เมื่อผู้ป่วยต้องเผชิญกับ “โรคหลอดเลือดสมอง”ภาวะสมองขาดเลือดหรือขาดออกซิเจน ทำให้เนื้อสมองถูกทำลาย
สมองเกิดความพิการตามมา เมื่อผู้ป่วยผ่านการรักษาด้วยยาและหัตถการทางการแพทย์ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจนอาการคงที่แล้ว แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะทำการประเมินอาการของโรค และระดับความเสียหายจากรอยโรคของผู้ป่วย ว่ามีผลกระทบใดบ้างต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแล เช่น ผลกระทบด้านจิตใจ สติปัญญาการรับรู้ การเคลื่อนไหวร่างกาย การสื่อสาร ซึ่งต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ให้การสนับสนุน เพื่อให้ผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแลสามารถผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้
กายภาพบำบัดจำเป็นแค่ไหนต่อการแก้ไข ฟื้นฟู
ผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดสมอง” ส่วนใหญ่จะมีภาวะสูญเสียการควบคุมแขนขาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ไม่สามารถพูด หรือกลืนได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังพบภาวะทางอารมณ์มีความแปรปรวน และบางรายสูญเสียความทรงจำ จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการทำกายภาพบำบัด อย่างรวดเร็วในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อแก้ไข ฟื้นฟู และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานหลังจาก 6 เดือนจะรักษาฟื้นตัวยากขึ้น ดังนั้นการเข้ารับการทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้ ผู้ป่วยเหลือความพิการลดน้อยลง บางรายสามารถกลับมาใช้ชีวิต ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้ใกล้เคียงปกติ ประมาณ 3 – 20% ที่กลับมาเหมือนเดิมขึ้นอยู่กับความรุนแรงรอยโรคที่สมอง
กายภาพบำบัด ช่วยผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดสมอง” ได้อย่างไร
บทบาทของนักกายภาพบำบัดในผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดสมอง”ที่เกิดอัมพาตครึ่งซีก คือ การฟื้นฟูทักษะการเคลื่อนไหวที่สูญเสียไปจากการที่สมองบางส่วนถูกทำลาย โดยจะเน้นในส่วนของการฝึกการควบคุมการเคลื่อนไหว การทรงตัว การทำงานประสานสัมพันธ์ของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ รวมถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการถูกจำกัดการเคลื่อนไหว การหดสั้นของกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่อรอบข้อต่อ และป้องกันอาการเกร็งของกล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำงานใช้ชีวิตประจำวันให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการเป็นภาระของครอบครัวและสังคม
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อาจมีผลกระทบด้านจิตใจด้วย ซึ่งที่พบบ่อยมีอยู่ 2 อย่าง คือ
1. ภาวะซึมเศร้า โดยมีอาการเสียใจ รู้สึกสิ้นหวัง และแยกตัวเองออกจากกิจกรรมทางสังคม
2. ภาวะวิตกกังวล ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวและรู้สึกวิตกกังวล โดยในบางครั้งจะรู้สึกวิตกกังวลอย่างรุนแรงและควบคุมไม่ได้
ในส่วนนี้นักกายภาพบำบัดจะประเมิน ผลกระทบทางด้านจิตใจ ร่วมกับทีมแพทย์ นักจิตวิทยา แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านอารมณ์เกิดขึ้นระดับใด เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำในการจัดการกับ ผลกระทบทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นจากโรคหลอดเลือดสมอง แนะนำผู้ดูแลเกี่ยวกับผลกระทบ วิธีการรับมือที่มีผลต่อความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว เพื่อช่วยผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดที่บ้านได้ ให้การสนับสนุนด้านอารมณ์และให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยว่าอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยบรรลุเป้าหมายในระยะยาวของการรักษา ส่งผลให้กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยเร็วยิ่งขึ้น
“โรคหลอดเลือดสมอง” เหมือนกัน แต่การกายภาพบำบัดแต่ละคนต่างกัน
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการรักษาฟื้นฟูของการทำกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจำเป็นต้องวางแผนการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วย โดยเริ่มจากการประเมินอาการ และวิเคราะห์จุดบกพร่องของผู้ป่วยในการเคลื่อนไหวร่างกาย การทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการลุกขึ้นจากเตียง การนั่ง ยืน และเดิน แล้วเลือกใช้เทคนิคการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย การเคลื่อนไหวไปหยิบจับสิ่งของ การขยับข้อต่อเพื่อป้องกันข้อยึดติด หรือใช้เกมส์ เข้ามาช่วยกระตุ้นให้ออกกำลังกายเพื่อไม่ให้เบื่อหน่าย หรือท้อใจ กับการฝึกกายภาพบำบัด และยังฝึกเรื่องการรับรู้และการวางแผนการคิด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการการทำกายภาพบำบัดร่วมกัน
ต้องทำการกายภาพบำบัด นานขนาดไหน ถึงจะดีขึ้น ลุก – เดินเองได้ ?
การทำกายภาพบำบัด เริ่มขึ้นตั้งแต่ขณะนอนรักษาในโรงพยาบาล และทำการฟื้นฟูต่อเนื่องที่บ้านทุกๆ วัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง (เช้า และเย็น) ประมาณครั้งละ 20 – 30 นาที โดยไม่หักโหมจนเหนื่อย ซึ่งความสำเร็จของการทำกายภาพบำบัดขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากผู้ป่วยและญาติ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการร่วมตั้งเป้าหมายการฟื้นฟูสภาพและการวางแผนการรักษา การช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆโดยควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดในการฝึกทักษะการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง และผู้ดูแลได้รับคำแนะนำอย่างถูกวิธีคอยช่วยเหลือและให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ เพราะการทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่สำคัญ
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1603 และ 1602