มดลูกถือเป็นอวัยวะสำคัญของคุณผู้หญิงทุกคน และในขณะเดียวกันก็เป็นจุดกำเนิดเสี่ยงที่อาจทำให้ต้องป่วยเป็นโรคอันตราย
ได้อย่างมากมาย ในแต่ละปี มีผู้หญิงป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับมดลูกจำนวนมาก และก็มีจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคของมดลูก ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการทำความรู้จักมดลูก จึงมีส่วนช่วยให้เราดูแลและป้องกันด้วยเองจากโรคร้ายได้เป็นอย่างดี
มดลูกคืออะไร ทำความรู้จักไว้เพื่อดูแลใส่ใจได้ดีขึ้น
มดลูก (Uterus) มีรูปร่างคล้ายผลชมพู่ หรือรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมหัวกลับลง กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร หนาประมาณ 2 เซนติเมตร อยู่ในบริเวณอุ้งกระดูกเชิงกราน ระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับทวารหนัก ภายในเป็นโพรง ทำหน้าที่เป็นที่ฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว และเป็นที่เจริญเติบโตของทารกในครรภ์ มดลูกไม่ใช่อวัยวะที่ใช้ขับเลือดเสียของผู้หญิงอย่างที่หลายคนเข้าใจ การตัดมดลูก (Hysterectomy) ด้วยความจำเป็น เพื่อการรักษา อาจตัดมดลูกออกทั้งหมดหรือตัดออกเฉพาะบางส่วน
เหตุผลอะไรทำให้ต้องผ่าตัดมดลูก
ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูก มีหลายสาเหตุ โดยที่พบบ่อย เช่น
- เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids)
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
- ตรวจพบมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งที่เกี่ยวกับมดลูก
- มดลูกหย่อน (Uterine Prolapse)
- เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
- มีอาการปวดเรื้อรัง
มะเร็งมดลูกตัวร้าย ภัยเงียบอันตรายที่ต้องระวัง
ในช่วงแรกนั้นอาการของมะเร็งมดลูก มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ ประจำเดือนผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนที่มีประจำเดือนผิดปกติจะมีโอกาสเป็นมะเร็งมดลูก สิ่งสำคัญที่สุดคือการรู้จักสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเอง และที่ไม่ควรละเลยคือ หากมีประจำเดือนผิดปกติควรพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย
3 รูปแบบการผ่าตัดมดลูก
- Total hysterectomy : เป็นการผ่าตัดนำมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด
- Partial hysterectomy: เป็นการผ่าตัดที่ทำมดลูกส่วนบนออก
แต่เหลือปากมดลูกไว้ อาจมีการตัดรังไข่ด้วยในบางกรณี - Radical hysterectomy : เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยจะมีการตัดเนื้อเยื่อรอบปากมดลูกและช่องคลอดส่วนบนออกด้วย อาจมีการตัดท่อนำไข่หรือรังไข่หรือไม่ก็ได้
การผ่าตัดมดลูกด้วยวิธี การผ่าตัดแผลเล็ก
“การผ่าตัดแผลเล็ก” หรือ “Minimally Invasive Surgery (MIS)” คือ เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้อง ด้วยการเจาะผิวหนังบริเวณที่จะทำการรักษาให้เป็นรูขนาดเล็กๆ จากนั้นจึงทำการใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดลงไปเพื่อทำการผ่าตัดรักษา ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งภายในร่างกายที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจนมากขึ้น และยัง เป็นการผ่าตัดที่เจ็บตัวน้อย มีความเสี่ยงในการติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนข้างเคียงได้น้อย ใช้เวลาในการฟื้นตัวน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยหายเร็วและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ไวขึ้น
เมื่อผ่าตัดมดลูกทิ้งไป ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรบ้าง?
ก่อนที่จะตัดสินใจรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเอามดลูกออก จะต้องปรึกษากับแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ และควรต้องทราบถึงหน้าที่หลักของมดลูกที่มีความสำคัญคือ
- การมีประจำเดือน
ที่เกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุมดลูก ภายหลังที่ไม่มีไข่มาฝั่งตัว ซึ่งจะมีการฉีกขาดของเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลออก หรือที่เรียกทั่วไปว่า การเป็นประจำเดือน - การตั้งครรภ์
เป็นที่ฝังของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว และพัฒนาเป็นตัวอ่อนจนกระทั้งเจริญเติบโตเป็นทารก - การคลอด
ขณะคลอดผนังมดลูกจะมีการหดตัวเป็นระยะๆ เพื่อให้ทารกคลื่นออกผ่านมาถึงช่องคลอด
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดมดลูก
การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไปในผู้ที่ยังไม่หมดประจำเดือน จะส่งผลให้ผู้ป่วยหมดประจำเดือนทันทีและขาดฮอร์โมนเพศหญิงร่วมด้วยหลังจากนั้นคุณอาจมีอาการ ดังต่อไปนี้
- หมดประจำเดือน
- อาการวัยทองเนื่องจากหมดประจำเดือน
- อารมณ์ทางเพศลดลง
- มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน โรคหัวใจ และกลั้นปัสสาวะไม่ได้
- อาจพบอาการซึมเศร้าหรือเสียใจจากการไม่สามารถมีบุตรหลังการผ่าตัดได้
ทำอย่างไรเมื่อขาดฮอร์โมนเพศหญิง
ถ้าอยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว และมีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นที่มดลูกหรือรังไข่ก็ตาม แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดออกทั้งหมด เนื่องจากว่าคุณผู้หญิงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากทั้ง 2 อวัยวะนี้อีกแล้ว
แต่ถ้ายังอยู่ในวัยที่ยังมีการตกไข่อยู่ การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออก จะมีผลต่อระบบฮอร์โมนเพศหญิง โดยปกติแล้วเมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิงไปก่อนวัยอันควร แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาจะพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อการรักษาต่อไป
ส่วนการตัดมดลูกออกอย่างเดียวในผู้หญิงที่รังไข่ยังผลิตฮอร์โมนได้ จะมีผลเพียงไม่มีประจำเดือน แต่รังไข่ยังสร้างฮอร์โมนอยู่ ทำให้ยังไม่มีอาการวัยทองหรืออาการอื่นๆดังที่กล่าวมา
นพ. ชาญชัย เลาหประสิทธิพร
ความชำนาญ
สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา