เมื่อมีบาดแผล หลายครั้งความน่ากลัวที่เกิดจากแผลไม่ใช่เพียงเพราะแผลมีขนาดใหญ่? มีเลือดออกหรือไม่? หรือมีเลือดออกเยอะแค่ไหน? เพราะจริงๆ แล้ว ในทุกกลไกลเมื่อเกิดแผลจนกว่าแผลจะหายสามารถสร้างปัญหาให้กับคุณได้เสมอ หากไม่ได้รับการดูแลที่ดี ฉะนั้นเพื่อให้คุณได้รู้จักคำว่าบาดแผลให้มากขึ้น เข้าใจว่าทำไมเราต้องใส่ใจเมื่อเกิดแผล และทำไมต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแล ไปเริ่มเรียนรู้พร้อมๆ กัน

บาดแผลคืออะไร

บาดแผล คือ เนื้อเยื่อของร่างกายคนเราเมื่อได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะจากของมีคม ถูกกระแทก ถูกความร้อนจัด เย็นจัด ซึ่งอาจเกิดได้จากจากอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัดรักษาโรค จนส่งผลให้เนื้อเยื้อเกิดเสียหาย หรือฉีกขาด

บาดแผลสามารถแยกออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ แผลเปิดและแผลปิด

  • แผลเปิด คือ บาดแผลที่มีการเปิดของผิวหนัง เช่น แผลถลอก แผลถูกของมีคมบาด แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก แผลโดนทิ่มแทง อย่างตะปู มีด หรือเสียนไม้ เป็นต้น
  • แผลปิด คือ บาดแผลที่ไม่มีรอยแยกของผิวหนัง เป็นบาดแผลที่มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อภายใต้ผิวหนัง เช่น แผลฟกช้ำ ห้อเลือด จากการหกล้ม การชนกระแทกกับสิ่งของ เป็นต้น

กลไกลการเกิดแผลเปิดจนถึงช่วงที่แผลหาย

โดยปกติของคนเรา เมื่อเกิดบาดแผล ร่างกายจะมีกลไกการซ่อมแซมตัวเองตามธรรมชาติ (Phase of wound healing) ซึ่งเมื่อเราพิจารณาออกเป็นขั้นตอนได้ ดังนี้

บาดแผลคืออะไร

1. เมื่อเลือดออกต้องทำการหยุดเลือด โดยปกติตามธรรมชาติร่างกายจะทำการหยุดเลือดได้เอง หรือถ้าวิธีที่หยุดเลือดได้ด้วยตัวเอง คือการกดหยุดเลือด แต่ถ้าเลือดออกมากกดไม่หยุด บาดแผลนั้นอาจโดนเส้นเลือดจึงต้องเย็บบาดแผล หรืออาจต้องถึงขั้นต่อเส้นเลือดถ้าเส้นเลือดฉีกขาด
2. กระบวนการอักเสบ ขั้นตอนนี้เป็นช่วงที่ร่างกายซ่อมแซมตัวเองเพื่อเพิ่มเซลล์มายังบาดแผลและทำลายเชื้อโรค เราจะสังเกตได้ว่าแผลจะมีการบวมแดง นั่นคือการอักเสบ ซึ่งโดยส่วนใหญ่พบว่าแผลที่ไม่หาย ติดเชื้อ มีเนื้อเยื้อเสียหาย มักพบว่ากลไกลของการรักษาตัวเองของร่างกายจะหยุดอยู่ที่ขั้นตอนนี้และไม่สามารถข้ามไปในกระบวนการต่อไปได้
3. การสร้างเนื้อเยื้อ เป็นกระบวนการที่ร่างกายสร้างสิ่งต่างๆ บริเวณแผลขึ้นใหม่ หลังจากที่เสียหายจากบาดแผล เช่น เนื้อเยื้อ เส้นเลือด คอลลาเจน ในขั้นตอนนี้การดูแลของแพทย์นั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะต้องควบคุมสภาพแวดล้อมโดยรวมของบาดแผลให้เหมาะสม ทั้งความชื้น ความสะอาด และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล

การรักษาสมดุลของบาดแผล นับเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเองในกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อได้ แต่ในทางกลับกันหากบาดแผลชื้นแฉะเกินไป หรือแห้งมาก นั่นหมายถึงสภาพแวดล้อมของแผลย่อมไม่เหมาะสม กระบวนการสร้างเนื้อเยื้อจึงไม่เกิดขึ้น

4. การปรับเรียงตัวของคอลลาเจนและการเกิดแผลเป็น ขั้นตอนนี้เป็นกลไกลสุดท้ายของกระบวนการหายของแผลที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งการหายเองนั้น บางกรณีอาจส่งผลกับการใช้ชีวิตได้ เช่น แผลไฟไหม้เมื่อหายจะเกิดเป็นแผลเป็นหูดรั้งตึง ยิ่งถ้าเป็นตามข้อพับก็สามารถส่งผลให้ไม่สามารถงอข้อนั้นได้

แต่ถ้าอยู่ในการดูแลของแพทย์ จะมีการวางแผนเพื่อจัดการกับรอยแผลที่จะเกิดขึ้นของแผลต่าง ๆ จนกระทั่งกลายเป็นแผลเป็นน้อยที่สุด หายไวที่สุดและส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ ของคนไข้น้อยที่สุด

เมื่อเกิดบาดแผล ถึงแม้เราจะทราบว่าร่างกายสามารถซ่อมแซมได้เองตามธรรมชาติ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะละเลยการดูแล หรือลดความการตระหนักถึงความสำคัญในการเข้ารับการรักษาได้ เพราะบาดแผลที่ดูไม่น่าจะมีอะไร เมื่อไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง อาจส่งผลให้แผลนั้นไม่หายเกิดเป็นแผลเรื้อรัง เกิดการติดเชื้อลุกลามกว้างขึ้น ลึกขึ้น และนำไปสู่อันตรายที่น่ากลัวจนส่งผลให้เกิดการสูญเสียอวัยวะหรืออาจขั้นชีวิตได้เลยทีเดียว กลับกัน หากบาดแผลได้รับการดูแลที่ดีแต่แรก แผลใดๆ นั้นก็จะหายไว ไม่ลุกลาม แผลเป็นน้อย / ไม่เกิดเลย ด้วยเทคโนโลยีที่สะดวกต่อไลฟ์สไตล์ของคุณและดีต่อบาดแผล ฉะนั้น ขอให้คุณใส่ใจในทุกรายละเอียดของสุขภาพอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีจะอยู่คู่กับคุณในทุกๆ วัน

พญ.เบญจพร นันทสันติ ศัลยแพทย์ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงโรงพยาบาลพญาไท3

พญ.เบญจพร นันทสันติ
ศัลยแพทย์ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงโรงพยาบาลพญาไท3
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์การดูแลบาดแผลขั้นสูงโรงพยาบาลพญาไท 3
โทร. 02-467-1111 ต่อ 3100

Start typing and press Enter to search