นอกจากมะเร็งเต้านมแล้ว “เนื้องอกมดลูก” คือหนึ่งในโรคร้ายที่เป็นภัยเงียบ สำหรับคุณผู้หญิง โดยสถิติพบว่าประมาณร้อยละ 20-25 ของผู้หญิงวัยทำงานทุกคนมีโอกาสเป็นโรคเนื้องอกมดลูก และในทุกๆ 1,000 คนของผู้หญิงที่เป็นเนื้องอกมดลูกนั้น มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ 1 คน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เราควรที่จะทำความรู้จักกับโรคเนื้องอกมดลูกเอาไว้ เพื่อหมั่นสังเกตและป้องกันให้ตัวเองปลอดภัยและห่างไกลจากภัยเงียบสำหรับผู้หญิงนี้ให้ได้มากที่สุด

เนื้องอกมดลูกคืออะไร

เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids) คือเนื้องอกที่เกิดขึ้นในตัวมดลูก อาจพบเนื้องอกในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของตัวมดลูก ขนาดอาจจะแตกต่างกันไป หรือบ้างก็พบเนื้องอกมดลูกก้อนเดียว บ้างก็พบเนื้องอกมดลูกหลายก้อน จะเป็นแบบไหนและมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเนื้องอกในแต่ละบุคคล โดยผู้หญิงช่วงอายุ 30-45 ปี เป็นวัยที่มีความเสี่ยงเกิดเนื้องอกมดลูกได้มากกว่าช่วงอื่นๆ

สัญญาณเตือนอะไร ที่บอกว่าอาการแบบนี้ควรไปพบแพทย์

อาการของเนื้องอกมดลูกแตกต่างไปแต่ละบุคคล บางคนก็เริ่มมีอาการตั้งแต่ก้อนเนื้อเล็กๆ แต่บางคนไม่รู้ตัวเลย กว่าจะรู้ เริ่มมีอาการ อาจจะมีก้อนเนื้อที่ค่อนข้างใหญ่แล้ว อาการที่เราสามารถสังเกตเองได้ว่ามีความเสี่ยงของเนื้องอกมดลูกหรือไม่ มีดังนี้

  1. ท้องผูกเรื้อรัง เนื่องจากเนื้องอกมดลูกไปกดเบียดบริเวณทวารหนัก
  2. ปวดท้องน้อย เป็นระยะ ปวดมากบ้างน้อยบ้าง
  3. มีเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด
  4. เนื้องอกมดลูกมีขนาดโตและกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย
  5. ท้องโต แน่นท้อง ท้องบวม คล้ายคนท้อง

“ เนื้องอกมดลูกมีผลต่อการตั้งครรภ์โดยตรง การตรวจภายใน และปรึกษาคุณหมอก่อนวางแผนตั้งครรภ์ช่วยลดความเสี่ยงได้ ”

สาเหตุปัจจัยอะไร ที่ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงภัยเนื้องอกมดลูก

สาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก ก็เหมือนกับสาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกประเภทอื่นๆ นั่นคือ ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร มีการตั้งข้อสังเกตว่าฮอร์โมนเพศหญิง ทั้งเอสโตรเจนและโพรเจสเทอโรน ที่กระตุ้นการเจริญของเยื่อบุมดลูกระหว่างการมีประจำเดือนในทุก ๆ เดือน อาจส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกขึ้นได้

การรับประทานอาหารบางประเภทที่เป็นการเสริมฮอร์โมนเพศหญิงเช่น  น้ำมะพร้าว ลูกพรุน เมล็ดแฟลกซ์งา ถั่วชนิดต่าง ๆ เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ ข้าวสาลี ถ้าทานมากเกินไป ก็ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกายได้

เนื้องอกมดลูกอันตรายแค่ไหน?

เนื้องอกที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อดีไม่ใช่เนื้อร้าย และมีโอกาสน้อยมากที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ อันตรายของเนื้องอกมดลูกคือ การที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่แล้วไปมีผลต่อการทำงานของอวัยวะส่วนอื่นอาจทำให้มีประจำเดือนมามาก รวมทั้งอาการปวดท้องรุนแรงในผู้ป่วยบางราย ถึงแม้โดยทั่วไปเนื้องอกมดลูกจะไม่ได้เป็นอันตรายมากนัก แต่ก็ควรทำการตรวจภายในเป็นประจำ ในการตรวจสุขภาพประจำปี ปัจจุบันทางการแพทย์มีเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยและเฝ้าติดตามดูแลขนาดของก้อนเนื้องอกได้อย่างแม่นยำถูกต้อง ทำให้สามารถตรวจพบและรักษาได้ทันที

การรักษาเนื้องอกมดลูกด้วยการผ่าดัดแบบแผลเล็ก

ลักษณะของเนื้องอกมดลูกนั้นมีหลายแบบ ทั้งในส่วนขนาดของเนื้องอก และตำแหน่งของเนื้องอก มีผลต่อการวินิจฉัยเลือกวิธีรักษา หากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องมาก อาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้องอกออก

การผ่าตัดในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า การผ่าตัดแบบแผลเล็ก หรือ Minimally Invasive Surgery (MIS) เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้อง ด้วยการเจาะผิวหนังบริเวณที่จะทำการรักษาให้เป็นรูขนาดเล็กๆ จากนั้นจึงทำการใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดลงไปเพื่อทำการผ่าตัดรักษา ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งภายในร่างกายที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจนมากขึ้น

การผ่าตัดผ่านกล้องเล็กๆ ที่ส่องผ่านทางช่องคลอดเพื่อเข้าไปดูในโพรงมดลูก และสามารถสอดลวดไฟฟ้าเข้าไปตัดเนื้องอกมดลูกออกมาได้โดยไม่มีแผลผ่าตัดเลย เมื่อผู้ป่วยตื่นขึ้นมาหลังผ่าตัดเสร็จจะไม่ปวดแผล อาจมีอาการเพียงรู้สึกหน่วงๆ คล้ายขณะมีประจำเดือนเท่านั้น จึงทำให้ผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดในตอนเช้า สามารถกลับบ้านได้ในช่วงบ่ายหรือเย็นได้เลย

ข้อดีของการผ่าตัดแบบแผลเล็ก

  • การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ทำให้พบก่อโรคได้แม่นยำ
  • ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดแบบปกติ
  • เสียเลือดน้อย เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว กลับบ้านได้เร็ว
  • ลดค่าเสียโอกาสเนื่องจากหยุดทำงานลง
  • เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ได้ไวขึ้น

ข้อควรทราบผู้ป่วยที่ผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว มีโอกาสที่เนื้องอกจะกลับมาโตอีกและผู้ป่วยที่ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกยังสามารถมีบุตรได้แต่ต้องปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด

ข้อควรปฏิบัติภายหลังการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

การผ่าตัดแผลเล็กมีข้อดีคือแผลเล็ก เจ็บตัวน้อยกว่า เสียเลือดน้อยกว่า ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลาในการฟื้นตัวน้อย และยังช่วยลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนจากการดูแลแผลได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติภายหลังการรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีข้อแนะนำสำหรับการปฏิบัติภายหนังการผ่าตัดดังนี้

  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
  • และอย่าลืมพบแพทย์ตามนัด
  • งดเพศสัมพันธ์ไว้จนกว่าแผลจะหายดี
  • หากมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดท้อง ควรมาพบแพทย์ทันที
นพ.ชาญชัย เลาหประสิทธิพร

นพ.ชาญชัย เลาหประสิทธิพร

แพทย์หัวหน้าศูนย์สุขภาพหญิง
โรงพยาบาลพญาไท 3

Start typing and press Enter to search