หลังผ่าตัดกระดูกสันหลังจากปัญหาเส้นประสาทไขสันหลังถูกกดทับหรือการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง โดยทั่วไปผู้ป่วยจะสามารถลุกขึ้นยืน และสามารถเริ่มฝึกเดินเองได้ในช่วงวันที่ 2 – 3 ภายหลังการผ่าตัด แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแผลอยู่บ้าง ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยา
ผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังเพียงระดับเดียวจะฟื้นฟูสภาพได้เร็ว แต่ในรายที่มีการผ่าตัดหลายระดับหรือเสริมโลหะดามกระดูกสันหลัง อาจจะต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟูสภาพร่างกายนานขึ้น
การฟื้นฟูระยะแรกหลังผ่าตัดกระดูกสันหลัง
หลังผ่าตัดหากผู้ป่วยมีภาวะแขน – ขาอ่อนแรง (Neurological Deficit) แพทย์จะพิจารณาส่งทำกายภาพบำบัดหรือกิจกรรมบำบัดก่อนให้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะเฉียบพลัน คือ ในช่วง 3 วัน หลังการผ่าตัด จะมีการจัดท่านอน สอนผู้ป่วยพลิกตะแคงตัวให้ถูกวิธี และบางรายอาจมีการสอนการใส่อุปกรณ์พยุงสันหลัง
- ระยะฟื้นฟูสภาพ คือ ในช่วง 4 – 7 วัน หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกกิจวัตรประจำวัน การทรงตัว ยืน เดิน และกระตุ้นให้เคลื่อนไหวด้วยตัวเอง.
นอกจากนี้ยังมีการเตรียมความพร้อมให้สำหรับครอบครัว โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การเตรียมสิ่งแวดล้อมให้ผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน
เมื่อกลับไปที่บ้านต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
แผลผ่าตัดนั้นสามารถถูกน้ำได้เมื่อแผลหายสนิทดีแล้ว ซึ่งช่วงหลังการตัดไหม ถ้าแผลติดดีไม่มีอาการอักเสบ (อาการปวด บวม แดง ร้อน) หลังตัดไหม 3 วัน บริเวณนั้นจะสามารถถูกน้ำได้ โดยควรใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง และห้ามใช้แป้งหรือโลชั่นทาบริเวณแผล ในกรณีที่เป็นไหมละลาย (ไม่ต้องตัดไหม) แพทย์จะเปิดแผลภายใน 7 – 14 วัน หลังการผ่าตัด หลังจากนั้นอีก 3 วัน แผลสามารถถูกน้ำได้ ทั้งนี้แผลผ่าตัดในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ในรายที่แผลหายช้าอาจเนื่องมาจาก ความแข็งแรงของผู้ป่วย อายุหรือ โรคประจำตัวบางชนิดของผู้ป่วยที่มีผลทำให้แผลหายช้า เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
การผ่าตัดกระดูกสันหลังบางชนิดอาจจะจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลังซึ่งโดยทั่วไปจะได้รับคำแนะนำให้ใส่ไว้ 1 – 2 เดือนหลังการผ่าตัด หรือตามแพทย์สั่ง
กิจกรรมที่ต้องงดระหว่างพักฟื้น
ไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องก้มตัว หรือแอ่นหลังมาก ๆ เป็นประจำ ไม่ควรยก ลาก หรือแบกของหนักเกิน 4 กิโลกรัม ไม่เอื้อมหยิบของบนที่สูง เป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด และไม่แนะนำให้เล่นกีฬาที่อาจมีการปะทะ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล อย่างน้อย 6 – 8 สัปดาห์หลังการผ่าตัด สำหรับผู้ที่ต้องการใช้รถยังไม่แนะนำให้ขับรถ หรือซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ หรือขับรถทางไกล อย่างน้อย 6 – 8 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ
ควรเดินออกกำลังกาย โดยเพิ่มระยะทางการเดินให้มากขึ้นในแต่ละวัน พร้อมสวมรองเท้าที่มีส้นนุ่มรองรับการกระแทกขณะเดินหรือออกกำลังกาย ในกรณีที่แผลหายดีแล้วแต่ยังมีอาการตึงที่บริเวณหลัง ให้ออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อ และเสริมสร้างกล้ามเนื้อตามคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัด
ท่าที่เหมาะสมในการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดกระดูกสันหลัง
- ท่ายืน ยืนอกผายไหล่ผึ่ง หลังตรง ถ้ายืนนาน ๆ ควรมีที่พักเท้า
- ท่านั่ง นั่งหลังตรงพิงพนักเก้าอี้ เก้าอี้สูงพอดี ไม่ควรนั่งนานเกิน 20 นาที
- ท่ายกของ ให้ย่อตัวลง ยกสิ่งของชิดตัวให้มากที่สุดแล้วลุกด้วยกำลังกล้ามเนื้อขา ไม่ใช้กำลังกล้ามเนื้อจากหลัง
- ท่าถือของ ถือของให้ชิดลำตัวมากที่สุด
- ท่าขับรถ ให้หลังพิงพนัก เข่างอเหนือระดับสะโพกเล็กน้อย
หากพบอาการผิดปกติเหล่านี้ควรพบแพทย์
ปวดแผลมากขึ้น แผลซึม บวมแดง หรือแผลแยก
ปวด เสียว ชา หรือมีอาการอ่อนแรงของไหล่ แขน ขา มากขึ้น
ปัสสาวะไม่ออก
กระดูกสันหลังผิดรูป โดยสังเกตแนวกระดูกสันหลัง โก่งหรืองอตัวผิดปกติ
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1603 และ 1602