หลายคนอาจคุ้นเคยกับโรคเนื้องอกกันบ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือตามข่าแวดวงทางการแพทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเนื้องอกชนิดร้ายแรงอย่างมะเร็ง ที่นับวันก็จะยิ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากขึ้นในแต่ละปี แต่ทั้งนี้คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบว่า “เนื้องอก” นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ที่ “กระดูก” ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับโรคเนื้องอกกระดูกและระบบประสาทไขสันหลัง ที่ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จึงเป็นการดีที่เราจะทำความรู้จักกับโรคเนื้องอกกระดูกและระบบประสาทไขสันหลังเอาไว้ เพื่อป้องกันตัวเราเองให้ปลอดภัยจากโรคร้ายนี้มากยิ่งขึ้น
ทำความรู้จัก โรคเนื้องอกที่กระดูกและระบบประสาทไขสันหลัง
เนื้องอกที่กระดูกและระบบประสาทไขสันหลัง หรือ Spinal Cord Tumors ถือเป็นโรคเนื้องอกที่ระบบประสาท ที่พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 20 ของเนื้องอกระบบประสาททั้งหมดในร่างกาย ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด โดยแบ่งตามตำแหน่งการเกิด อาทิ
เนื้องอกในเนื้อไขสันหลัง พบไม่ค่อยบ่อยมากนัก แต่ถ้าเกิดจะเกิดในบริเวณไขสันหลังส่วนคอ ถือเป็นเนื้องอกระบบประสาทไขสันหลังที่ทำการผ่าตัดรักษายากที่สุด เพราะอยู่ในตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการพิการสูงที่สุด เนื้องอกในเยื่อหุ้มไขสันหลัง เนื้องอกนอกเยื่อหุ้มไขสันหลัง เนื้องอกที่กระดูกสันหลังแล้วลุกลามเข้าไปกดทับไขสันหลัง และเนื้องอกจากอวัยวะส่วนอื่นที่ลุกลามไปจนมีผลกระทบต่อไขสันหลัง เป็นต้น ทั้งนี้ เนื้องอกที่กระดูกและระบบประสาทไขสันหลัง ก็มีชนิดที่เป็นเนื้อร้าย คือ เป็นมะเร็ง เหมือนกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
สังเกตอาการอย่างไร ถึงรู้ว่ากำลังเสี่ยงภัยโรคเนื้องอกกระดูกและระบบไขสันหลัง
เนื่องจากตำแหน่งของการเกิดเนื้องอกที่กระดูกและระบบประสาทไขสันหลังนั้น มีอยู่หลายที่ จึงทำให้อาการที่เป็นสัญญาณบ่งชี้โรคมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถสังเกตอาการได้ตามตำแหน่งที่เกิดเนื้องอกได้ ดังนี้
เนื้องอกที่กระดูกและระบบประสาทไขสันหลังส่วน “คอ”
- มีอาการปวดต้นคอ โดยปวดแบบร้าวลงไปที่แขนข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
- มีอาการชา หรือ อาการอ่อนแรง ที่แขนหรือมือร่วมด้วย หรือบางรายก็ทั้งชาและอ่อนแรง
- ในผู้ป่วยที่อาการหนัก อาการชาและอ่อนแรงอาจลุกลามไปที่ขา และอาจมีปัญหาในระบบขับถ่ายร่วมด้วย
เนื้องอกที่กระดูกและระบบประสาทสันหลังส่วน “อก” หรือ “กลางลำตัว”
- มีอาการปวดร้าวตามชายโครง รู้สึกแน่น อึดอัด และปวดแบบรัดๆ
- ตั้งแต่ช่วงลำตัวลงไป จะมีอาการชา หนึบ
- ในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ขาจะอ่อนแรง ชา และมีปัญหาระบบขับถ่ายร่วมด้วย
เนื้องอกที่กระดูกและระบบประสาทสันหลังส่วน “เอว”
- มีอาการปวดเอว โดยจะปวดร้าวลงไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
- มีอาการชา และอ่อนแรงที่ขาร่วมด้วย
- ในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก จะพบปัญหาระบบขับถ่ายร่วมด้วย
วิธีการผ่าตัดรักษาโรคเนื้องอกที่กระดูกและระบบประสาทไขสันหลัง
เนื่องจากโรคเนื้องอกที่กระดูกและระบบประสาทไขสันหลังนั้น มีความเกี่ยวพันกับตำแหน่งของการเกิดโรคเป็นสำคัญ การวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องทำอย่างรอบคอบและให้แม่นยำ เพื่อทำการรักษาได้อย่างถูกต้องตรงจุด โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยทำ CT Scan และ MRI เพื่อทำการตรวจโครงสร้างของกระดูกสันหลัง และหารายละเอียดตำแหน่งเกิดโรคที่ระบบประสาทไขสันหลัง รวมถึงเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียง ซึ่งเมื่อพบแล้ว แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก หรือ Minimally invasive spine surgery เพื่อให้กระดูก ระบบประสาท และเนื้อเยื่อบริเวณกระดูกสันหลัง ได้รับความบอบช้ำน้อยที่สุด อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วและหายเป็นปกติได้ไวขึ้น
ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคเนื้องอกกระดูกและระบบประสาทไขสันหลัง
- โดยทั่วไปจะไม่ใช่เนื้อร้าย เมื่อผ่าตัดแล้วจะหายขาดเป็นปกติ
- ความอันตรายของโรคนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดเนื้องอก โดยหากเกิดตำแหน่งสูงบริเวณคอ จะมีโอกาสเสี่ยงพิการสูง
- เมื่อพบอาการปวดหลังที่น่าสงสัยควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ไม่ควรทิ้งระยะเวลาเอาไว้ เนื่องจากอาการป่วยก่อนรับการรักษา มีผลต่อผลลัพธ์ของการรักษา โดยหากอาการหนักถึงขั้นปวดจนแขนขาอ่อนแรง ชา หรือปวดจนขยับไม่ได้ แล้วมารับการรักษา โอกาสที่หลังผ่าตัดแล้วจะกลับมาหายปกติเดินได้อีกครั้งก็จะมีน้อยตามลงไปด้วย
- การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก คือ การผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลง และเกิดผลข้างเคียงต่อการสร้างความกระทบกระเทือนเนื้อเยื่อไขสันหลังบริเวณโดยรอบน้อยลง
พบอาการปวดหลังผิดปกติอย่านิ่งนอนใจ เพราะหากเข้ารับการวินิจฉัยช้าเกินไปเราอาจเดินไม่ได้อีกเลย