ภาวะกระดูกข้อสะโพกหักเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีการพลัดตกหกล้ม เนื่องจากเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง
ทางสรีรวิทยา เมื่อกระดูกหักผู้ป่วยมีอาการปวดมากจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ นั่นคือต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เพื่อแก้ไขข้อกระดูกที่ผิดรูป และฟื้นฟูร่างกายโดยการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้เกิดความมั่นคงของข้อสะโพก ปลอดภัยไม่เคลื่อนหลุดและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมสิ่งแวดล้อมที่เคยอยู่เดิมก่อนการเจ็บป่วย
หลังผ่าตัดข้อสะโพก ผู้ป่วยต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
แม้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมจะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติ แต่ในทางกลับกัน หลังจากการผ่าตัดอาจทำให้เกิดการฟื้นตัวช้า เนื่องจากผู้ป่วยมีอายุมาก บางรายอาจมีโรคประจำตัว ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ แผลกดทับ หรือการเลื่อนหลุดของข้อสะโพก สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดข้อสะโพกด้วยกันทั้งสิ้นผลทางด้านลบต่อผู้ป่วยทั้งด้านร่างกาย และจิตใจได้
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการปฏิบัติตนไม่เหมาะสม โดยขาดความรู้ในการดูแลตนเองหลังผ่าตัด รวมถึงขาดการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูอย่างถูกต้องเหมะสม ผู้ป่วยอาจมีปัญหาของการใช้งานข้อเทียมหลังการผ่าตัด เช่น กล้ามเนื้อรอบสะโพกอ่อนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนการผ่าตัด และการเคลื่อนไหวถูกจำกัด เนื่องจากกลัวความเจ็บปวด ส่งผลให้การรักษาไม่เกิดผลตามเป้าหมาย ดังนั้นการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก จึงมีความสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดและมั่นใจในการเคลื่อนไหวทำกิจกรรม
ทำกายภาพบำบัดอย่างไรในผู้ป่วยผ่าตัดข้อสะโพก
หลังจากการผ่าตัดข้อสะโพก ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกบริหารปอดโดยการหายใจ และการออกกกำลังกายเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วยเดินในวันรุ่งขึ้น โดยใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน ซึ่งถ้าผู้ป่วยสามารถนั่ง ยืนหรือ เดินได้รวดเร็ว และช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ในส่วนนี้นักกายภาพบำบัดจะมีโปรแกรมการสอนผู้ป่วย/ญาติและคนดูแลให้ทราบเกี่ยวกับท่าบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ข้อสะโพก และกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อทำกิจวัตรประจำวันที่ถูกต้อง ป้องกันการเคลื่อนหลุดของข้อสะโพก รวมถึงช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ด้วยการกระดกข้อเท้าขึ้นลง ทุกครั้งหลังตื่นนอน ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บปวดมาก
การเดินและการเคลื่อนไหวหลังผ่าตัด
สำหรับในช่วงแรกแพทย์และนักกายภาพบำบัดจะทำงานร่วมกัน ในการจัดกิจกรรมให้ผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้โดยไม่มีอาการเหนื่อย ก็จะให้ผู้ป่วยเริ่มลุกนั่ง ส่งเสริมให้เดินช่วงสั้น ๆก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะทางการเดิน (หลังผ่าตัดสัปดาห์ที่สอง) โดยที่ตัวผู้ป่วยต้องขยันปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน จะช่วยให้กล้ามเนื้อสะโพกฟื้นฟูความแข็งแรงและการขยับใช้งานได้คล่องมากขึ้น เช่น
1. การฝึกเดินด้วย walker และลงน้ำหนักเต็มฝ่าเท้า
ผู้ป่วยสามารถยืนตรงทิ้งน้ำหนักแบบสบาย ๆ และให้สมดุล ใช้ walker เพื่อช่วยในการทรงตัว และป้องกันการล้ม แล้วค่อย ๆ ขยับเดินในช่วงสั้น ๆ เท่าที่จะทำได้ ไม่ควรเร่งรีบ เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงและทนทานเพิ่มมากขึ้น อาจเปลี่ยนเป็นไม้เท้าช่วยในการเดิน และเพิ่มระยะทางเดินให้ไกลขึ้น
2. การฝึกเดินขึ้น-ลงบันได
ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน เมื่อผู้ป่วยเดินทางราบได้มั่นคง กล้ามเนื้อสะโพกและต้นขามีความยืดหยุ่น ความแข็งแรงดีแล้ว (ประมาณช่วงสัปดาห์ที่สามหลังการผ่าตัด) นักกายภาพบำบัดจะเริ่มฝึกการเดินขึ้น
– ลงบันได โดยในช่วงแรกอาจจะต้องพยุงผู้ป่วยขึ้น
– ลงบันไดทีละขั้น หรือให้ผู้ป่วยใช้ราวจับเพื่อพยุงตนเอง
ออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อกลับมาแข็งแรง
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอาจจะใช้เวลาหลายเดือน และจำเป็นต้องพยายามสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้กลับมาได้สมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพก และกล้ามเนื้อต้นขาหลังการผ่าตัด โดยแพทย์และนักกายภาพบำบัด จะปรับท่าบริหารกล้ามเนื้อเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเดินและทำกิจกรรมได้ปลอดภัย
ควรเตรียมสิ่งแวดล้อมที่บ้านเพื่อให้เอื้อต่อผู้ป่วย
เมื่อผู้ป่วยกลับมาพักฟื้นที่บ้านควรจัดเตรียมที่นอนให้อยู่ชั้นล่าง และจัดสิ่งของให้เป็นระเบียบ เนื่องจากผู้ป่วยยังต้องใช้เครื่องช่วยพยุงเดิน เช่น walker หรือไม้เท้า เป็นเวลา 2 – 3 เดือน ขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัดและความเเข็งแรงของกล้ามเนื้อ ดังนั้นเตียงนอนควรอยู่สูงจากพื้นประมาณ 40 เซนติเมตร ควรมีราวจับในห้องน้ำ และโถส้วมควรเป็นแบบชักโครกนั่ง เพื่อไม่ให้ข้อสะโพกอยู่ต่ำกว่าข้อเข่า
ข้อควรระวังและการปฏิบัติตนเอง
- ห้ามงอข้อสะโพกมากเกิน 90 องศา เพราะในท่านี้อาจจะทำให้ข้อสะโพกเทียมที่ใส่ไว้เคลื่อนหลุดได้
- ห้ามไขว้ขาในขณะที่อยู่ในท่านอน นั่งหรือ ยืนโดยเฉพาะเอาขาข้างที่ผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้เตี้ยหรือนั่งยอง ควรเลือกเกาอี้ที่สูงพอดีที่จะไม่ทำให้ข้อสะโพกงอเกิน 90 องศา ควรปรับเก้าอี้ให้สูงพอดีโด
- การใช้หมอนนั่งให้สูงขึ้น
- หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้ไม่มีที่วางแขน เพราะที่วางแขนจะช่วยเหลือได้ในขณะที่จะลุกขึ้นยืนหรือ เปลี่ยนอิริยาบถ
- หลีกเลี่ยงการวิ่ง หรือกระโดด เพราะจะทำให้ข้อหลุดหลวมหรือ แตกหักได้
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การดันสิ่งของ และการหมุนตัวอย่างแรง
- หลีกเลี่ยงการก้มพร้อมกับยันลงน้ำหนัก เช่น การปีนเขา หรือบันไดที่ชัน
- ควรป้องกันการล้ม โดยใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน จนกว่าข้อสะโพกจะแข็งแรงพอและเคลื่อนไหวได้ดี
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1603 และ 1602