อาการปวดหลังเป็นอาการทั่วไปที่มักเกิดขึ้นกับทุกคนได้ ด้วยเพราะพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ ที่ต้องนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ รวมถึงชอบทำอะไรเกินตัว เช่นเล่นกีฬา ออกกำลังกายหักโหม ยกของหนักเกินกำลัง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ แต่ทั้งนี้ อาการปวดหลังที่เกิดขึ้น บางทีก็อาจไม่ใช่แค่อาการปวดหลังธรรมดาๆ แต่เป็นสัญญาณของโรคอันตรายอย่าง “โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท” ที่ถึงแม้จะปัจจุบันจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้อง Microscope แต่การป้องกันตัวเองให้ไม่เสี่ยงป่วยเป็นโรคนี้ ก็ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ทำความรู้จัก โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
โดยปกติแล้ว หมอนรองกระดูกสันหลังของคนหนุ่มสาว หรือหมอนรองกระดูกสันหลังที่ยังสมบูรณ์ จะมีลักษณะ “นิ่ม” เพื่อยืดหยุ่นรองรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเดิน กระโดด หรือว่าเล่นกีฬา ซึ่งส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังนิ่ม ก็คือน้ำ ทั้งนี้ เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังถูกใช้งานหนัก เกินกำลัง และใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง จึงทำให้เกิด “ภาวะเสื่อม” เปอร์เซ็นต์ของน้ำในหมอนรองกระดูกสันหลังจึงลดลง แต่ทำให้จากที่เคยนิ่มและยืดหยุ่น ก็กลายเป็นแข็งและหดสั้นลง ทำให้เวลาเคลื่อนไหวแล้วหมอนรองกระดูกจึงไปกดทับเส้นประสาทส่วนต่างๆ ซึ่งถ้าไปกดทับส่วนใดก็จะมีอาการปวดบริเวณนั้นนั่นเอง
หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก
ที่พบมากในผู้สูงอายุ และคนหนุ่มสาวที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม
ปวดแบบไหน? เป็นสัญญาณเตือนภัยหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
เนื่องจากอาการปวด เป็นอาการพื้นฐานที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกโรค จึงทำให้บ่อยครั้ง เมื่อเกิดอาการปวดหลังขึ้นมา คนไข้หลายคนก็ไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท จึงไม่ได้เข้ามารับการรักษา ทำให้โรคทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น หากเกิดอาการปวดหลัง จึงจำเป็นต้องสังเกตให้ดีว่า เป็นอาการปวดธรรมดา หรือเป็นสัญญาณของโรคร้ายกันแน่ โดยอาการปวดที่เป็นสัญญาณเตือนภัยของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- มีอาการปวดร้าวไปด้านหลังเลยไปถึงต้นขา ปวดหลังร้าวลงขา
- มีอาการชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมกับอาการปวด
- อาการปวดมีความรุนแรงมากกว่าการปวดกล้ามเนื้อทั่วไป
- เวลาไอ หรือจาม แล้วมีอาการปวด คือสัญญาณอันตรายที่ชัดเจน
พฤติกรรมแบบไหน ทำให้เสี่ยงภัยหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทมากขึ้น
โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มผู้ใหญ่ไปจนถึงกลุ่มผู้สูงวัย หรืออายุตั้งแต่ราว 40 ปีขึ้นไป กับอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่ชอบออกกำลังกายหนักๆ ชอบกิจกรรมโลดโผน เคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน รวมถึงเหล่าคนทำงานออฟฟิศ ที่นั่งทำงานนานๆ ในท่าที่ไม่ถูกสุขลักษณะด้วย ทั้งนี้หากให้สรุปภาพรวมของพฤติกรรมที่เสี่ยงทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วที่เราควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
- ยกของหนักมากเกินไป หรือยกของหนักในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ
- งอหลัง ก้มหลัง ก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ
- ทานอาหารเกินปริมาณจนทำให้มีน้ำหนักตัวมาก
- นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
- ชอบเล่นกีฬาโลดโผน ที่ต้องมีการกระโดด กระแทก และกระเทือนหลังบ่อยๆ
วิธีการผ่าตัดรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
ในเบื้องต้นเมื่อแพทย์ทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ สอบถามอาการ และทำการทำเข้าเครื่อง MRI แล้ว สำหรับบางรายที่ยังเป็นไม่มาก ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องผ่าตัด แพทย์ก็จะรักษาด้วยการให้ยารับประทาน ร่วมกันกับการทำกายภาพบำบัด แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น และมีการปวดรุนแรงขึ้น การผ่าตัดจะเป็นหนทางสุดท้ายที่จะช่วยหยุดยั้งภาวะของโรคได้อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ในปัจจุบันการผ่าตัดรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก หรือ Microscopic Spine Surgery ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ใช้กล้องขนาดเล็กส่องเข้าไปยังจุดเกิดเหตุ โดยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องนี้ มีข้อดี คือ
- เป็นการผ่าตัดแผลเล็ก เปิดปากแผลเพียงแค่ 1-2 ซม. และนำกล้องพร้อมเครื่องมือผ่าตัดเฉพาะสอดเข้าไปทำการผ่าตัด
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ทำให้พบจุดเกิดขึ้นได้แม่นยำ ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- เมื่อเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก จึงทำให้เสียเลือดน้อย เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว กลับบ้านได้เร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายในการพักฟื้น
- เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ได้ไวขึ้น
หลังการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทผ่านกล้อง Microscope ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่เพื่อเป็นการควบคุมความปลอดภัย ในช่วงระยะแรก ผู้ป่วยก็ยังจำเป็นต้องพักฟื้นและรับการทำกายภาพบำบัดอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ทั้งนี้ ในกระบวนการรักษาหลังผ่าตัด จะเน้นในเรื่องของการฟื้นฟูร่างกายและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ท่วงท่าในการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ นั่ง เดิน นอน การยกของ เพื่อไม่ให้กลับเป็นซ้ำได้อีก
รู้หรือไม่!!
การสะพายกระเป๋าหนักๆ การใส่รองเท้าส้นสูง การสูบบุหรี่
3 พฤติกรรมนี้ มีส่วนทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วกว่าปกติ ซึ่งเมื่อหมอนรองกระดูสันหลังเสื่อมแล้ว ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทให้มีมากขึ้น
นพ.ธีรชัย ผาณิตพงศ์
ศัลยแพทย์ศูนย์สมองและกระดูกสันหลัง
โรงพยาบาลพญาไท 3