หลังจากผ่าตัด การดูแลสุขภาพในช่วงการพักฟื้น และการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้น
นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ เชื่อว่ายังมีผู้ป่วยบางรายเข้าใจผิด คิดว่าเมื่อเข้ารับการผ่าตัดแล้วจะสามารถกลับไปลุยงานต่อได้เลยทันที แต่ในความเป็นจริงร่างกายไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้มากขนาดนั้น ร่างกายยังต้องอาศัยเวลาพักฟื้น เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ เตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ดังนั้นแน่นอนว่าผลการรักษาที่จะบอกได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองและการทำกายภาพบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสมหลังจากการผ่าตัดด้วยเช่นกัน
การทำกายภาพบำบัดคืออะไร
การทำกายภาพบำบัด (Physical Therapy) คือ ศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพด้วยการออกกำลังกายและใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น การใช้ความร้อน ความเย็น การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ให้ความร้อนลึก (Short Wave Diathermy) และเครื่องมือทางกายภาพอื่น ๆ เช่น Ultrasound , Low Level Laser Therapy , Shockwaveเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าระงับปวด เครื่องดึงคอและดึงหลัง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการใช้การรักษาด้วยมือที่เรียกว่า Manipulation & Mobilization การยืดกล้ามเนื้อ (Stretching Exercise) การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ รวมทั้งเทคนิคการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกวิธี
3 เหตุผลสำคัญที่ไม่ควรละเลยในการทำกายภาพบำบัด
จุดประสงค์ของการทำกายภาพบำบัดนั้น เพื่อรักษาผู้ป่วยให้กลับมาสมบูรณ์แข็งแรง เคลื่อนไหวได้ตามปกติมากที่สุด ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าผู้ป่วยบางรายหลังผ่าตัดอาจจะต้องใช้ระยะในการฟื้นฟูนาน โดยขึ้นอยู่กับประเภทและระยะของโรค วิธีการผ่าตัด รวมถึงการดูแลปัจจัยเสี่ยงโรคประจำตัว อายุของผู้ป่วย เป็นต้น โดยเป้าหมายหลักในการทำกายภาพบำบัด แบ่งออกเป็น 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ
1. ลดความเจ็บปวด
คือ บำบัดอาการปวดและอาการชา โดยภายหลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยเกือบทุกรายมักมีอาการปวด รวมถึงอาการบวม แดง ร้อน ที่มีผลมาจากการไหลเวียนเลือดบริเวณแผลทำได้ไม่ดีนัก จึงเกิดอาการบวมขึ้น การทำกายภาพบำบัดสามารถช่วยให้อาการเหล่านี้ลดลงได้ โดยอาจใช้วิธีประคบเย็นบริเวณแผลเพื่อลดอักเสบ การกระตุ้นไฟฟ้าหรือการนวดไล่สารน้ำรอบ ๆ แผล หรือการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเพื่อลดปวด ลดการอักเสบ
2. เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค หลังจากที่ผ่าตัดมาใหม่ ๆ ความเจ็บปวดจะยังคงมีอยู่ จนไม่อาจขยับหรือเคลื่อนไหวได้ รวมถึงความจำเป็นที่ต้องให้ร่างกายในส่วนนั้นอยู่นิ่ง ๆ เพื่อให้แผลยึดติดกันได้ดี ซึ่งแน่นอนว่าการที่เราไม่ขยับร่างกายหรืออวัยวะส่วนใด ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นฝ่อลีบ ขาดความแข็งแรง ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเข่า ในช่วงแรกผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเดินเพียงไม่กี่ก้าวก็รู้สึกล้าขา รู้สึกเมื่อยขามากกว่าขาข้างที่ไม่ได้ผ่า ดังนั้นการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากเพื่อให้ผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมากพอ สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและลดความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มในอนาคต
ในทางกลับกันหากเข้ารับการผ่าตัดแล้ว ไม่ยอมทำกายภาพบำบัด ปล่อยให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณนั้นอ่อนแรงไป ไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะพยุงตัวได้ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยลุกเดินลำบาก อาจต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นนั่ง (wheel chair) ตลอดเวลา ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และเป็นภาระของผู้อื่นตามมา
3. เพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อต่าง ๆ
ปัญหาข้อยึดติดหลังจากการผ่าตัด ไม่สามารถงอหรือเคลื่อนไหวได้ปกติ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอาการปวดที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเลี่ยงที่จะงอ หรือขยับข้อส่วนนั้น ตัวอย่างเช่นข้อเข่า หรือข้อไหล่ เมื่อไม่ยอมงอหรือเคลื่อนไหวข้อส่วนนั้นติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดพังผืดอยู่ภายในเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เกิดการหดรั้ง กระทั่งในที่สุดผู้ป่วยมีภาวะข้อติด ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เสี่ยงต่อการล้มเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากการเคลื่อนไหวไม่สะดวก ดังนั้นการทำกายภาพบำบัดภายหลังการผ่าตัด โดยบริหารเคลื่อนไหวข้อต่อให้ได้มากที่สุด จะช่วยลดปัญหาการเกิดข้อยึดติดได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ค่อยให้ความร่วมมือเนื่องจากความเจ็บปวด แต่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต ผู้ป่วยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัด
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1603 และ 1602