ถ้าจะพูดถึงโรคเฉพาะทางสำหรับคุณผู้ชายแล้ว “ต่อมลูกหมาก” ถือเป็นอวัยวะเกิดเหตุที่พบอาการป่วยของโรคเฉพาะทางคุณชายได้มากที่สุด โดยมีอยู่ด้วยกันหลายโรคที่อาจเป็นได้ อาทิ มะเร็งต่อมลูกหมาก ที่จัดว่าเป็นมะเร็งร้ายอันดับหนึ่งในผู้ชาย โรคต่อมลูกหมากอักเสบ ที่แม้จะพบไม่บ่อยมากนัก แต่ถ้าเป็นขึ้นมาแล้ว ก็นับว่าจะมีส่วนสำคัญทำให้ความสุขในบั้นปลายชีวิตเราหายไปเยอะเลยทีเดียว และกับโรคที่พบได้บ่อยมากที่สุดอย่างโรคต่อมลูกหมากโต ก็ถือเป็นโรคที่คุณผู้ชายทุกคนควรทำความรู้จักไว้ เพราะกว่า 80% ของผู้ชายสูงวัย ล้วนไม่ค่อยมีใครหนีพ้นจากโรคนี้ได้เลย

โรคต่อมลูกหมากโตเป็นอย่างไร ทำความรู้จักไว้เพื่อเตรียมตัวป้องกัน

โรคต่อมลูกหมากโต หรือ ชื่อในทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ เรียกว่า “Benign Prostatic Hyperplasia” คือโรคที่เป็นภาวะการโตของต่อมลูกหมาก ซึ่งปกติแล้วต่อมลูกหมากของชายเราโดยทั่วไปจะมีขนาดเท่ากับผลวอลนัท แต่สำหรับในคุณผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโตนั้น ก็จะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นมากกว่า จนทำให้ไปกดทับท่อปัสสาวะ ส่งผลให้ใครก็ตามที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต มีอาการปัสสาวะติดขัด โดยทั่วไปโรคต่อมลูกหมากโตจะเกิดขึ้นกับชายสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นเป็น และถือได้ว่าเป็นโรคปกติที่พบได้ทั่วไปในผู้ชายสูงอายุทุกคน

เพราะสาเหตุใด ชายสูงวัยถึงเป็นโรคต่อมลูกหมากโตกันมาก

ในทางการแพทย์แล้วนอกจากความสัมพันธ์ของอายุ ก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างงชัดเจน 100% ว่าโรคต่อมลูกหมากโตนั้นมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ แต่คาดการณ์กันว่าเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศชายที่ผิดปกติไปตามอายุที่ร่วงโรย จึงทำให้ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีวิธีป้องกันที่การันตีการเกิดโรคนี้ได้ คุณผู้ชายทุกคนทำได้ดีที่สุดคือการเฝ้าระวัง หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะโรคต่อมลูกหมากโตนั้นบางรายอาจไม่มีอาการรุนแรง และสามารถรักษาหายได้ด้วยการรับประทานยา แต่หากปล่อยทิ้งไว้ และยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็อาจส่งผลรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ปรึกษาหมอ

สังเกตอาการอย่างไร ถึงรู้ว่ากำลังเสี่ยงภัยโรคต่อมลูกหมากโต

อาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของโรคต่อมลูกหมากโตส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ “การปัสสาวะ” ซึ่งสามารถสังเกตอาการผิดปกติจากการปัสสาวะได้ ดังนี้

  • ปัสสาวะนาน ปัสสาวะขัด ลำของปัสสาวะอ่อนแรง หรือปัสสาวะเป็นหยดๆ
  • ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • ตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • รู้สึกเจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ
  • บางรายที่อาการรุนแรงอาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ

รักษาอย่างไร เมื่อวินิจฉัยแล้วพบว่าต่อมลูกหมากโต

ในเบื้องต้นก่อนจะทำการรักษาแพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยการวินิจฉัยจะเริ่มต้นตั้งแต่การซักประวัติ สอบถามอาการ ไปจนถึงการตรวจต่อมลูกหมาก และทำการทดสอบอัตราการไหลของปัสสาวะ จากนั้นจึงเลือกทำการรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปตามความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยประสบ โดยวิธีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตนั้น สามารถทำได้ ดังต่อไปนี้

  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง แพทย์อาจพิจารณาไม่ทำการรักษา แต่คอยเฝ้าสังเกตอาการและติดตามอาการเป็นระยะ
  • ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการให้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมาก เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว ท่อปัสสาวะกว้างขึ้น และปัสสาวะได้สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องเบ่ง
  • ในบางรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยพลังงานความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟจำนวนเล็กน้อย เพื่อลดอาการโตของต่อมลูกหมากร่วมด้วย
  • ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต่อมลูกมากมีขนาดโตขึ้นมาก แพทย์จะพิจารณาด้วยวิธีการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่เกินออก ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดส่องกล้องทางท่อปัสสาวะ (ไม่มีแผล) โดยใช้เครื่องมือผ่าตัดผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากส่วนเกินที่กดทับท่อปัสสาวะออก เป็นวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย ฟื้นตัวไว หายไว และกลับบ้านได้เร็วกว่าปกติ

รู้ไว้ไม่เสียหลาย จะได้หายห่วง!!

โรคต่อมลูกหมากโตถือได้ว่าเป็นโรคปกติทั่วไปที่พบได้ในชายไทยสูงวัยทุกคน ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายแรง เพราะสามารถรักษาให้หายขาดได้หลายวิธี และสำหรับใครที่มีความกังวลว่า โรคต่อมลูกหมากโตจะนำไปสู่การเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้นั้น ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ที่แน่ชัดว่าโรคต่อมลูกหมากโตจะนำไปสู่การเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองเวลาปัสสาวะ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่หากพบว่าตัวเองมีอาการขัดลำกล้อง ปัสสาวะเบา อ่อนแรง ปัสสาวะไม่ค่อยออก ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยๆ หรือมีอาการเจ็บปวดขณะปัสสาวะ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที ก่อนที่โรคจะลุกลามทวีความรุนแรง

ศูนย์ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะและโรคนิ่ว

Start typing and press Enter to search