อิ๊กซี่ (ICSI) คืออะไร ? ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากได้อย่างไร ? ใครที่กำลังประสบปัญหามีบุตรยาก ทำมาหลายวิธีแล้วไม่สำเร็จ “อิ๊กซี่” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้
ICSI หรือ อิ๊กซี่ คืออะไร ? ใช่เด็กหลอดแก้วหรือไม่ ? ต่างจากวิธีอื่น ๆ อย่างไร? มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ? ทำในผู้หญิงหรือผู้ชาย ? โอกาสสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ? เหมาะกับใครบ้าง ? มีขั้นตอนอย่างไร ? ราคาแพงไหม ? ตอบทุกข้อสงสัยที่อยากรู้แบบเจาะลึก ในบทความนี้
สารบัญ อิ๊กซี่ ICSI
1. อิ๊กซี่ ICSI คืออะไร ?
2. อิ๊กซี่ (ICSI) กับ IVF แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?
3. การทำ ICSI เหมาะกับใคร ?
4. ข้อดี-ข้อจำกัด ของการทำ ICSI
5. ทำ ICSI โอกาสสำเร็จมากแค่ไหน ?
- ทำ ICSI แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เกิดจากสาเหตุใด ?
6. วิธีการเตรียมตัวสำหรับการทำ ICSI
- การเตรียมตัว ฝ่ายหญิง
- การเตรียมตัวฝ่ายชาย
7. ขั้นตอนการทำ ICSI อย่างละเอียด
8. เมื่อไหร่จะรู้ผลการตั้งครรภ์ จากการทำ ICSI ?
9. ทำ ICSI ที่ศูนย์ผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาล พญาไท 3 ดีอย่างไร ?
10. คำถามที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับการทำ ICSI
อิ๊กซี่ ICSI คืออะไร ?
อิ๊กซี่ (ICSI) หรือ Intracytoplasmic Sperm Injection คือ กระบวนการที่ช่วยเจริญพันธุ์ในผู้มีบุตรยาก โดยการคัดเลือกตัวอสุจิ (Sperm) ที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ผสมกับไข่ (Ovum) และปฏิสนธิจนกลายเป็นตัวอ่อน (Embryo) จากนั้นจะเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ และย้ายตัวอ่อนเข้าไปที่โพรงมดลูก เพื่อให้เจริญเติบโตต่อไปในครรภ์จนถึงวันกำหนดคลอด เป็นหนึ่งในวิธีการทำเด็กหลอดแก้วเพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์
ปัจจุบัน อิ๊กซี่ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology: ART) เพื่อรักษาผู้มีบุตรยาก ที่ได้รับความนิยมมากในประเทศไทย และเป็นยอมรับในทางการแพทย์ทั่วโลก เพราะมีโอกาสมีลูกได้สำเร็จสูงกว่าวิธีอื่น ๆ ช่วยให้คู่รักที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก เข้าเส้นทางสู่การเป็นพ่อแม่ได้สมปรารถนา
อิ๊กซี่ (ICSI) กับ IVF แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?
ICSI กับ IVF เป็นเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์เพื่อรักษาผู้มีบุตรยากเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่วิธีปฎิสนธิของไข่และอสุจิ โดยมีกระบวนการที่ต่างกันดังนี้
● ICSI
การทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) เป็นการคัดเอาตัวอสุจิที่มีความแข็งแรงที่สุด ผ่านการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์และฉีดเข้าไป เพื่อให้ผสมกับไข่แบบเจาะจงด้วยเข็มขนาดเล็ก พอผสมกันแล้วจะนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการด้วยน้ำยาเลี้ยงพิเศษ จากนั้นเมื่อตัวอ่อนพัฒนาไปอยู่ในระยะที่เหมาะสมแล้ว ก็จะนำเข้าไปใส่ในโพรงมดลูกเพื่อให้มีการตั้งครรภ์ต่อไป
● IVF
การทำ IVF (In-Vito Fertilization) หรือที่เรียกกันว่าการทำเด็กหลอดแก้ว ivf คือ การนำอสุจิออกมาเพาะเลี้ยงไว้กับไข่แต่ละใบโดยจะคัดไข่และอสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรงที่สุด แล้วให้สเปิร์มเลือกเข้าไปเจาะไข่เองตามธรรมชาติ เมื่อเกิดการปฏิสนธิจนเป็นตัวอ่อน จะนำกลับเข้าไปที่โพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์แบบปกติต่อไป
การทำ ICSI เหมาะกับใคร ?
