“มะเร็งรังไข่” หนึ่งในมะเร็งภัยเงียบที่ผู้หญิงต้องระวังในอันดับต้น จากสถิติทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ รายใหม่ประมาณ 295,000 คนต่อปี (อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในรายงานเรื่อง “Globocan 2020”)
สำหรับประเทศไทย โรคทางอวัยวะสืบพันธุ์ของสตรีนั้น สามารถพบโรคมะเร็งรังไข่ได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในหญิงไทย ถือเป็นภัยอันตรายที่ ๆ ผู้หญิงต้องเฝ้าระวัง เพราะมะเร็งรังไข่ มักไม่อาการบ่งชี้ชัด แต่สามารถรู้ทันและป้องกันโรคได้ หรือเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ก่อนอาการรุกรามจนสายเกินไป
สารบัญ มะเร็งรังไข่
- มะเร็งรังไข่ คืออะไร ?
- รู้จักระยะ มะเร็งรังไข่
- มะเร็งรังไข่มีอาการอย่างไร ? รู้สัญญาณเตือนที่ต้องรีบพบแพทย์
- อาการมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย คืออะไร ?
- สาเหตุมะเร็งรังไข่ และปัจจัยเสี่ยง
- วิธีการตรวจมะเร็งรังไข่ มีกี่แบบ ?
- แนวทางการ รักษามะเร็งรังไข่
- มะเร็งรังไข่รักษาหายไหม ?
- มะเร็งรังไข่ป้องกันได้หรือไม่ ?
มะเร็งรังไข่ คืออะไร ?
มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นจากเซลล์ผิดปกติในรังไข่ของผู้หญิงและเจริญเติบโตขึ้น โดยเซลล์เหล่านี้จะแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้องอก หรือมะเร็ง
รังไข่เป็นอวัยวะที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง เช่น เอสโตรเจนและโปรเจสเตอรอน รวมถึงการผลิตไข่ สำหรับตั้งครรภ์ สิ่งที่น่ากลัวคือมะเร็งรังไข่ในระยะต้นนั้นจะไม่มีอาการแสดง หากรอให้มีอาการแล้ว มะเร็งรังไข่มักจะเป็นระยะที่เกิดการแพร่กระจายและเป็นมากแล้ว สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ข้อควรรู้ : มะเร็งรังไข่เป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบได้บ่อยในระบบสืบพันธุ์สตรี และเป็นมะเร็งที่รักษายากเนื่องจากอาการในระยะแรกมักไม่มีหรือไม่ชัดเจน ทำให้วินิจฉัยได้ยาก อีกทั้งยังเป็นมะเร็งที่รุนแรงและมีอัตราการรอดชีวิตต่ำในระยะท้าย การรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือในระยะแรกเริ่ม จึงมีความสำคัญ เพราะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้
รู้จักระยะ มะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่มีกี่ระยะ ? ระยะไหน ที่เพิ่มโอกาสรอด
การแบ่งระยะของมะเร็งรังไข่ใช้ระบบของ FIGO (International Federation of Gynecology and Obstetrics) เป็นหลัก โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะใหญ่ดังนี้
ระยะ 1 (Stage I) มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะในรังไข่
- ระยะ 1A มะเร็งอยู่ในรังไข่เพียงข้างเดียว
- ระยะ 1B มะเร็งลุกลามไปที่ทั้งสองรังไข่
- ระยะ 1C มีการแพร่กระจายออกมานอกรังไข่แช่นผิวรังไข่ , มีเซลลมะเร็งในน้ำในช่องท้อง (ไม่เห็นด้วยตาเปล่า)
ระยะ 2 (Stage II) มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ภายในบริเวณอุ้งเชิงกราน
- ระยะ 2A มะเร็งลุกลามไปยังมดลูก และ/หรือท่อนำไข่
- ระยะ 2B มะเร็งลามไปยังอวัยวะอื่นๆในอุ้งเชิงกราน
ระยะ 3 (Stage III) มะเร็งลุกลามไปนอกบริเวณอุ้งเชิงกรานอยู่ในช่องท้องส่วนบน
- ระยะ 3A มะเร็งกระจายนอกอุ้งเชิงกราน แต่ขนาดเล็กไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า ขนาดไม่เกิน 2 ซม.
