ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่มีข้อจำกัดในการรับประทานอาหารบางชนิด การได้รับโภชนาการที่เหมาะสมจะช่วยให้ได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
อาหารผู้ป่วยระยะประคับประคอง ควรทานอะไร ?
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการแทรกซ้อน หรือมีภาวะข้างเคียงที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม ประกอบกับผู้ป่วยมะเร็งมีปัญหาเฉพาะด้านที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ปกติ หากไม่ดูแลด้านโภชนาการที่ดี และเหมาะสมในแต่ละบุคคล อาจทำให้ผู้ป่วยมะเร็งขาดสารอาหาร ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เช่น bed ridden, bad sore, muscle wasting
สาเหตุที่ทำผู้ป่วยมะเร็งเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร
- เซลล์มะเร็งจะสร้างสารเคมีบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดการเผาผลาญอาหารได้โดยเร็ว ทำให้ร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น การได้รับพลังงาน สารอาหารที่เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็น
- ผู้ป่วยมะเร็งมีอาการข้างเคียงหลายด้าน ที่อาจส่งผลให้รับประทานอาหารได้น้อยลง มีอาการเบื่ออาหาร แต่ร่างกายกลับต้องการพลังงานมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ขาดสารอาหารได้ง่าย
เพื่อให้ผู้ป่วย แข็งแรงและมีความรู้สึกดีขึ้น ควรให้ความสำคัญกับโภชนาการของผู้ป่วย โดยโภชนาการที่เหมาะสมในระยะประคับประคอง อาจแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ
- โภชนาการในผู้ป่วยมะเร็งในระยะต่าง ๆ
- โภชนาการในผู้ป่วยระยะสุดท้าย
โภชนาการในผู้ป่วยมะเร็ง
เมื่อมีการตรวจพบโรคมะเร็ง แผนการรักษาอาจประกอบไปด้วย การผ่าตัด การฉายแสง การทำเคมีบำบัด หรือ การใช้หลายวิธีผสมผสานรักษา เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งในขั้นการรักษาเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งมีอาการข้างเคียงตามมาได้ เช่น
- เบื่ออาหาร
- เหม็นอาหาร การรับกลิ่นเปลี่ยนไป
- มีอาการ คลื่นไส้ และอาเจียน
- น้ำหนักเปลี่ยนแปลง (เพิ่ม หรือ ลด)
- ปากแห้ง เจ็บปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก
- การรับรสชาติเปลี่ยนไป
- ปัญหาบริเวณฟัน และเหงือก
- ท้องเสียหรือท้องผูก
- แพ้น้ำตาลแลกโตส (พบได้ในนมวัว)
มักพบในผู้ป่วยที่รับการฉายแสงทางหน้าท้อง หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะ
เมื่อผู้ป่วยมีอาการตามที่กล่าวมา หากต้องการให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารให้ได้พลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ จำเป็นต้องปรับแนวทางการรับประทานอาหารตามอาการที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ช่วยให้แผนการดูแลรักษามีประสิทธิภาพ ที่สำคัญทำให้ผู้ป่วยสดชื่น มีแรง และมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคได้
โดยการจัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมต้องทำร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสร้างแผนโภชนาการที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น
- ผู้ป่วยที่อาการเบื่ออาหาร ควรจัดอาหารแบ่งเป็นมื้อย่อย 4-6 มื้อเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ควรเป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูง เช่น นม ไข่ ถั่ว เนื้อสัตว์ และเพิ่มแหล่งพลังงาน เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก รวมถึงกลุ่มข้าว-แป้ง เช่น ข้าวโพด เผือก มัน หรือข้าวทุกชนิด ที่เพียงพอ หรือควรได้รับอาหารเสริมทางการแพทย์สำหรับเสริมการคุ้มกัน ดื่มเสริมหรือทดแทนมื้ออาหาร
- ผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้ ควรเลือกอาหารที่กลิ่นไม่ฉุน เน้นอาหารอ่อน ๆ รับประทานง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะมัน ของทอด แนะนำอาหารแห้ง ๆ เช่น แครกเกอร์ ทองม้วน จะช่วยลดอาการได้
- ผู้ป่วยที่มีแผลในช่องปาก เจ็บปากและลิ้น อาหารต้องไม่ร้อนควรเป็นอุณหภูมิห้อง และควรเลี่ยงอาหารเผ็ดร้อน เค็ม แข็ง หรืออาหารเปรี้ยวเป็นกรด
- กลืนลำบาก ควรปรับอาหารให้อ่อนนุ่ม ที่สามารถเคี้ยวและกลืนง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊กผสมผัก วุ้น พุดดิ้ง ไข่ลวก ข้าวโอ๊ต
- ผู้ป่วยที่น้ำหนักลด ควรเพิ่มแคลอรีและโปรตีนในอาหารให้มากขึ้น หรือในบางเคสอาจเพิ่มอาหารทางการแพทย์
โภชนาการอาหารผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่กำลังเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต โภชนาการอาหารมะเร็งระยะสุดท้ายที่เหมาะสมย่อมสำคัญต่อผู้ป่วย แต่ความต้องการ หรือความยากอาหารของผู้ป่วยก็สำคัญ โดยทั่วไปในผู้ป่วยระยะท้าย ๆ ก็มักจะอนุญาตให้ทานหมด เพียงแค่ระมัดระวังเรื่องปริมาณ ที่ไม่ควรมากไป โดยเฉพาะเมนูที่มีส่วนประกอบของไขมันและน้ำตาลที่มากเกินไป โดยอาจอนุญาตให้รับประทานอาหารที่อยากกินได้ 1 มื้อหนึ่ง ให้เป็นเหมือนมื้อพิเศษของผู้ป่วย
สารอาหารหลักที่ผู้ป่วยมะเร็งต้องการมีอะไรบ้าง ?
เพื่อป้องกันความเสี่ยงผู้ป่วยมะเร็ง เกิดภาวะภาวะทุพโภชนาการ ผู้ดูแลควรจัดเตรียมอาหารให้ผู้ป่วย ให้ได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ ดังนี้
- พลังงาน ถือเป็นอาหารหลักที่จำเป็นต่อผู้ป่วย โดยพลังงานจะได้จากอาหารในกลุ่มข้าวแป้งและไขมัน ในเคสที่มีอาการรุนแรง ผอมมาก จำเป็นต้องได้รับพลังงานสูงกว่าปกติอาจถึง 3000 – 4000 กิโลแคลอรีต่อวัน ในขณะที่คนปกติควรได้รับ 1500 – 2000 กิโลแคลอรีต่อวัน แต่ไม่ควรเน้นหนักไปที่อาหารที่มีไขมันมากเกินไป โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์
- โปรตีน การบริโภคโปรตีนควรได้รับเฉลี่ย 80-100 กรัมต่อวันขึ้นกับน้ำหนักตัว และความรุนแรงของโรค โดยควรเลือกโปรตีนที่มีคุณภาพดี และมีกรดอะมิโนจำเป็นครบ เช่น เนื้อสัตว์ และไข่ เพื่อช่วยในการซ่อมแซม รักษาเนื้อเยื่อ และสร้างภูมิคุ้มกัน
- วิตามินและเกลือแร่ สำหรับวิตามินและเกลือแร่ ควรบริโภคผักผลไม้ที่มีสีสดใส เพื่อให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ และได้วิตามิน B วิตามิน C วิตามิน A D E และสังกะสีในปริมาณเพียงพอ ซึ่งสามารถหาได้จากผักต้ม ถั่วเหลือง และธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี รวมทั้งเนื้อสัตว์ และไข่ทั้งฟอง
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 2-3 ลิตร
สำหรับญาติหรือผู้ดูแลอาหารผู้ป่วยระยะประคับประคอง หรือ ผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อให้สามารถจัดเตรียมอาหารได้อย่างเหมาะสม ครบถ้วน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ นักกำหนดอาหาร หรือนักโภชนาการ เพื่อเตรียมการวางแผนร่วมด้วย แต่สิ่งสำคัญคือ ควรเน้นอาหารที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และเน้นโปรตีน ทานให้หลากหลาย เป็นสำคัญ
สอบถามรายละเอียดหรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่
LINE OA@phyathai3family