อาการปวดหลังสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงานซึ่งอาการปวดหลังอาจส่งผล
กระทบต่อการดำเนินชีวิต เรียกได้ว่าไม่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น ที่ต้องทรมานกับอาการปวดหลัง ที่สำคัญคือมีกลุ่มคนวัยทำงานจำนวนมากเลยทีเดียว ที่เมื่อเผชิญกับอาการปวดหลัง มักหาซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาคลายกล้ามเนื้อ เพราะเชื่อว่าเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ มากกว่าสาเหตุจากปัญหากระดูกและข้อเสื่อมที่มักพบในผู้สูงอายุ
“ปวดหลัง” กิน “ยาคลายกล้ามเนื้อ” ปลอดภัยแค่ไหน?
ในปัจจุบันมีการรับประทานยาคลายกล้ามเนื้ออย่างแพร่หลาย เพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดแขน ปวดขา แก้เมื่อยล้าจากการทำงานหรือการออกกำลังกาย
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงเมื่อตัดสินใจรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อคือ ใช้ยา “ถูกโรค” หรือไม่กรณีมีปวดหลัง ต้องถามตัวเองก่อนว่าคุณมีอาการกล้ามเนื้อตึงผิดปกติหรือไม่ ถ้าไม่ตึงกล้ามเนื้อ แต่ปวดรุนแรงจนรู้สึกชา แต่คว้ายาคลายกล้ามเนื้อมารับประทานก็ถือว่าใช้ยาอย่างผิดวัตถุประสงค์ และหากใช้ติดต่อกันนานๆ ย่อมไม่ส่งผลดีแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวดธรรมดาอย่างพาราเซตามอล หรือยาคลายกล้ามเนื้อ จะต้องใช้ให้ “ถูกขนาด “ถูกเวลา” และ “ถูกโรค” ควรจะรับประทานแค่ 1 เม็ด หรือ 500 มิลลิกรัม ต่อครั้งเท่านั้น
ปวดหลังเรื้อรัง กินคลายกล้ามเนื้อบ่อยๆ ระวังผลข้างเคียง
ยาคลายกล้ามเนื้อ ไม่ใช่ยารักษารักษาอาการปวดหลังโดยเฉพาะ เพียงแต่สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการเจ็บปวดเฉียบพลัน เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหลังหดเกร็ง จำเป็นต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับการพักการใช้งานกล้ามเนื้อ หรือทำการบริหารกายภาพบำบัดร่วมได้
หากใช้ยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือใช้เกินขนาดอาจมีผลข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ อาเจียน หรือวิตกกังวลเมื่อหยุดยา บางชนิดอาจทำให้ หายใจลำบาก ใจสั่น อาจพบภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกไม่มีแรงทำงาน และอาจเป็นการแก้ปัญหาอาการปวดหลังที่ไม่ตรงจุด เพราะยาคลายกล้ามเนื้อไม่ได้รักษาคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่เจ็บที่เดียว แต่จะคลายทุกอย่างที่เป็นกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อส่วนอื่นอ่อนแรงลง
“ปวดหลังเรื้อรัง” ต้องหาสาเหตุ ที่แท้จริงก่อนรักษา
เป็นที่ทราบกันดีว่าอาการปวดหลังเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของกระดูกสันหลัง การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจาก
การเคลื่อนไหวร่างกาย ท่าทาง อิริยาบถ และการใช้งานหลังที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน เช่น ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ และชอบนั่งด้วยท่าทางแบบหลังงอ ก้มคอเข้าหาจอคอมพิวเตอร์ สามารถทำให้ปวดหลังได้ รวมไปถึงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น การยกของผิดท่า และหนักเกินไป อาจส่งผลให้เกิด หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ส่งผลต่อการปวดหลังเรื้อรัง
อุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา โดยได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อบริเวณหลัง จากการปะทะหรือกระแทก
ความผิดปกติของกระดูกสันหลัง อาจจะมีมาตั้งแต่กำเนิด เช่น โพรงกระดูกสันหลังตีบแต่กำเนิด กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังมีมากหรือน้อยผิดปกติ ภาวะเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ รวมไปถึง กระดูกสันหลังเสื่อมและเสียความมั่นคงแข็งแรงไป นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ ที่สามารถส่งผลให้เกิดการปวดหลังได้เช่นกัน เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้อง หรือมะเร็งที่มีการกระจายมายังกระดูกสันหลัง
อย่างไรก็ตามยาคลายกล้ามเนื้อควรต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองหรือบรรเทาอาการปวดด้วยยาพร่ำเพรื่อเกินไป ที่สำคัญคือต้องทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหลัง ซึ่งบางโรคบางอาการ การรับประทานยาอาจจะไม่ใช่การรักษาที่เหมาะสมและตรงจุด โดยเฉพาะอาการปวดหลังที่รุนแรงขึ้นเรื่อย เจ็บมากขึ้นเมื่อนอนราบ หรือ รู้สึกถึงอาการอ่อนแรงหรือชาที่ขา หรือมีปัญหาด้านการยืนหรือเดิน หากมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ทันที