มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือที่รู้จักกันว่า ลูคีเมีย (Leukemia) เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนมีการเจริญเติบโตในอัตราที่มากกว่าปกติอย่างไม่ทราบสาเหตุและแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้งในไขกระดูก จนรบกวนการทำงานของไขกระดูกในภาวะปกติ ทั้งในส่วนของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด จนเกิดอาการแสดงที่เด่นชัด มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่รู้จักกันมักเป็น มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เนื่องจากมีการดำเนินโรคที่รวดเร็วและรุนแรงถึงแก่ชีวิต พบได้ทุกเพศทุกวัย และยิ่งพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ
สาเหตุยังไม่เป็นที่แน่ชัดของการเกิดโรค แต่คาดว่าปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เช่น การได้รับรังสีขนาดสูงไม่ว่าด้วยวิธีใด ได้รับยาเคมีบำบัดจากการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ เนื่องด้วยยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ได้รับสารเคมีจากแหล่งอื่น เช่น สารเคมีในกลุ่มพวกเบนซีนจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและยาฆ่าแมลงบางชนิด น้ำยาย้อมผม โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่ออุบัติการณ์เกิดมะเร็งได้ทุกชนิดรวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคไขกระดูกเสื่อมและทำงานผิดปกติแรกเริ่ม
อาการมะเร็งเม็ดเลือดขาว คือ อาการที่บ่งชี้การทำงานของไขกระดูกบกพร่อง โดยปกติไขกระดูกมีเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เมื่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนมากขึ้นในไขกระดูกจะรบกวนการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆดังกล่าว เกิดเป็นอาการที่นำมาพบแพทย์ ดังนี้
- เม็ดเลือดแดง: อ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืด เหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด ผมร่วง
- เม็ดเลือดขาว: ไข้ต่ำๆหรือไข้สูง ติดเชื้อบ่อย อ่อนเพลีย
- เกล็ดเลือด: เลือดออกง่ายกว่าปกติรวมถึงภาวะเลือดหยุดยากเมื่อมีบาดแผล จุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามร่างกาย
- อาการภายนอกไขกระดูก: เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำได้ก้อนตามร่างกายโตขึ้น ตับหรือม้ามโตบางครั้ง
ปัญหาสุขภาพดังกล่าวนำมาสู่การพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อการวินิจฉัย จากการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดหาความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด รวมทั้งการเจาะไขกระดูกเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและเก็บตัวอย่างไขกระดูกเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและบอกพยากรณ์ของโรคก่อนการเริ่มการรักษา จากน้ำไขกระดูกและชิ้นเนื้อไขกระดูก หลายครั้งที่ผู้ป่วยมักปฏิเสธการเจาะไขกระดูกเนื่องด้วยสับสนกับการเจาะนำไขสันหลัง กังวลเรื่องจากใช้ชีวิตหลังทำหัตถการ ทำให้พลาดโอกาสในการรักษาให้หายขาด การเจาะไขกระดูกเป็นคนละวิธีการกับการเจาะน้ำไขสันหลัง ไม่กระทบต่อการเดินและไม่นำไปสู่การเป็นอัมพาตในภายหลัง ระยะเวลาในการทำหัตถการ 20-30 นาที สามารถทำได้ทุกวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวพบบ่อยในผู้สูงอายุดังที่กล่าวไป สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้หากไม่มีข้อบ่งชี้อื่นในการนอนโรงพยาบาล
ก่อนเริ่มการรักษาต้องมีทีมแพทย์ประเมินชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว อายุ โรคประจำตัวที่มีอยู่และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และข้อจำกัดของการรักาาในแต่ละวิธี ก่อนแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยและญาติ ได้แก่
เคมีบำบัด นับเป็นการรักษามาตรฐานของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (มะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะเรื้อรัง ยารับประทานเป็นการรักษาหลัก) ในการทำลายเซลล์มะเร็งผิดปกติที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็วให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดปกติขึ้นมาทดแทนใหม่ในไขกระดูก มักใช้ยาเคมีบำบัดหลายรูปแบบร่วมกันทั้งชนิดกิน ฉีดเข้าหลอดเลือดดำและฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง หลักการรักษาสำคัญคือต้องใช้เคมีบำบัดร่วมกันหลายชนิดเพื่อ
เพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาและลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัดตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป พิจารณาจากชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวและความรุนแรงของโรค รวมถึงสมรรถภาพของผู้ป่วยด้วย ผลข้างเคียงต่อยาเคมีบำบัดจะปรากฎชัดเจนในเซลล์ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็วในอวัยวะนั้นๆ อาเจียน ถ่ายเหลว แผลในปาก จากเยื่อบุทางเดินอาหารถูกทำลาย เหนื่อย อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดต่างๆมากขึ้น จุดเลือดออกตามร่างกาย เนื่องจากเซลล์ในไขกระดูกถูกทำลายหรือไขกระดูกถูกกดการทำงาน ผมร่วงจากเซลล์ราผมถูกทำลาย
การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง หรือที่เรียกว่า “ยาพุ่งเป้า” เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติหรือทำลายเซลล์ปกติน้อยมาก เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาที่มากขึ้นและลดอาการข้างเคียงจากการทำลายเซลล์ปกติ (มักใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด) ถือได้ว่าเป็นการรักษามาตรฐานของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติหรือทำลายเซลล์ปกติน้อยมาก เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาที่มากขึ้นและลดอาการข้างเคียงจากการทำลายเซลล์ปกติ (มักใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด) ถือได้ว่าเป็นการรักษามาตรฐานของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หรือปลูกถ่ายไขกระดูก วิธีนี้เริ่มจากนำเซลล์ต้นกำเนิดสำหรับการสร้างเม็ดเลือดจากเลือดหรือไขกระดูกของตัวผู้ป่วยเอง ญาติพี่น้องหรือผู้บริจาค ที่เข้ากันได้กับผู้ป่วย มาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยหลังจากได้รักษาจนโรคอยู่ในระยะสงบเพื่อลดโอกาสกลับเป็นซ้ำ จะไม่ใช้กระบวนการนี้หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจนโรคสงบ เนื่องจากในกระบวนการนี้ต้องใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อทำลายเซลล์ในไขกระดูกเดิมให้หมดไป ก่อนที่จะใส่เซลล์ต้นกำเนิดแก่ผู้ป่วย
ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ระหว่างการรักษาต้องมีการประเมินผลข้างเคียงจากการรักษาในทุกมิติ อาจมีการประคับคับประคองโดยการให้ได้เลือดและเกล็ดเลือด รวมถึงยารักษาตามอาการเพื่อลดผลข้างเคียง เช่น ยาแก้อาเจียน ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว เป็นต้น และประเมินการตอบสนองต่อการรักษาเป็นระยะ ก่อนเริ่มกระบวนการถัดไปของการรักษา
กรณีที่รักษาจนโรคอยู่ในระยะสงบแล้ว แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการและเจาะเลือดเพื่อประเมินผลร่วมกัน เป็นระยะๆในช่วงปีแรกตามความเหมาะสม ถ้าผลตรวจปกติ จะนัดตรวจติดตามทุก 3-6 เดือนอย่างน้อย 5 ปี จึงจะถือว่าหายขาดจากโรค โดยโอกาสกลับเป็นซ้ำจะลดลงเมื่อเวลานานขึ้น แต่เมื่อเกิน 5 ปี ยังมีการตรวจติดตามคัดกรองโรคประจำตัวร่วมอื่นๆร่วมกับคัดกรองมะเร็งชนิดอื่นตามสมควร ยึดหลักการดูแลสุขอนามัยและรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนในภายหลังการรักษา โดยเฉพาะปัจจุบันที่พบการติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง การใส่หน้ากากอนามัย การไม่ควรอยู่ในที่แออัด หรือการระบายอากาศไม่ดี ช่วยลดโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจดังกล่าวได้ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและปรุงสุกด้วยความร้อน ตระหนักถึงความสะอาดเสมอในกรรมวิธีการทำอาหาร ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด เพื่อลดโอกาสติดเชื้อทางเดินอาหาร ดื่มน้ำสะอาดมากๆ
การรับการประเมินและวางแผนการรักษาร่วมกันระหว่างทีมแพทย์กับผู้ป่วยและครอบครัวคือหลักสำคัญในการรักษา
บทความโดย นายแพทย์ศิริวิชญ์ สมานวรกิจ ศูนย์มะเร็งและโรคเลือดชั้น 14 โทร 02-4671111 ต่อ 1461
ให้คำปรึกษาโดยพยาบาลชำนาญการ 081-9376906