- ระยะ 3B มะเร็งกระจายนอกอุ้งเชิกกราน ขนาด > 2 ซม. หรือกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน
- ระยะ 3C มะเร็งแพร่กระจายไปที่เยื่อบุชายแดนบริเวณช่องท้อง
ระยะ 4 (Stage IV) มะเร็งลุกลามไปอวัยวะนอกช่องท้องเช่น ปอด ตับ สมอง
ทั้งนี้การพยากรณ์โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยระยะของมะเร็งรังไข่ที่ตรวจพบในระยะเริ่มแรก และเข้ารับการรักษาทันทีจะมี โอกาสรอดชีวิตก็จะสูงขึ้น
มะเร็งรังไข่มีอาการอย่างไร ? รู้สัญญาณเตือนที่ต้องรีบพบแพทย์
มะเร็งรังไข่ อาการเริ่มแรกอาจไม่มีหรือไม่ชัดเจน แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจะเริ่มมีอาการต่าง ๆ เช่น
- ปวดท้องน้อยหรือรู้สึกอึดอัดในบริเวณท้อง
- อาหารไม่ย่อย รู้สึกอิ่มเร็วหลังการรับประทานเพียงเล็กน้อย
- มีอาการท้องผูก หรือปวดปัสสาวะบ่อย
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- มีไข้ต่ำ ๆ เรื้อรัง เหนื่อยง่ายหรือไม่มีแรง
- มีอาการปวดท้องเฉียบพลันอาการบิดขั้ว
- คลำได้ มีก้อนในท้อง
อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงมะเร็งรังไข่และควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยเร็ว อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้ก็สามารถพบได้ในโรคอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นการวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวช จึงมีความสำคัญมาก
อาการมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย คืออะไร ?
ในระยะสุดท้ายของมะเร็งรังไข่ อาการต่าง ๆ จะทวีความรุนแรงมากกว่าอาการที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะสำคัญต่าง ๆ อาการที่อาจพบในระยะนี้ ได้แก่
- ปวดท้องรุนแรง เนื่องจากมีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ในช่องท้อง อาจทำให้ท้องพอง
- น้ำหนักลดลงอย่างมาก จากอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
- มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือทวารหนัก
- หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย อ่อนแรง จากการที่มะเร็งลุกลามไปยังปอด
- ขาบวมนูน เนื่องจากมะเร็งกดทับหลอดเลือดดำ
- ปัสสาวะลำบาก หรือปวดแสบปัสสาวะจากการที่มะเร็งลุกลามไปที่กระเพาะปัสสาวะ
- ท้องผูกรุนแรง จากการที่มะเร็งกดทับลำไส้
- อ่อนเพลียและเหนื่อยล้าอย่างมาก เนื่องจากร่างกายพยายามต่อสู้กับโรคร้ายแรง
- มีภาวะซีด เนื่องจากโลหิตจาง สาเหตุจากการสูญเสียเลือดจำนวนมาก
ในบางรายอาจพบอาการร้ายแรงอื่น ๆ อีก เช่น เกร็งกล้ามเนื้อ สับสน ประสาทหลอน จากผลกระทบของโรคที่ลุกลามไปยังสมองและระบบประสาท หากพบอาการดังกล่าว แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เนื่องจากบ่งชี้ได้ว่าอยู่ในระยะท้ายของมะเร็ง ซึ่งมีความอันตรายสูง
สาเหตุมะเร็งรังไข่ และปัจจัยเสี่ยง
มะเร็งรังไข่ สาเหตุที่แท้จริงยังคงไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่อาจเป็นสาเหตุหรือเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น
- ปัจจัยทางพันธุกรรม เคยเป็นมะเร็งเต้านม
- เคยมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ ท่อนำไข่ หรือเต้านม จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่ได้มากกว่าบุคคลทั่วไป
- การมียีนบางชนิดที่ผิดปกติ เช่น BRCA1 และ BRCA2 เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งรังไข่อย่างชัดเจน
- ปัจจัยด้านฮอร์โมน
- ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด (Combined Oral Contraceptive) ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งรังไข่ได้
- สตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์หรือคลอดบุตรครบกำหนด
- การใช้ยาฮอร์โมนหลังจากเข้าวัยทอง (Menopause) แล้วจะมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าผู้ป่วยวัยทองที่ไม่ใช้ Hormones
- สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรม
- การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของเนื้องอกรังไข่บางชนิด
- การบริโภคอาหารที่บางประเภทช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งรังไข่ได้ เช่นผัก อาหารไขมันต่ำ , Whole grain เลี่ยง Processed Food , น้ำตาล
- ความอ้วนหรือโรคอ้วน BMI > 30
- ไม่ออกกำลังกาย ส่งผลให้ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ
- ปัจจัยด้านอายุ
- ความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่มักจะเพิ่มตามอายุผู้ป่วยส่วนใหญ่มักพบหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว (>50ปี)
- มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
- หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี
เพื่อลดความเสี่ยงจากสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ การเข้ารับการตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจะสามารถทำให้เราลดความเสี่ยงของการเกิด “มะเร็งรังไข่” ลงได้
วิธีการตรวจมะเร็งรังไข่ มีกี่แบบ ?
