angiography : CAG) หรือเรียกง่าย ๆว่าการฉีดสีหมายถึง การใช้สายสวนขนาดเล็กใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดงก่อนถึงหัวใจเล็กน้อย จากนั้นแพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเอ็กซเรย์เข้าทางสายสวนนั้นไปที่หลอดเลือดหัวใจ แล้วทำการถ่ายภาพ เพื่อตรวจสอบดูว่า มีการตีบแคบ หรือตีบตันของหลอดเลือดหรือไม่ เพื่อพิจารณาแนวทางการรักษาต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ตั้งแต่การรักษาด้วยยา, การใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจรวมถึงการใส่ขดลวดในหลอดเลือดหัวใจ

โดยทั่วไปการสวนหลอดเลือดหัวใจจะทำผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ (Femoral artery) โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งขณะที่ตรวจผู้ป่วยจะรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาและสามารถพูดคุยได้ ใช้เวลาในการตรวจเพียง 30-60 นาที แต่ภายหลังการตรวจผู้ป่วยจะต้องนอนราบและงอขาข้างที่ตรวจไม่ได้ประมาณ 6 ชั่วโมง ไม่สามารถลุกนั่งหรือเดินได้ ส่วนในกรณีที่มีความจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจรวมถึงการใส่ขดลวดในหลอดเลือดหัวใจก็สามารถทำต่อได้เลยหลังการตรวจเสร็จสิ้น ซึ่งหลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน และกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติภายใน 1 สัปดาห์

ปัจจุบันการสวนหลอดเลือดหัวใจได้มีการพัฒนาโดยการตรวจผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณข้อมือ (Radial artery) ซึ่งแม้ว่าหลอดเลือดจะมีขนาดเล็กกว่าและมีทางเดินที่คดเคี้ยวกว่า แต่ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์ให้มีความเหมาะสมและสามารถทำการตรวจและรักษาได้ใกล้เคียงกับการตรวจผ่านหลอดเลือดแดง บริเวณขาหนีบ จนกระทั่งปัจจุบันนี้มีความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี คศ 2007-2011 มีผู้ป่วยที่ได้รับการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า

ลักษณะกายวิภาคของหลอดเลือดแดงบริเวณข้อมือ

โดยปกติบริเวณข้อมือจะมีระบบเลือดหล่อเลี้ยงโดยหลอดเลือด 2 เส้นคือ หลอดเลือดแดง Radial และ Ulnar โดยที่แพทย์จะทำการทดสอบด้วยวิธีการง่าย ๆ ที่เรียกว่า Allen's test เพื่อตรวจสอบว่าหลอดเลือดทั้ง 2 ปกติก็สามารถทำการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือได้ ซึ่งประมาณว่าผู้ป่วยมากกว่า 90% จะมีหลอดเลือดทั้ง 2 ปกติ

ข้อดีและข้อเสียของการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือ

วิธีใหม่นี้แพทย์จะต้องทำงานยากขึ้นและต้องใช้ทักษะมากกว่าเดิม และในบางครั้งเกิดภาวะหดตัวของหลอดเลือด (Radial artery spasm) ซึ่งถ้าเป็นมากก็อาจจะจำเป็นต้องเปลี่ยนมาทำการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางขาหนีบแทน แต่ก็มีข้อดีหลายประการ ผู้ป่วยไม่ต้องนอนขาเหยียดตรงหลายชั่วโมง หลังทำการตรวจและรักษาสามารถลุกเข้าห้องน้ำ และนั่งรับประทานอาหารได้ทันที มีเพียงสายรัดข้อมือ (TR band) ใส่ไว้ประมาณ 2-4 ชั่วโมง (รูปที่ 5) จึงทำให้ระยะเวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลสั้น กลับไปดำเนินชีวิตตามปกติภายใน 3 วัน มีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complication) จากการใส่สายสวนน้อยกว่าแบบการสวนผ่านทางขาหนีบ เนื่องจากเส้นเลือดมีขนาดเล็กกว่า และอยู่ใกล้ผิวหนังมากกว่าทำให้การควบคุมการหยุดเลือดได้ดีกว่ามาก ซึ่งหากมีเลือดออกบริเวณขาหนีบ อาจจะต้องให้เลือด หรือบางครั้งจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดโป่งพองจนอาจต้องผ่าตัดซ่อมแซม และจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถงอขา หรือลุกเดินได้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ ผลการรักษาโดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจรวมถึงการใส่ขดลวดในหลอดเลือดหัวใจเท่าเทียมกัน และอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มที่กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิด STEMI ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อไรจะตัดสินใจทำการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือหรือขาหนีบ

โดยปกติขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ทำการตรวจเป็นหลัก ซึ่งแพทย์กลุ่มหนึ่งก็ยังทำการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางขาหนีบเป็นหลัก แต่ก็มีแพทย์ที่ทำการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือเป็นหลักเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่จะต้องมีความชำนาญวิธีนี้ด้วย ในบางกรณีที่ผู้ป่วยอ้วนมากหรือมีภาวะหลอดเลือดขาส่วนปลายตีบ การสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือจะมีข้อดีมากกว่า แต่ในบางกรณีที่ต้องการรักษาหลอดเลือดแดงที่ข้อมือไว้ใช้ในการรักษาอื่น ๆ เช่นการฟอกไต (Hemodialysis) หรือผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจที่อุดตันทําทางเดินของเลือดใหม่ (Coronary Artery Bypass Graft : CABG) การสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางขาหนีบก็จะมีข้อดีมากกว่า

ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือและขาหนีบ