อ้วน!!คำสั้นๆแต่ช่างกระแทกกระทั้นจนทำให้ใครหลายๆคนเจ็บปวด แต่เชื่อเถอะครับว่าสำหรับบางคนความอ้วนนั้นก็อาจไม่ได้น่ากลัวเท่ากับคนที่ป่วยเป็น “โรคอ้วน” ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน จนทำมาซึ่งอันตรายและโรคร้ายแรงอื่นๆ อีกเพียบ ซึ่งปัจจุบันภาวะความอ้วนในประเทศไทยเรามีแต่จะพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆ ที่ติดอันดับอ้วนสุดในอาเซียน!! นั่นเองจึงทำให้ความอ้วน โรคอ้วน เป็นสิ่งที่เราควรทำความเข้าใจให้ดี และรู้เท่าทัน เพื่อป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงของโรคร้ายต่างๆ ที่อาจคร่าชีวิตเราได้ทุกเมื่อ
ทำความรู้จักโรคอ้วน โรคที่เราทุกคนควรอยู่ให้ห่างไกลที่สุด
โรคอ้วน คือภาวะที่ร่างกายคนเราสะสมไขมันมากเกินความจำเป็นจนก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา ทั้งนี้การจะทราบว่าเราอ้วนหรือไม่นั้นสามารถพิจารณาได้จากค่า BMI หรือการวัดดัชนีมวลกาย ซึ่งสามารถคำนวณหาได้โดยการ นำน้ำหนัก (กิโลกรัม) มาหารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง (เซนติเมตร) โดยหากคำนวณออกมาแล้วเราได้ค่า BMI ที่อยู่ระหว่าง 25-30 นั่นหมายความว่าเราเป็นโรคอ้วนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายจากโรคอื่นๆ แล้ว
เป็นโรคอ้วนแล้ว เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?
เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายของคนเราอยู่ในภาวะโรคอ้วน จะทำให้เราเสี่ยงต่อโรคอันตรายมากมายหลายโรค แต่โรคที่น่ากลัวและเป็นอันตรายมากจากภาวะโรคอ้วนนั้น ได้แก่
- โรคหัวใจ
- โรคเบาหวาน
- ไขมันในเลือดสูง
- ความดันโลหิตสูง
- ภาวะหัวใจหยุดเต้นขณะหลับ
- มะเร็งหลายๆ ชนิด
- โรคข้อเข่าเสื่อม
ปัจจุบันโรคอ้วนจัดได้ว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่ร้ายแรงที่สุด เพราะเป็นสาเหตุของการตายอันดับต้นๆ ในผู้ป่วยโรคต่างๆ ซึ่งปัจจุบันจำนวนคนที่เป็นโรคอ้วนนั้น ก็เพิ่มขึ้นทุกปีเรื่อยๆ จึงทำให้แต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย หันมาใส่ใจกับการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างแข็งขัน
ผู้ที่สามารถผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักได้
- มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
- ลดความอ้วนด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
- ค่า BMI มากกว่า 32.5
- ไม่มีข้อห้ามสำหรับการผ่าตัด
สาเหตุใดบ้าง คือหนทางนำพาเราสู่โรคอ้วน
พฤติกรรมและนิสัยในการรับประทานอาหาร คือสาเหตุหลักที่นำพาเราทุกคนไปสู่โรคอ้วนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ชอบกินจุบจิบ ไม่ควบคุมปริมาณอาหารให้ดี ชอบรับประทานบุฟเฟต์ อาหารไขมันสูง ฯลฯ ก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องพฤติกรรมในการรับประทานอาหารแล้ว ก็ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ อีก ที่ทำให้เราเป็นโรคอ้วนได้ คือ
กรรมพันธุ์ โดยมีโอกาสมากถึงกว่าร้อยละ 80 ที่หากพ่อแม่อ้วนแล้ว ลูกจะอ้วนตาม แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะก็ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจ และวิธีการเลือกรับประทานอาหารในชีวิตด้วย
ความเครียด ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนเคยผ่านช่วงเวลาของการ “รับประทานบำบัด” กันมาไม่มากก็น้อย เป็นความรู้สึกที่ว่า ถ้าได้ทานของอร่อยๆ แล้วจะหายเครียด ทำให้เราไม่สามารถควบคุมปริมาณอาหารได้ และเกิดเป็นกระบวนการตามใจปาก ที่ร่างกายเคยชิน คือ พอเครียดปุ๊บก็ต้องทานปั๊บ หาของหวานเป็นรางวัล จนติดเป็นนิสัยและทำให้เป็นโรคอ้วนในที่สุด
เพศ แม้ว่าสาเหตุหลักจะเกิดจากพฤติกรรม แต่จากสถิติก็พบว่าผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้มากกว่าผู้ชาย
อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น ระบบเผาผลาญร่างกายคนเราก็ทำงานแย่ลง ถ้าไม่ควบคุมพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม โอกาสอ้วนก็มีสูงขึ้น
ผ่าตัดลดน้ำหนักผ่านกล้อง ทางออกของภาวะโรคอ้วนรุนแรง
ในผู้ป่วยที่มีภาวะความอ้วนรุนแรง ซึ่งมีค่าดัชนีมวลกายมากเกินกว่า 35 ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม ถือว่าเป็นภาวะที่รุนแรงและมีความเสี่ยงมาก ทั้งเสี่ยงจากน้ำหนักตัวที่มากเกิน รวมถึงเสี่ยงกับภาวะโรคร้ายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยทั่วไปแล้วในระดับสากลนั้น จะพิจารณาให้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะผ่านกล้อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีกระเพาะเล็กลง ส่งผลให้รับอาหารได้น้อยลง รู้สึกอิ่มนานขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถลดน้ำหนักของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และค่อยๆ กลับมามีรูปร่างที่ปกติ มีชีวิตความเป็นปกติได้อีกครั้ง
การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักรักษาโรคอ้วน ปัจจุบันสามารถทำได้โดยใช้เทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก โดยผู้ป่วยจะมีรอยแผลเล็กๆ ที่หน้าท้องประมาณ 5 แผล ขนาดของแผลจะใหญ่เพียงไม่เกิน 2 ซม. เนื่องจากใช้เทคนิคพิเศษผ่านเครื่องมือการผ่าตัดขนาดเล็ก ส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บน้อย และกลับมาใช้ชีวิตตามเดิมได้เร็วขึ้น ไม่ต้องพักฟื้นยาวนานในโรงพยาบาล
จะใช้ชีวิตเป็นปกติได้หรือไม่ หลังเลือกใช้การผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วน
ภายหลังการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักผ่านกล้อง เพื่อรักษาโรคอ้วน ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการควบคุมอาหารทันที เพื่อให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในระยะสัปดาห์แรก ผู้ป่วยจะรับประทานได้แต่อาหารเหลว ส่วนในสัปดาห์ต่อมาจึงจะสามารถรับประทานอาหารเป็นชิ้นๆ ได้ แต่ก็ต้องเป็นชิ้นเล็กๆ อาทิ ข้าวต้ม ผู้ป่วยจำเป็นต้องเคี้ยวอาหารให้ละเอียด และไม่ควรดื่มน้ำพร้อมอาหาร ควรรับประทานอาหารก่อน และค่อยดื่มน้ำตามหลัง ประมาณ 30 นาที หลังทานอาหารเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้รู้สึกอิ่มได้นาน ทั้งนี้ กฎเหล็กอีกขึ้นหนึ่งที่ควรตระหนักและปฏิบัติให้ได้ คือ ถ้าไม่หิว ต้องไม่กิน เพราะถ้าเรากิน เพราะอยากกิน การผ่าตัดที่อุตส่าห์ตั้งใจรักษาเพื่อให้กลับมาควบคุมน้ำหนักได้ ก็ไม่มีความหมาย
รู้ไว้ไม่เสียหลาย เพื่อให้เราหายขาดจากโรคอ้วน
ไม่มีการรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีได้ จะได้ผลและมีประสิทธิภาพไปกว่า “การควบคุมพฤติกรรมการกิน” ของตัวเราเองอีกแล้ว เพราะต่อให้เราผ่าตัดลดกระเพาะให้เล็กลงเท่าไร แต่เรายังไม่เปลี่ยนแปลงนิสัยการทานอาหารของตัวเราเอง การลดน้ำหนักก็จะไม่มีทางทำสำเร็จได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ไม่ว่าวันนี้เราจะเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดลดน้ำหนัก ผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วนแล้วหรือไม่ การให้ความสำคัญกับนิสัยการรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้เราลดน้ำหนักได้สำเร็จ มีรูปร่างที่ดี และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์
พญ. เบญจพร นันทสันติ
ศัลยแพทย์ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง รพ.พญาไท 3
ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ( Advanced Surgical Interventional Technologies : ASIT )
โทร . 02-467-1111 ต่อ 3100
สอบถามหรือนัดหมาย Line OA@phyathai3family