การตรวจเพื่อวินิจฉัยมะเร็งรังไข่นั้นอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น
1. การตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจคลำบริเวณท้องและอุ้งเชิงกราน เพื่อหาก้อนเนื้องอกหรือการบวม
2. การตรวจเจาะเลือด การตรวจหาระดับของเอนไซม์ CA-125 ในเลือด ซึ่งจะสูงขึ้นในรายที่เป็นมะเร็งรังไข่ แต่ก็อาจสูงในภาวะอื่นๆด้วย เช่น มะเร็งมดลูก การตั้งครรภ์ เป็นต้น
3. คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการสร้างภาพของอวัยวะภายใน สามารถตรวจพบก้อนเนื้องอกหรือของเหลวสะสมในมดลูกหรือรังไข่ได้
วิธีการตรวจตาม ข้อ 1-3 เป็นวิธีการตรวจคัดกรองทั่วไป หากพบความผิดปกติก็จะส่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อระบุตำแหน่ง ขนาด และชนิดของมะเร็งให้แน่ชัด ด้วยวิธีการดังนี้
4.เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นการใช้รังสีเอกซ์ร่วมกับคอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพของอวัยวะภายในตัว สามารถระบุตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็งได้
5.เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ใช้คลื่นแม่เหล็กและคลื่นวิทยุในการสร้างภาพของอวัยวะภายในร่างกาย มีความละเอียดสูงกว่า CT Scan
6.การตรวจเนื้อเยื่อวิทยา (Biopsy) เป็นการเจาะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือของเหลวจากก้อนเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง การตรวจชิ้นเนื้อถือเป็นวิธียืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอนที่
7.การผ่าตัดสำรวจช่องท้อง (Exploratory laparotomy หรือ Laparoscopy) เป็นการผ่าตัดเพื่อเปิดดูบริเวณช่องท้องและรังไข่โดยตรง ใช้ในกรณีที่มีข้อสงสัยและต้องการยืนยันการวินิจฉัยอย่างแน่ชัด โดยอาจจะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจด้วย ถือเป็นวิธีการตรวจที่แม่นยำที่สุด
แนวทางการ รักษามะเร็งรังไข่
แนวทางการรักษามะเร็งรังไข่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ระยะของโรค ประเภทและชนิดของมะเร็ง อายุและสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยทั่วไปจะใช้วิธีการรักษาหลัก ดังนี้
- การผ่าตัดรักษา เป็นวิธีการรักษาหลักสำหรับมะเร็งรังไข่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดเนื้องอกและมะเร็งออกจากร่างกายให้มากที่สุด ประเภทของการผ่าตัดขึ้นอยู่กับระยะของโรค ได้แก่
- การผ่าตัดตัดรังไข่ออกทั้งหมด (Total hysterectomy with bilateral salpingo-oophorectomy)
- การผ่าตัดเอาเนื้องอกออกเท่าที่จะทำได้ (Debulking surgery)
- การผ่าตัดเพื่อเอาอวัยวะอื่นๆ ที่มะเร็งแพร่กระจายไปถึงออกด้วย เช่น ลำไส้ ตับ ม้าม เป็นต้น
- เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจยังหลงเหลืออยู่ หลังจากผ่าตัดแล้ว โดยอาจจะให้ก่อนหรือหลังผ่าตัด ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ยาเคมีบำบัดที่นิยมใช้ ได้แก่ Carboplatin, Paclitaxel, Docetaxel, Gemcitabine เป็นต้น
- รังสีรักษา (Radiation therapy) ใช้รังสีความเข้มข้นสูงมากำจัดเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่ มักจะใช้ร่วมกับการผ่าตัดหรือเคมีบำบัด สำหรับผู้ป่วยระยะลุกลามหรือระยะสุดท้าย
- รักษาด้วยยาเฉพาะเจาะจง (Targeted therapy) เป็นการใช้ยาที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อวางเป้าไปที่เซลล์มะเร็ง โดยจะจำกัดผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติใกล้เคียง ได้แก่ ยากลุ่ม PARP inhibitors, Angiogenesis inhibitors เป็นต้น
- การรักษาประคับประคอง (Palliative care) สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แล้ว โดยมุ่งเน้นการบรรเทาอาการและรักษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีที่สุด
การผสมผสานหลายวิธีการรักษาเข้าด้วยกัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสการรักษาหายขาดให้สูงขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ และดุลยพินิจของแพทย์ร่วมด้วย
มะเร็งรังไข่ รักษาหายไหม ?
มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม โดยโอกาสการรอดชีวิตขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยดังนี้
- ระยะของโรคเมื่อแรกวินิจฉัย ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น (ระยะ 1) มีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 90% หลังการรักษา แต่หากวินิจฉัยในระยะลุกลามแล้ว (ระยะ 3-4) อัตรารอดชีวิตจะลดลงเหลือประมาณ 30% เท่านั้น
- ประเภทและชนิดของมะเร็ง ชนิดของเซลล์มะเร็งบางประเภท เช่น มะเร็งรังไข่ชนิดรังไข่ในกลุ่ม Epithelial มักตอบสนองต่อการรักษาได้ผลดีกว่าบางชนิด
- การแพร่กระจายของเนื้องอก หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ มากแล้ว จะทำให้รักษายากและรอดชีวิตน้อยลง
- อายุและสภาพร่างกาย ผู้ป่วยที่อายุน้อยและมีร่างกายแข็งแรงทนทานต่อการรักษาได้ดีกว่า
- วิธีการและความสม่ำเสมอในการรักษา การรักษาด้วยการผ่าตัดควบคู่กับเคมีบำบัด มีประสิทธิภาพสูงกว่าวิธีเดี่ยว และความสม่ำเสมอในการรักษาก็มีส่วนสำคัญต่อผลลัพธ์
อย่างไรหากได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกวิธีในระยะแรกเริ่มของโรค มะเร็งรังไข่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการเข้ารับการตรวจคัดกรองสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญ เพื่อตรวจจับโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดมากขึ้น
มะเร็งรังไข่ป้องกันได้หรือไม่ ?
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันมะเร็งรังไข่ที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด อย่างไรก็ตามมีบางวิธีที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่ได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
- ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่เป็นตัวกระตุ้นในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ และมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ ที่มีฝุ่น สารพิษ หรือรังสี
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ผ่านการปรุงแปรงมากเกินไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาน้ำหนัก
- การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร
ผู้หญิงที่เคยตั้งครรภ์และให้นมบุตรมีความเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่น้อยกว่า เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตรนั้น รังไข่จะหยุดพักการตกไข่ ลดการสร้างฮอร์โมนเพศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรค
- การใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน
การใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทานเป็นเวลานานอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่ได้ประมาณ 40-60% เนื่องจากยาคุมกำเนิดทำให้รังไข่หยุดการตกไข่ชั่วคราว
- การผ่าตัดตัดรังไข่หรือท่อนำไข่
ในบางกรณีที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่หรือมีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA อาจพิจารณาผ่าตัดตัดรังไข่หรือท่อนำไข่ออกเพื่อลดความเสี่ยงได้ (ขึ้นอยู่กับคนไข้และความคิดเห็นของแพทย์)
- การตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ
การคัดกรองเป็นวิธีป้องกันเพื่อให้เกิดความรุนแรง แม้จะไม่ได้ป้องกันโรคโดยตรง แต่ป้องกันความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งรังไข่ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยแนะนำให้ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจคัดกรองทุกปี
แม้มะเร็งรังไข่จะเป็นภัยเงียบ แต่การป้องกันโดยใช้วิธีต่าง ๆ ข้างต้นผสมผสานกัน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่ได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ หากพบความผิดปกติ รีบรักษาเร็ว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้
พญ.เนตร บุญคุ้ม
สูตินรีแพทย์ ประจำศูนย์สุขภาพหญิง รพ.พญาไท 3