สิ่งที่คนไข้และญาติเป็นกังวลเสมอสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ข้อสะโพกเทียม

คือ กลัวว่าผ่าตัดแล้วจะเดินไม่ได้ สิ่งที่จะทำให้คนไข้คลายกังวลในประเด็นสำคัญนี้ได้ คือ การพูดคุยรับฟังข้อมูล คำแนะนำอย่างละเอียดจากแพทย์ผู้ผ่าตัด ร่วมกับความเชื่อมั่นที่คนไข้มีต่อแพทย์ ซึ่งทีมแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อของโรงพยาบาลพญาไท 3 นั้นต่างมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการผ่าตัดเป็นอย่างมาก คนไข้จึงมั่นใจในการผ่าตัด รวมทั้งส่วนประกอบที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจอีกส่วน คือ เรามีความพร้อมในการดูแลด้านกายภาพบำบัด ทั้งบุคลากรที่มีความสามารถและประสบการณ์เฉพาะทาง อีกทั้งเครื่องมือที่ครบครันในการดูแลอย่างเต็มศักยภาพ

ดูแลอย่างใกล้ชิดก่อน-หลังผ่าตัด

คุณนพเก้า สู่พิทักษ์ และคุณณัฏฐ์ชยธร พิมพ์สุธีสุขทา นักกายภาพบำบัด ได้เล่าถึงมุมมองและวิธีการทำงานของทีมนักกายภาพบำบัดที่ดูแลคนไข้ผ่าตัดข้อเข่าเทียม ข้อสะโพกเทียมแบบสหสาขา ภายใต้การรักษาของศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ว่า แต่ละวันเราไม่ใช่เพียงให้การดูแลฝึกฝนทำกายภาพบำบัดให้กับคนไข้แบบเฉพาะบุคคล หรือแบบกลุ่มเท่านั้น แต่เราให้ความสำคัญในทุกขั้นตอน จึงลงลึกในทุกรายละเอียดของคนไข้ในช่วงต่างๆ ได้แก่

  • ให้การดูแลแนะนำก่อนการผ่าตัด: ทีมนักกายภาพบำบัดจะพบกับคนไข้ก่อนการผ่าตัด เพื่อพิจารณาประเมินสมรรถภาพกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ว่าเป็นเช่นไร วางแผนเพื่อสอนการเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรง การฝึกการหายใจ ให้คำแนะนำเพื่อให้คนไข้ได้เรียนรู้วิธีการออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูหลังผ่าตัดที่ดีมากขึ้น ซึ่งแนวทางหลักในการดูแลคนไข้ของทีมกายภาพบัด เรามีมาตรฐานในการทำงานที่สำคัญ คือ ส่งเสริม, ป้องกัน, รักษา และช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กับคนไข้ทุกคน
  • ดูแลฟื้นฟูร่างกายภายหลังการผ่าตัด: นักกายภาพบำบัดจะเข้าพบกับคนไข้พร้อมกับแพทย์เป็นรายบุคคล เพื่อประเมินการฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัดว่าในแต่ละวันจะมีเป้าหมายอย่างไร โดยในระยะแรกหลังผ่าตัดเรามุ่งหวังให้คนไข้สามารถออกกำลังกายได้ สามารถฝึกยืน เดิน ด้วยการใช้วอร์คเกอร์ช่วยพยุง พร้อมกับให้คำแนะนำกับญาติในการช่วยดูแลทำกายภาพบำบัดให้กับคนไข้ โดยคนไข้จะเริ่มต้นฝึกทำกายภาพบำบัดเป็นรายบุคคลภายใน 24 ชม. หลังผ่าตัด เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาสมบูรณ์โดยเร็ว และสำหรับเป้าหมายในระยะยาว เราจะวางแผนดูแลร่างกายตามความต้องการของคนไข้เป็นหลัก เช่น คนไข้ต้องการกลับไปเป็นเล่นกีฬาที่ชื่นชอบ หรือต้องการกลับไปทำงานได้ดังเดิม
  • ใส่ใจแม้ออกจากรพ. : หลังจากที่คนไข้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน เรายังคงติดตามผลเป็นระยะโดยการโทรสอบถามความสามารถในการเดินและการทำกิจกรรมต่างๆ ว่าเป็นเช่นไร รวมถึงช่วงเวลาที่แพทย์นัดตรวจติดตามผลหลังผ่าตัด จะมีนักกายภาพร่วมตรวจดูลักษณะของข้อเข่าว่าเป็นเช่นไร จำเป็นต้องได้ทำกายภาพบำบัดเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าต้องทำกายภาพบำบัดแต่ไม่สะดวกมาที่รพ.พญาไท 3 เราก็พร้อมจะเขียนใบส่งตัวเพื่อให้คนไข้ได้รับการทำกายภาพบำบัดที่รพ.ใกล้บ้าน

ทั้งนี้ทีมกายภาพบำบัดยังมีการติดตามดูแลคนไข้ร่วมกับแพทย์ในการตรวจอาการคนไข้แต่ละวันอีกด้วย เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลด้านต่างๆ ของคนไข้อย่างละเอียดทั้งจากความเห็นของแพทย์ และทีมสหสาขา เพื่อประโยชน์ในการวางแผนดูแลคนไข้ที่ดียิ่งขึ้น

การสื่อสารคือหัวใจของทีม

การดูแลคนไข้แต่ละราย นอกจากทีมกายภาพบำบัดจะมีการส่งต่อข้อมูลคนไข้ภายในแผนกเพื่อให้ทุกคนที่รับผิดชอบสามารถรับทราบข้อมูลอย่างละเอียดร่วมกันแล้ว การประสานงานของทีมสหสาขาคือสิ่งสำคัญ เราจึงเน้นเรื่องการสื่อสารร่วมกันในทุกๆด้าน เช่นเดียวกับการให้ข้อมูลแก่ญาติถึงวิธีการทำกายภาพบำบัด วิธีดูแลคนไข้ที่เหมาะสม เราเน้นสื่อสารให้เข้าใจได้ง่าย และพร้อมจะให้คำแนะนำหากมีข้อสงสัย ดังนั้นในทุกกระบวนการของการทำงาน ทีมกายภาพบำบัดจึงเน้นเรื่องการสื่อสารเป็นสำคัญ เพราะเราเชื่อว่าถ้ามีการสื่อสารที่ดี การทำงานก็จะได้ผลดี และคนไข้ก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดูแลรักษาที่ดีของทีม

Start typing and press Enter to search