การผ่าตัดแปลงเพศ หรือการผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ (gender affirmation surgery, GAS) เป็นการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงสรีระของร่างกายตามเพศกำเนิด ให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ ทางจิตใจ ซึ่งประกอบด้วย การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเพศ การตัดอัณฑะ การตัดมดลูกและรังไข่ การเสริมหรือตัดหน้าอก และการผ่าตัดปรับเปลี่ยนโครงสร้างใบหน้าและลำตัวให้เป็นเพศตรงข้าม จัดว่าเป็นการรักษาเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด (gender dysphoria) หรือ ผู้ที่มีความทุกข์ทรมานใจซึ่งเกิดขึ้น จากความไม่เข้ากันระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และเพศกำเนิด ให้ผู้ที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดสามารถข้ามเพศได้อย่างสมบูรณ์ ลดความกดดันทางด้านจิตใจ มีความมั่นใจในการเข้าสังคม และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ลักษณะของผู้ที่เข้าข่ายมีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด อ้างอิงจากเกณฑ์การวินิจฉัย DSM-5 ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ซึ่งเป็นเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชที่น่าเชื่อถือ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ได้กำหนดลักษณะของวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่เข้าข่ายมีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดไว้ว่า จะต้องมีความรู้สึกอึดอัด คับข้องอย่างมากจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างเพศสภาพที่ตนรับรู้หรือแสดงออก และเพศกำเนิด เกิดขึ้นเป็นระยะเวลามานานไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งภาวะดังกล่าวจะก่อให้เกิดความทุกข์ใจเป็นอย่างมาก หรือส่งผลต่อการทำหน้าที่ในด้านต่าง ๆ เช่น การเข้าสังคม การทำงาน หรือด้านอื่น ๆ โดยอาจมีการแสดงลักษณะดังต่อไปนี้ออกมาให้เห็น เช่น
- มีความพยายามอย่างมากที่จะกำจัดลักษณะทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับเพศสภาพที่ตนรับรู้หรือแสดงออก เช่น ในเพศชายที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด อาจใช้ฮอร์โมน การศัลยกรรม หรือวิธีการอื่น ๆ เพื่อกดการแสดงออกทางร่างกายที่เป็นลักษณะของเพศชายไว้
- มีความพยายามอย่างมากที่จะแสดงออกถึงลักษณะทางเพศของอีกเพศหนึ่ง เพศสภาพที่ตนรับรู้หรือแสดงออก เช่น ในเพศชายที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด อาจใช้ฮอร์โมน การศัลยกรรมเพื่อเสริมหน้าอก หรือการแต่งกายเป็นเพศหญิง
- มีความต้องการอย่างยิ่งที่จะได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับบุคคลที่มีเพศสภาพเช่นเดียวกับเพศสภาพที่ตนรับรู้หรือแสดงออก เช่น ในเพศชายที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด มักหลีกเลี่ยงหรือรู้สึกอึดอัดใจอย่างมากที่จะต้องเข้าห้องน้ำชายในที่สาธารณะ แต่จะรู้สึกผ่อนคลายขึ้นเมื่อสามารถเข้าห้องน้ำหญิง หรือห้องน้ำที่ไม่ระบุเพศได้
- มีความเชื่อมั่นอย่างมากว่าตนมีความรู้สึก และมีการตอบสนองต่าง ๆ เหมือนตนเป็นอีกเพศหนึ่ง
เนื่องจากการผ่าตัดแปลงเพศ จัดว่าเป็นหัตถการที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยง จึงจำเป็นที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องผ่านกระบวนการประเมินก่อน เพื่อลดโอกาสที่จะได้รับการผ่าตัดที่ไม่สอดคล้องกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือการตัดสินใจที่ผิดพลาด ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดความเครียด และความเสียใจหลังการผ่าตัดที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร โดยผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดจำเป็นต้องผ่านการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมในรูปแบบเพศที่เป็นอัตลักษณ์ของตน หรือเพศที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดตลอดเวลา โดยมีการช่วยเหลือการข้ามเพศด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้ฮอร์โมน การแต่งกายและใช้ชีวิตในสภาพของเพศตรงข้าม โดยไม่เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตกับสังคม ครอบครัว เพื่อน หรือคู่รัก เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน และได้รับการตรวจทางจิตวิทยา เพื่อประเมินความสามารถในการปรับตัว และค้นหาจิตพยาธิสภาพอื่น ๆ จากนักจิตวิทยาคลินิก โดยที่มีจิตแพทย์เป็นผู้รับรอง และให้การวินิจฉัยแยกโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกอย่างน้อย 2 ท่าน ว่ามีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดจริง
—
นพ.ดนัย รัตนไชย
จิตเวชศาสตร์