ขูดมดลูก การนำเนื้อเยื่อภายในมดลูก เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาความผิดปกติที่เกิดจากมดลูก เช่น การมีเลือดออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ ผู้ที่มีภาวะแท้งบุตร โดยบางครั้งต้องนำชิ้นส่วนรกที่ตกค้างภายในมดลูกออก เพื่อทำความสะอาด และป้องกันการตกเลือดหรือการติดเชื้อที่อาจเป็นอันตราย

ภาวะที่ควรได้รับการตรวจหรือรักษาด้วยการขูดมดลูก

– มีภาวะเลือดออกจากโพรงมดลูกผิดปกติหรือมีภาวะเลือดออกหลังจากเข้าวัยหมดประจำเดือน
– สงสัยว่ามีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ
– การแท้งบุตรไม่ครบ หรือภาวะแทรกซ้อนหลังการแท้งบุตร
*สำหรับการแท้งบุตรปัจจุบันมีการขูดมดลูกด้วยวิธีใช้เครื่องดูดสุญญากาศ ที่เรียกว่า MVA (Manual vacuum aspirator ) ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยและลดการแทรกซ้อน เช่นมดลูกทะลุจากการการขูดมดลูก
– การตกเลือดหลังคลอด (Postpartum Hemorrhage)

การเตรียมตัวก่อนการขูดมดลูก

– หากผู้ป่วยสงสัยว่าอาจตั้งครรภ์ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ
– แจ้งแพทย์ให้ทราบหากผู้ป่วยรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด มีความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด หรือมีประวัติการแพ้ต่าง ๆ
– ผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดก่อนขูดมดลูก เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด หรือตรวจการแข็งตัวของเลือด
– งดน้ำ และอาหารประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง ก่อนการขูดมดลูก

ขั้นตอนการรักษา

แพทย์จะสอดเครื่องมือถ่างช่องคลอดแบบปากเป็ด เพื่อเปิดผนังช่องคลอดและเข้าถึงปากมดลูก
และสอดเครื่องมือขูดเนื้อเยื่อ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับช้อน และทำการขูดเนื้อเยื่อรอบๆ ผนังมดลูกออก
ส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวิเคราะห์ต่อไป

ขั้นตอนหลังการขูดมดลูก

– ผู้ป่วยจะพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง
– อาจเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนจากฤทธิ์ของยาสลบ หรือยาชา ได้
– ควรพักผ่อนหลังการรักษา 1-2 วัน ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ในระยะแรกไม่ควรยกของหนัก และไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด สวนล้างอวัยวะเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์
– ระยะ 1 สัปดาห์แรกไม่ควร แช่น้ำในอ่างอาบน้ำ แม่น้ำลำคลอง หรือสระว่ายน้ำ
– การขูดมดลูกอาจทำให้รอบประจำเดือนเปลี่ยนแปลง หรือเกิดปวดบิดที่ท้องน้อยได้
– ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ

หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์

  • มีไข้
  • มีการเจ็บปวดที่ท้องน้อยเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องเกิน 48 ชั่วโมง
  • มีเลือดไหลมากจนอาจต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
  • มีของเหลวกลิ่นเหม็นไหลออกจากช่องคลอด

– การติดเชื้อหรือมีเลือดออกจากช่องคลอด บางกรณี การขูดมดลูกอาจยังมีเนื้อเยื่อบางส่วนตกค้างอยู่ ซึ่งร่างกายสามารถขับออกมาเองได้โดยไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่หากเกิดการติดเชื้อหรือมีเลือดออกจากช่องคลอดมากขึ้น อาจต้องเข้ารับการขูดมดลูกซ้ำ

ข้อมูลโดย ศูนย์สุขภาพหญิงรพ.พญาไท 3

Start typing and press Enter to search