เมื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยแล้วพบ “โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท” สิ่งสำคัญ คือ การเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ซึ่งการรักษามีหลายหลายวิธี อาทิ การรับประทานยา การฝังเข็ม การผ่าตัด การออกกำลังกาย รวมไปถึงการรักษาทางกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ทั้งนี้ก่อนเริ่มต้นออกกำลังกาย เพื่อความปลอดภัย และลดภาวะแทรกซ้อนจากการออกกำลังกายผิดประเภท หรือผิดวิธี  ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด

เป้าหมายของออกกำลังกายในผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทคืออะไร

การออกกำลังกายในผู้ป่วยกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท มุ่งหวังให้กล้ามเนื้อหน้าท้องและหลัง มีความแข็งแรง เพื่อช่วยลดแรงกดที่กระดูกสันหลัง และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บน้อยลง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆหรือทำกิจกรรมหนัก ๆ ที่อาจนำมาสู่ปัญหาปวดหลังเรื้อรัง

ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทมักบ่นว่าปวดหลัง ยืนเดินได้ไม่ไกล ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก กล้ามเนื้อขา และน่อง มีอาการปวดร้าวจากการที่เส้นประสาทอักเสบรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อ บางรายมีการอ่อนแรง หรือเกิดอาการล้าของขา ดังนั้นการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่มีปัญหาจึงมีความจำเพาะ ที่ต้องได้รับการแนะนำจากนักกายภาพบำบัด หากผู้ป่วยออกกำลังกายผิดจะส่งผลให้กระดูกสันหลังบริเวณที่มีปัญหากดเบียดเส้นประสาทมากขึ้น

กระดูกสันหลังทับเส้นประสาทสามารถรักษาด้วยการออกกำลังกายแบบไหนได้บ้าง

แนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ กระดูกสันหลัง โดยควรออกกำลังเบา ๆ ช้า ๆ หรือการออกกำลังกายในน้ำ หลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวบิดตัวอย่างฉับพลัน เช่น ฟุตบอล กอล์ฟ และยกน้ำหนัก ที่สำคัญคือไม่ควรบังคับ หรือฝืนร่างกายในการออกกำลังกายจนรู้สึกมีอาการปวดมากขึ้น

นอกจากนี้ การทำกายภาพบำบัดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยรักษาโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทได้ โดยช่วยลดอาการปวด ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ รวมทั้งแนะนำอริยาบทที่ถูกต้อง ป้องกันการได้รับบาดเจ็บเพิ่ม ซึ่งประกอบด้วยการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่ให้ผลทางความร้อน/เย็น การบรรเทาอาการปวดด้วยกระแสไฟ การดึงหลัง รวมทั้งการได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวและการออกกำลังกายที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละคน โดยนักกายภาพบำบัดจะพิจารณาตามอาการของผู้ป่วย

3 ท่าง่าย ๆ สำหรับการออกกำลังกายในผู้ป่วยกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

  1. นอนตะแคงขวา นำแขนขวาไว้ใต้หมอน และแขนซ้ายยกตั้งฉาก โน้มมือกดตั้งตรงกดไว้ที่เตียงด้านหน้า งอเข่าขวา และยืดเหยียดขาซ้าย กระดกข้อเท้าแล้วยกขาซ้ายขึ้นประมาณ 45 องศา ทำค้างไว้ 5 วินาที และวางลงช้า ๆ ทำประมาณ 5 – 10 ครั้ง หรือตามที่ไหว แล้วสลับไปนอนตะแคงซ้าย ทำเช่นเดิม
  2. นอนหงายราบกับพื้น ใช้ลูกบอล หรือหมอนสามเหลี่ยมวางไว้ที่ปลายเท้าทั้งสองข้าง กระดกข้อเท้า เข่าตรง และยกสะโพกขึ้นเท่าที่ไม่ปวดหลัง หรือไม่มีอาการปวดร้าวลงขา ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำประมาณ 5 – 10 ครั้ง
  3. นอนหงายราบกับพื้น พร้อมกับชันเข่าตั้งขึ้น วางมือไว้ข้างลำตัว ยกสะโพกขึ้น ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำประมาณ 5 – 10 ครั้ง

โดยทั้ง 3 ท่านี้จะเป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกและต้นขา เพื่อช่วยประคองร่างกายเราขณะยืนเดิน เพื่อลดการลงน้ำหนักที่หลังเวลายืนเดิน สามารถทำได้ 3 เวลา คือ เช้า กลางวัน และเย็น เพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ

การเตรียมตัวก่อนเริ่มออกกำลังกาย

ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย และค่อย ๆ ผ่อนแรงหลังออกกำลังกายเสร็จ ไม่ควรเริ่มหรือหยุดออกกำลังกายกะทันหัน และควรออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อจะช่วยชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกบริเวณหลัง อีกทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและมีความยืดหยุ่น

ดูแลตัวเองเพื่อป้องไม่ให้กระดูกสันหลังทับเส้นประสาทมากยิ่งขึ้น

นอกจากการออกกำลังกายแล้ว ท่าทาง/อิริยาบถในชีวิตประจำวันก็มีส่วนสำคัญ ดังนั้นผู้ป่วยควรจัดของร่างกายให้เหมาะสม ช่วยลดแรงกดทับที่เส้นประสาท เช่น การยืดหลังให้ตรง โดยเฉพาะเมื่อต้องนั่งนาน ๆ หากต้องยกของหนัก ควรค่อย ๆ ย่อตัวลง โดยให้น้ำหนักลงที่ขาไม่ใช่ที่หลัง

เลี่ยงการนอนติดเตียง ซึ่งผู้ป่วยกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท จะส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง และควรควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำให้เกิดแรงกดทับที่กระดูกสันหลัง และเสี่ยงเป็นโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ในกรณีที่ป่วยสูบบุหรี่ร่วมด้วย หากเป็นไปได้ควรงดการสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้กระดูกสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมเร็วกว่าปกติ

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1603 และ 1602

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

    ชื่อ

    นามสกุล

    Email

    เบอร์โทร

    ข้อความ

    Start typing and press Enter to search