การทำ ICSI เหมาะสำหรับคู่รักที่มีปัญหาเกี่ยวกับความเจริญพันธุ์ โดยมีสาเหตุจาก
- คู่สมรสที่ไม่สามารถมีบุตรได้ภายใน 1 ปี ทั้งที่มีเพศสัมพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้คุมกำเนิด
- คู่สมรสฝ่ายหญิงที่มีอายุมาก (มากกว่า 35 ปี)
- คู่สมรสฝ่ายหญิงมีประวัติการแท้งหลายครั้ง โดยไม่ทราบสาเหตุ
- คู่สมรสที่ฝ่ายชายมีคุณภาพของอสุจิที่ผิดปกติ มีน้ำเชื้ออสุจิน้อยมาก หรือ อสุจิไม่แข็งแรง
- คู่สมรสผู้ที่เคยรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อื่น ๆ มาแล้วแต่ไม่สำเร็จ เช่น การนับวันมีเพศสัมพันธ์, การทำ IVF, การทำ GIFT และ การทำ IUI
- คู่สมรสที่มีประวัติโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมในครอบครัว เช่น โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) หรือเคยคลอดบุตรที่ทารกมีความผิดปกติทางพันธุกรรม
- คู่สมรสที่ผ่านการทำหมัน สามารถใช้วิธีการทำ ICSI เพื่อกลับมาตั้งครรภ์ได้ ได้โดยไม่ต้องผ่าตัดแก้หมัน
- ฝ่ายหญิงผ่านการทำหมัน (Female sterilization) ด้วยการผูกท่อนำไข่ ตัดท่อนำไข่ หรือทำให้ท่อนำไข่อุดตัน
- ฝ่ายชายที่ทำหมัน (Vasectomy) ด้วยการผูกท่อนำน้ำอสุจิไปแล้ว
ข้อดี-ข้อจำกัด ของการทำ ICSI
ข้อดี การทำ ICSI
- การทำอิ๊กซี่ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น : เนื่องจากการทำอิ๊กซี่เป็นการฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในไข่โดยตรง ทำให้สามารถเพิ่มโอกาสปฏิสนธิเพิ่มขึ้น
- การทำอิ๊กซี่ สามารถทำได้ในทุกกลุ่มอายุ
- อิ๊กซี่ช่วยลดความเสี่ยงทารกมีความผิดปกติ : ในกระบวนการทำอิ๊กซี่ มีขั้นตอนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกาย ทำให้เราสามารถตรวจคัดกรองความผิดปกติของตัวอ่อน ด้วยการนำไปตรวจโครโมโซม ซึ่งทำให้ทราบว่าตัวอ่อนมีความผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม ธาลัสซีเมีย
- การทำอิ๊กซี่สามารถเก็บตัวอ่อนได้นานกว่า 10 ปี : ตัวอ่อนและไข่ จากการทำอิ๊กซี่ สามารถแช่แข็งเก็บไว้ได้นานถึง 10 ปี เช่นเดียวกับการเก็บไข่และน้ำเชื้อ ช่วยให้คู่สมรสที่ยังไม่พร้อม แต่กังวลเรื่องอายุที่มากขึ้น จะทำให้มีลูกยาก ก็สามารถทำอิ๊กซี่เพื่อเก็บตัวอ่อนเอาไว้ก่อนได้
อ่านบทความเพิ่มเติม : 4 ประโยชน์ ของการแช่แข็งตัวอ่อน
ข้อจำกัดการทำ ICSI
- การทำอิ๊กซี่ แม้จะเป็นมีการปฏิสนธิโดยการใช้อสุจิฉีดโดยตรง แต่ก็มีโอกาสปฏิสนธิไม่สำเร็จเช่นกัน
- การทำอิ๊กซี่มีโอกาสแท้งได้เหมือนกับตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของฝ่ายหญิงขณะตั้งครรภ์
- มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ตั้งครรภ์นอกมดลูก การคลอดก่อนกำหนด ได้เช่นเดียวกับการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ
ทำ ICSI โอกาสสำเร็จมากแค่ไหน ?
