รู้หรือไม่ว่า ! ผู้หญิงน้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง เสี่ยงมี “ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ” มากกว่าผู้หญิงทั่วไป ตามด้วยปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ หากปล่อยทิ้งไว้ อาจเสี่ยงเกิดโรคร้ายในอนาคต ร่วมถึงภาวะมีบุตรยาก
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด ใครบ้างที่เสี่ยง สามารถรักษาป้องกันได้หรือไม่ วิธีไหนบ้าง หาคำตอบได้ในบทความนี้
สารบัญ ถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ถุงน้ำรังไข่หลายใบ คืออะไร ?
- ใครบ้างเสี่ยงเกิด ถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ผู้หญิงยิ่งอ้วนยิ่งเสี่ยงโรค PCOS ! จริงไหม ?
- ถุงน้ำรังไข่หลายใบ อันตรายหรือไม่ ?
- อาการต้องสงสัยภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ถุงน้ำรังไข่หลายใบ รักษาอย่างไร ?
- วิธีป้องกัน ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
ถุงน้ำรังไข่หลายใบ คืออะไร ?
ถุงน้ำรังไข่หลายใบ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยจะมีถุงน้ำขนาดเล็ก ๆ (ซีสต์) หลายใบเกิดขึ้นในรังไข่ เมื่อมีถุงน้ำหลายใบจะส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนเพศโดยมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูงกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติของรอบประจำเดือน ผมขนหนาผิดปกติ และอาจมีปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ด้วย
ใครบ้างเสี่ยงเกิด ถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นโรคนี้ จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- ผู้ที่มีสภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน
- ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเกิน
ผู้หญิงยิ่งอ้วนยิ่งเสี่ยงโรค PCOS ! จริงไหม ?
ผู้หญิงน้ำหนักเกินโดยเฉพาะอ้วนลงพุง จะมีความเสี่ยงเกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบมากขึ้น เนื่องจาก ไข่มันส่วนเกินจะทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลให้ฮอร์โมนผิดปกติ นำไปสู่ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ มักพบได้ช่วงอายุประมาณ 25 – 35 ปี หากละเลยการรักษา อาจก่อให้เกิดปัญหามีบุตรยาก และเสี่ยงต่อการมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติและมะเร็งโพรงมดลูกได้ในอนาคตได้
ถุงน้ำรังไข่หลายใบ อันตรายแค่ไหน ?
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็สามารถส่งผลกระทบและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น
- เสี่ยงมีบุตรยาก เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ : ผู้หญิงที่มีถุงน้ำรังไข่หลายใบมักจะมีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติหรือขาดประจำเดือน รวมถึงมีความผิดปกติของการตกไข่ ทำให้มีปัญหามีบุตรยาก และหากตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งบุตรในช่วง 3 เดือนแรก รวมถึง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกเติบโตช้าขณะอยู่ในครรภ์
- เสี่ยงเป็นเบาหวาน : เนื่องจากถุงน้ำรังไข่หลายใบมีผลต่อความผิดปกติของฮอร์โมน ที่ส่งต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย จึงมักมีภาวะดื้ออินซูลินสูง ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคเบาหวาน
- เสี่ยงต่อมะเร็งโพรงมดลูกโดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะนี้มานานและไม่ได้รักษาเนื่องจากประจำเดือนผิดปกติ
- ภาวะแทรกซ้อนทางจิตใจ และความมั่นใจ เนื่องจากผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบมักมีปัญหาผมร่วง ผิวมัน สิว และความผิดปกติของเส้นผมหนาตามร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจในบุคลิกภาพ ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลได้
อาการต้องสงสัยภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ประจำเดือนมาผิดปกติ มาขาด ๆ หาย ๆ
- ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรืออาจมามากเกินไป มานานเกินไป
- เป็นสิวเรื้อรัง สิวขึ้นมากกว่าปกติ ผิวมัน ศีรษะล้าน ขนดก
- อ้วนลงพุง น้ำหนักเกินมาก
ถุงน้ำรังไข่หลายใบ รักษาอย่างไร ?
การรักษาถุงน้ำรังไข่หลายใบ มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ป่วย ดังนี้
1. รักษาด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลและอินซูลิน -ควบคุมอาหาร ลดอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เน้นอาหารไขมันดี และผักผลไม้
- พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากการนอนน้อยส่งผลต่อฮอร์โมน
- ลดความเครียด โดยการออกกำลังกายและทำสมาธิ
2. รักษาด้วยยา
เมื่อเข้ารับการตรวจกับสูตินรีเวช แล้วพบภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ แพทย์อาจทำการรักษาเบื้องต้นด้วยการจ่ายยาตามอาการ เช่น ยาปรับประจำเดือน ยาฮอร์โมน ยากระตุ้นการตกไข่ ยาคุมกำเนิด ยารักษาภาวะดื้ออินซูลิน เป็นต้น
3. การผ่าตัด
ในเคสที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา และต้องการมีบุตร แพทย์อาจจะรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อกระตุ้นการตกไข่เพื่อช่วยให้มีการตั้งครรภ์ได้
ทั้งนี้การรักษาถุงน้ำรังไข่หลายใบอาจใช้วิธีรักษาผสมผสานกันหลายอย่างตามความเหมาะสม เพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
วิธีป้องกัน ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
แม้ว่าถุงน้ำรังไข่หลายใบจะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด เนื่องจากมีสาเหตุจากพันธุกรรมร่วมด้วย แต่ก็มีวิธีป้องกันที่สามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะนี้ ดังนี้
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ น้ำหนักเกินเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของถุงน้ำรังไข่หลายใบ การออกกำลังกายและควบคุมอาหารเพื่อให้มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติตามเกณฑ์ BMI จะช่วยลดความเสี่ยงได้มาก
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล ไขมันทรานส์ และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูง เพราะจะทำให้ร่างกายดื้ออินซูลินได้ง่าย แนะนำให้บริโภคอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชเต็มเมล็ด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาทีจะช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดความเสี่ยงเบาหวาน และเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ลดความเครียด ความเครียดเรื้อรังส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของฮอร์โมนและการสร้างเซลล์ไข่ จึงควรจัดการความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น นั่งสมาธิ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ทำกิจกรรมผ่อนคลาย
สรุป
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS )มักพบในผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกิน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีสุขภาพดีถือเป็นวิธีป้องกันที่สำคัญ นอกจากช่วยลดความเสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบแล้ว ยังเป็นการป้องกันโรคอื่นๆ อย่างเบาหวาน โรครมะเร็งโพรงมดลูก+9ได้อีกด้วย ในกรณีที่พบมีความผิดปกติ มีอาการต้องสงสัย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพื่อสามารถเข้ารีบการรักษาได้อย่างเหมาะสม เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม เลี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจตามมาได้
พญ.กุลธิดา ทรัพย์สมุทรชัย
สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านภาวะมีบุตรยากและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
รพ.พญาไท 3
สอบถามรายละเอียดหรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่
LINE OA@phyathai3family