“กระดูกสันหลังหักยุบ” ฟังดูแล้วอาจเป็นโรคที่มีโอกาสน้อยเหลือเกินที่จะเกิดขึ้นได้ หากว่าเราไม่ได้ประสบอุบัติเหตุอะไรรุนแรงที่กระทบกระเทือนหลังจนทำให้เกิดการหักหรือยุบของกระดูกสันหลังได้ แต่หารู้หรือไม่ว่า สำหรับผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายนั้น มีโอกาสเกิดโรคกระดูกสันหลังหักยุบนี้ได้ง่ายกว่าที่ทุกคนคาดคิด และโดยมากอาการแสดงที่สังเกตได้ก็มีเพียงแค่อาการปวดหลังธรรมดาๆ ทั่วไปเท่านั้น จึงทำให้บางทีกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าตนเองไม่ได้แค่ปวดหลังธรรมดาๆ แต่การอาการปวดหลังจากกระดูกสันหลับยุบ ก็อาจกินเวลาจนทำให้อาการหนักมากขึ้น ดังนั้นวันนี้ เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกับ “โรคกระดูกสันหลังหักยุบให้มากขึ้นกว่านี้กัน เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาตัวเองหรือญาติผู้ใหญ่ คนรอบข้างได้ทันท่วงทีงได้ทันท่วงที

ทำความรู้จัก โรคกระดูกสันหลังหักยุบ

หากไม่นับการหัก หรือ ยุบ ของกระดูกสันหลัง ที่เกิดจากอุบัติเหตุรุนแรงแล้ว โรคกระดูกสันหลังหักยุบนั้น จะเกิดขึ้นได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องด้วยสาเหตุเพราะเมื่ออายุมากขึ้นสภาพกระดูกของคนเราก็จะเสื่อมไปตามวัย ยิ่งกับผู้สูงอายุที่มีภาวะของโรคกระดูกพรุนด้วยแล้วก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงที่กระดูกสันหลังจะหักยุบได้ง่ายมากขึ้น โดยบางทีเพียงแค่การสะดุดล้มธรรมดาๆ ที่ผิดจังหวะ หรือการนั่งรถแล้วได้รับแรงกระแทกเวลาขึ้นลูกระนาดบนถนน ก็อาจทำให้กระดูกสันหลังหักยุบได้แล้ว

ยิ่งสูงวัย ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะการหกล้มเล็กน้อยเพียงครั้ง
อาจพลาดพลั้งอันตรายถึงขั้นกระดูกสันหลังหักยุบ

สังเกตอาการอย่างไร ถึงรู้ว่ากำลังเสี่ยงภัยโรคกระดูกสันหลังหักยุบ

อาการสำคัญของโรคกระดูกสันหลังหักยุบที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนเลยคือ “อาการปวด” ซึ่งอาการปวดจะมากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการหักหรือยุบของกระดูกสันหลัง ทั้งนี้ ข้อสังเกตของการจำแนกอาการปวดหลังธรรมดา กับอาการปวดหลังจากภาวะกระดูกสันหลังหักยุบ มีดังนี้

  • มีอาการปวดบริเวณกลางหลังตรงตำแหน่งที่เกิดการหักหรือยุบของกระดูกสันหลัง
  • มีอาการปวดแบบเฉียบพลันและปวดแบบรุนแรง
  • ความเจ็บปวดจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตอนขยับตัว นั่ง นอน หรือเดิน
  • อาจจะมีอาการชา และแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย
  • ในบางรายที่การหักยุบของกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท
    ผู้ป่วยอาจไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระได้

กระดูกสันหลังหักยุบรักษาได้ ด้วยการฉีดซีเมนต์โดยใช้ Balloon

โดยทั่วไปแล้ววิธีการรักษาโรคกระดูกสันหลังหักยุบนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยได้รับ ซึ่งแพทย์ก็จะทำการวินิจฉัยด้วยการ X-Ray หรือทำ MRI การตรวจด้วยขึ้นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยหากพบว่าผู้ป่วยไม่ได้มีอาการหนักมาก คือไม่มีภาวะของกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ไม่ได้หักอย่างรุนแรง สามารถทำการรักษาได้โดยการให้รับประทานยาหรือฉีดยาแก้ปวด เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ กระดูสันหลังที่แตกจะสามารถเชื่อมติดต่อกันจนเป็นปกติเหมือนเดิมได้ภายในเวลา 2-3 เดือน แต่หากรับประทานแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ก็จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์โดยใช้ Balloon เพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูกสันหลัง และบรรเทาอาการปวดให้หายขาด

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ปรึกษาหมอ

ขั้นตอนการรักษาโรคกระดูกสันหลังหักยุบ ด้วยการฉีดซีเมนต์ โดยใช้ Balloon

  • เข้ารับการทำ MRI เพื่อตรวจหาตำแหน่งของกระดูกสันหลังที่หักยุบ
  • ผู้ป่วยได้รับการดมยาสลบโดยวิสัญญีแพทย์
  • ผู้ป่วยนอนคว่ำบนเตียงผ่าตัด
  • แพทย์ใช้เทคนิคผ่าตัดแผลเล็ก แล้วสอดเครื่องมือ Balloon เข้าไปยกกระดูกที่ยุบขึ้นมา
  • แพทย์ทำการฉีดซีเมนต์ให้กระจายไปทั่วปล้องกระดูกสันหลัง เพื่อเสริมความแข็งแรงในบริเวณที่กระดูกแตกหัก
  • แพทย์ทำการปิดปากแผล และให้ผู้ป่วยนอนหงายประมาณ 1-3 ชั่วโมงเพื่อให้ซีเมนต์แข็งตัว

การรักษาโรคกระดูกสันหลังหักยุบ ด้วยการฉีดซีเมนต์โดยใช้ Balloon มีชื่อทางการแพทย์ว่า การทำ “Balloon Kyphoplasty” ถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยมีข้อดีคือ ช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้นของผู้ป่วย โดยเพียงแค่คืนเดียวผู้ป่วยก็สามารถลุก นั่ง ยืน เดินได้ และยังเป็นวิธีการรักษาที่ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยที่มีภาวะโรคกระดูกพรุนด้วย

โรคกระดูกสันหลังหักยุบในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะสภาพของกระดูกที่เสื่อมไปตามวัย และถูกภาวะกระดูกพรุนคุกคาม ดังนั้น การดูแลตัวเองให้ดี ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ และการใช้ชีวิตด้วยพฤติกรรมที่เหมาะสม จึงถือเป็นแนวทางการป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุด ซึ่งทั้งตัวผู้ป่วยและคนรอบข้างควรให้ความสำคัญและไม่ควรมองข้าม ตลอดรวมไปจนถึงการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพื่อให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ

นพ.ธีรชัย ผาณิตพงศ์

นพ.ธีรชัย ผาณิตพงศ์

ศัลยแพทย์ศูนย์สมองและกระดูกสันหลัง
โรงพยาบาลพญาไท 3

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

    ชื่อ

    นามสกุล

    Email

    เบอร์โทร

    ข้อความ

    Start typing and press Enter to search