ในบรรดาเทคโนโลยีรักษาภาวะการมีบุตรยาก การทำอิ๊กซี่นับว่ามีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุด Success Rate เฉลี่ย 70-85 % ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับอายุของฝ่ายหญิงด้วย หากอายุมากเกิน 35 ปี โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จอาจลดลง
โอกาสตั้งครรภ์และคลอดได้สำเร็จยังขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเอง และสุขภาพของคุณแม่ในระหว่างอุ้มท้องร่วมด้วย ในกรณีที่อายุมาก หรือมีภาวะเสี่ยงอื่น ๆ หากอยู่ในการดูแลของแพทย์ตลอดขั้นตอนและเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี ICSI อย่างเหมาะสม กับโรงพยาบาลและทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จที่มากขึ้น
ทำ ICSI แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เกิดจากสาเหตุใด ?
การทำ ICSI ไม่ได้การันตีความสำเร็จ 100 % โดยสาเหตุที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จได้ แก่
- อายุที่มากขึ้น ของฝ่ายหญิง หรือฝ่ายชาย
- อายุฝ่ายหญิง : หากอายุของฝ่ายหญิงมากกว่า 35 ปี มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของรังไข่ ทำให้ไข่เสื่อมคุณภาพ รวมถึงมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่ได้น้อย แม้พยายามกระตุ้นไข่มาก ๆ ก็อาจทำให้คุณภาพของไข่แย่ลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังคุณภาพของตัวอ่อน
- ความผิดปกติของตัวอ่อนด้านสารพันธุกรรมหรือโครโมโซม ในกระบวนการทำ ICSI แม้จะทำจนได้ตัวอ่อนที่คุณภาพดีแล้ว แต่เมื่อย้ายตัวอ่อนเข้าไปโพรงมดลูกกลับไม่ตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของโครโมโซม
- ตัวอ่อนไม่ฝังตัวแม้การทำ ICSI สามารถปฏิสนธิตัวอ่อนนอกร่างกายได้แล้ว แต่เมื่อถึงขั้นตอนย้ายเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูก กลับไม่ฝังตัว ซึ่งเกิดได้จากโพรงมดลูกไม่หนาตัว ไม่แข็งแรง ไม่มีเลือดนำสารอาหารไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ หรือมีความผิดปกติในการสร้าง ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (ฮอร์โมนตั้งครรภ์) ส่งผลให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัวหรือแท้งในระยะเริ่มต้นได้อย่างไรก็ตามสาเหตุเหล่านี้สามารถป้องกันและเบื้องต้นก่อนได้ ด้วยการตรวจภายในอย่างละเอียด ก่อนเข้าสู่กระบวนการทำอิ๊กซี่ ค้นหาความผิดปกติ หรือความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ยาก หรือ ทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ยากในอนาคต และทำการแก้ไขก่อนเริ่มขั้นตอนทำอิ๊กซี่
วิธีการเตรียมตัวสำหรับการทำ ICSI
วิธีการเตรียมตัวสำหรับการทำ ICSI จะต้องได้รับความร่วมมือทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เพื่อให้ร่างกายพร้อม กับการตั้งครรภ์มากที่สุด โดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
การเตรียมตัว ฝ่ายหญิง
ควรดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ทั้งเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย รวมถึงการพักผ่อน
- ควรเน้นทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ผัก ผลไม้ และอาหารปรุงสดใหม่
- ลดอาหารที่มีไขมันสูง แป้ง น้ำตาล และอาหารประเภทของหมัก ของดอง อาหารแปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ 30-45 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนก่อนเวลา 4 ทุ่ม และมีระยะการนอนให้ได้นาน 7-8 ชั่วโมง ต่อวัน เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หลั่งฮอร์โมนที่สำคัญและจำเป็นออกมาอย่างเป็นปกติ
ทั้งนี้การเตรียมตัวให้พร้อมของฝ่ายหญิง เพื่อทำการเก็บไข่ จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอื่น ๆ จากแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น
- รับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมตามแพทย์แนะนำ ก่อนการเก็บไข่ และการตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้ฝ่ายหญิงรับประทานวิตามินและอาหารเสริมบางกลุ่ม เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับร่างกาย และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดกับทารกได้
การเตรียมตัวฝ่ายชาย
การเตรียมตัวของฝ่ายชายก่อนการทำ ICSI มีเป้าหมายหลัก คือ สร้างคุณภาพของอสุจิที่เหมาะกับการปฏิสนธิ โดยวิธีการเตรียมตัวของฝ่ายชายจะคล้ายฝ่ายหญิงดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นรับประทานโปรตีน ลดไขมัน ของหวาน น้ำตาล แอลกอฮอล์ และอาหารแปรรูป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- งดดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า
ขั้นตอนการทำ ICSI
ขั้นตอนการทำ ICSI มีความละเอียดอ่อน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนก่อนทำ ระหว่างทำ กระทั้งหลังการทำ ICSI โดยมีรายละเอียดแต่ละขั้นตอนดังนี้
5 ขั้นตอนสำคัญก่อนทำอิ๊กซี่
1. การตรวจร่างกาย (Physical examination)
ก่อนเข้ารับการทำอิ๊กซี่ คู่สมรสจะต้องทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อประเมินความพร้อมก่อนเข้าสู่กระบวนการทำอิ๊กซี่ เช่น
- เจาะเลือดดูความสมบูรณ์ของเลือด ตรวจโรคติดเชื้อ เช่น เชื้อเอชไอวี (HIV) เชื้อซิฟิลิส (VDRL) เชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)
- วัดปริมาณฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย ที่มีผลต่อกระทบในกระบวนการกระตุ้นไข่
- ตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อดูความผิดปกติบริเวณรังไข่และมดลูก เช่น การหาก้อนซีสต์ที่รังไข่ หรือเนื้องอกที่มดลูก ว่ามีหรือไม่ ถ้ามี มีขนาดเล็กหรือใหญ่แค่ไหน และอยู่ในตำแหน่งที่อันตรายหรือไม่ หากพบจะต้องได้รับการดูแลแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเสียก่อน
- ฝ่ายชายจะมีการตรวจคุณภาพเชื้ออสุจิ
2. การฉีดยาและฮอร์โมนกระตุ้นไข่ (Ovulation stimulation)
เมื่อผลการตรวจร่างกายไม่มีปัญหา สุขภาพร่างกายพร้อมสำหรับการทำอิ๊กซี่ ก็จะเข้าสู่กระบวนการ กระตุ้นไข่ ด้วยการฉีดยาและฮอร์โมนกระตุ้นไข่ เพื่อให้ไข่ในรังไข่ของฝ่ายหญิงโตขึ้นจนได้ขนาดที่พอเหมาะ ซึ่งฮอร์โมนที่ใช้ฉีดกระตุ้นไข่มีหลายแบบโดยแพทย์จะเรียงลำดับการฉีดอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับการดูดเก็บไข่
3. การติดตามการเจริญเติบโตของไข่ (Positive ovulation follow up)
หลังฉีดยากระตุ้นไข่ไปแล้ว แพทย์จะมีการติดตามผล เช็คการตอบสนองของรังไข่ต่อฮอร์โมน โดยสามารถประเมินได้จากการวัดระดับของฮอร์โมนในเลือด รวมทั้งการตรวจนับจำนวนและขนาดของฟองไข่และวัดความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก ด้วยการทำตรวจอัลตราซาวนด์ (Transvaginal ultrasound) ว่ามีความสมบูรณ์พร้อมหรือไม่
4. กระบวนการเก็บไข่ (Egg retrieval)
เมื่อถึงกำหนดไข่ตก ก็จะเข้าสู่กระบวนการเก็บไข่ วิธีการเก็บแพทย์จะทำภายใต้การดมยาสลบก่อนทำการสอดเข็มขนาดเล็ก สอดเข้าไปที่รังไข่ แล้วใช้เข็มเจาะดูดเซลล์ไข่ออกมาทำการเพาะเลี้ยง เพื่อให้พร้อมสำหรับการปฏิสนธิ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้การอัลตราซาวด์เพื่อดูตำแหน่งไข่ให้ชัดเจน
5. การเก็บอสุจิของฝ่ายชาย (Sperm collection/Sperm Retrieval)
การเก็บอสุจิฝ่ายชาย โดยทั่วไปจะนัดในวันเดียวกับการวันเก็บไข่ของฝ่ายหญิง โดยก่อนนัดวันเก็บแพทย์จะแนะนำให้ฝ่ายชายงดการมีเพศสัมพันธ์ งดการช่วยตัวเอง งดการหลั่งน้ำอสุจิทุกรูปแบบประมาณ 2-3 วันก่อนขั้นตอนการเก็บอสุจิ
วิธีการเก็บฝ่ายชายที่มีสุขภาพแข็งแรง สมรรถภาพทางเพศสมบูรณ์ ต้องช่วยตัวเองให้หลั่งลงในภาชนะปลอดเชื้อที่เตรียมไว้ ภายในห้องส่วนตัว จากนั้นสเปิร์มจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเชื้อ ทีมแพทย์จะคัดอสุจิตัวที่สมบูรณ์ที่สุด แข็งแรงที่สุด และมีการเคลื่อนไหวดีออกมา เพื่อเติมสารอาหารหล่อเลี้ยง และเพิ่มความรวดเร็วในการเคลื่อนไหวก่อนทำการฉีดสเปิร์มเข้าสู่ไข่เพื่อไปปฏิสนธิต่อไป
ในกรณีที่ฝ่ายชายมีปัญหาด้านสมรรถภาพทางเพศ หรือผ่านการทำหมัน แพทย์จะใช้วิธีการเก็บตัวอสุจิโดยตรงจากอัณฑะ ก่อนที่จะนำมาฉีดเข้ากับไข่ของฝ่ายหญิงเพื่อช่วยให้การปฏิสนธิ
ขั้นตอนระหว่างการทำอิ๊กซี่
ขั้นตอนระหว่างการทำอิ๊กซี่ที่สำคัญ จะมี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการปฏิสนธิ (ICSI fertilization) และขั้นตอนการเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ (Embryo culture)
- ขั้นตอนการปฏิสนธิ (ICSI fertilization) ทีมแพทย์จะคัดไข่ใบที่สมบูรณ์ และ สเปิร์มตัวที่สมบูรณ์ที่สุด ด้วยการฉีดสเปิร์มเข้ากับไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ
- การเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ (Embryo culture) เมื่อเกิดการปฏิสนธิแล้ว จนกลายเป็นตัวอ่อน ทีมแพทย์จะเลี้ยงตัวอ่อน (Embryo culture) ด้วยน้ำยาหล่อเลี้ยงชนิดพิเศษให้มีความใกล้เคียงกับภายในครรภ์มารดาให้มากที่สุดเพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อน เป็นระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน และทำการตรวจสอบพัฒนาการในการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนหลังการปฏิสนธิในระยะต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเกรดตัวอ่อน และย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก
การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก (Embryo transfer)
ทีมแพทย์จะทำให้ร่างกายฝ่ายหญิงมีความพร้อมต่อการย้ายตัวอ่อน ซึ่งจะมีการให้ยาและปรับฮอร์โมน เพื่อให้เยื่อบุผนังมดลูกก่อตัวขึ้น สามารถรองรับการฝังตัวของตัวได้ โดยการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือการย้ายตัวอ่อนรอบสด และการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง
- การย้ายตัวอ่อนรอบสด (ET: Fresh Embryo Transfer) คือ การนำตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อการฝังตัวและตั้งครรภ์ภายหลังจากเก็บไข่ เป็นกระบวนการที่เป็นธรรมชาติมากกว่า สามารถทำได้ตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 5 หลังจากที่ไข่ปฏิสนธิกับสเปิร์มเรียบร้อยแล้ว โดยทำในรอบเดียวกันกับรอบการกระตุ้นไข่
- การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (FET: Frozen Embryo Transfer) คือ การนำตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการที่ถูกแช่แข็งไว้มาย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันพบว่าอัตราการตั้งครรภ์ในการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งจะสูงกว่าอัตราการตั้งครรภ์ใสรอบสด
ขั้นตอนหลังย้ายตัวอ่อน
หลังจากย้ายตัวอ่อน จะมีการให้ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) เพื่อพยุงการตั้งครรภ์ และต้องใช้ยาจนกว่า ร่างกายจะผลิตฮอร์โนโปรเจสเตอโรนได้เองอย่างเพียงพอ หรือภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษา
เมื่อไหร่จะรู้ผลการตั้งครรภ์ จากการทำ ICSI ?
หลังจากย้ายตัวอ่อนประมาณ 7 -14 วัน แพทย์จะทำนัดเพื่อตรวจการตั้งครรภ์ ด้วยการ ตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน Beta-HCG
การทำ ICSI ใช้เวลานานเท่าไร ?
ระยะเวลาโดยรวมในการทำอิ๊กซี่ (ICSI) หนึ่งรอบจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 4-6 สัปดาห์ โดยนับตั้งแต่การ การตรวจร่างกาย ในแต่ละเคสอาจใช้ระยะเวลาต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการนำไข่ออกมา การปฏิสนธิและการย้ายตัวอ่อน รวมถึงองค์ประกอบอื่น เช่น อายุ ภาวะเจริญพันธุ์และระดับฮอร์โมน
ทำ ICSI เจ็บหรือไม่ ?
การทำ ICSI เจ็บไหม ? เป็นข้อสงสัยที่หลายคู่กังวล โดยเฉพาะช่วยกระตุ้นไข่ ซึ่งความเจ็บสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะขั้นตอนการกระตุ้นไข่ที่ต้องฉีดยาใต้ผิวหนัง
นอกจากนี้ในขั้นตอนการเก็บไข่ผ่านช่องคลอด ก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานหลังเก็บไข่ (ในระหว่างทำมีการวางยาสลบ) อาการเหล่านี้สามารถหายไปเองหลังการเก็บไข่ประมาณ 1 – 2 วัน
ทำ ICSI ที่ศูนย์ผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาล พญาไท 3 ดีอย่างไร ?
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (Excellence Fertility Center) โรงพยาบาลพญาไท 3 ให้บริการดูแลและแก้ไขปัญหาผู้มีบุตรยากด้วยวิธีอิ๊กซี่ ICSI ภายใต้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล และดูแลโดยทีมสหวิชาชีพผู้ชำนาญการ และเครื่องมือที่พรั่งพร้อม ให้การมีบุตรเป็นไปอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ
- สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาผู้มีบุตรยาก ที่มีประสบการณ์สูง
- นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน
- ทีมพยาบาลเฉพาะทางการดูแลการมีบุตรยาก ที่คอยให้คำปรึกษา และช่วยดูแลในด้านต่างๆ
- เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล พร้อมด้วยนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์
- ห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนและห้องผ่าตัด เพื่อช่วยการฝังตัวของตัวอ่อน
ปัจจุบันศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (Excellence Fertility Center) โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้ให้การดูแลคู่สมรส แก้ปัญหาภาวะผู้มีบุตรยาก ด้วยเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือคู่แต่งงานที่มีบุตรยาก สมปรารถนา พร้อมให้มีความรู้ ความเข้าใจในปัญหาและการรักษาภาวะมีบุตรยากได้ถูกต้องและถูกวิธี