“เท้าแบน” อาจเป็นชื่อโรคที่ไม่ค่อยคุ้นหูมากนัก และฟังดูแล้วก็เหมือนจะไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่ทั้งนี้ ทราบหรือไม่ว่า โรคเท้าแบนเป็นภาวะที่ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงได้มากเลยทีเดียว ที่สำคัญโรคนี้สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความรู้จักโรคนี้เอาไว้ เพื่อสังเกตอาการลูกน้อย และหาทางป้องกันแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อในระยะยาวแล้วเมื่อลูกเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จะได้ไม่มีปัญหาเท้าแบนกวนใจ ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข
“โรคเท้าแบน” คืออะไร ใครมีโอกาสเป็นได้บ้าง?
โรคเท้าแบน คือภาวะที่มีอุ้งเท้าด้านในเตี้ยลงร่วมกับมีปลายเท้าเอียงออกไปทางด้านข้าง พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยในคนทั่วไปสามารถพบได้ประมาณ 16%
สังเกตอาการอย่างไร ถึงน่าสงสัยว่าเป็น “โรคเท้าแบน”?
ภาวะเท้าแบนสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เด็ก โดยจะสังเกตเห็นว่า “รูปเท้า” ผิดปกติได้ตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 6-8 ขวบ แต่ส่วนใหญ่จะยังไม่มีอาการเจ็บปวด เนื่องจากในวัยเด็กยังน้ำหนักตัวน้อย จึงทำให้ยังสามารถใช้งานเท้า เดิน วิ่ง เล่นได้เหมือนปกติ แต่เมื่อโตขึ้น หรือมีการใช้งานเท้ามากขึ้น น้ำหนักตัวเริ่มมากขึ้น เอ็นบริเวณอุ้งเท้าจะเริ่มเสื่อม เกิดมีการอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น ซึ่งอาการเจ็บปวดนี้จะเริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือส่วนมากจะพบในช่วงอายุ 30-40 ปี โดยระดับความรุนแรงของการเจ็บปวดจะสัมพันธ์กับการใช้งาน เช่นถ้าใช้เท้ามาก อาทิ ออกกำลังกายมาก ซ้อมกีฬามาก วิ่งมาก เดิน กระโดดมากๆ ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บ ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ใช้เท้าได้อย่างปกติ ต้องหยุดพักบ่อย
โรคเท้าแบนมี 2 ชนิด รู้ไว้สักนิดให้เข้าใจมากขึ้น
โรคเท้าแบน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ โรคเท้าแบนแบบยืดหยุ่น หรือ “Flexible Flatfoot” และ โรคเท้าแบนแบบติดแข็ง หรือ “Rigid Flatfoot” ซึ่งจะมีลักษณะของโรคที่แตกต่างกัน ดังนี้
- โรคเท้าแบนแบบยืดหยุ่น เป็นชนิดของโรคเท้าแบนที่พบได้บ่อยที่สุด โดยสาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากเอ็นอุ้งเท้าเสื่อมสภาพ ทำงานได้ไม่เป็นปกติ อุ้งเท้าต่ำลงทำให้เท้าแบน เส้นเอ็นแบกรับน้ำหนักในการลงเท้ามาก จึงเกิดอักเสบและทำให้รู้สึกเจ็บปวด
- โรคเท้าแบนแบบติดแข็ง เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่า สาเหตุของปัญหาอยู่ที่กระดูกผิดปกติ เช่น มีกระดูกบางตำแหน่งเชื่อมกันอยู่อย่างผิดปกติทำให้ทรงเท้าแบนและผิดรูปไป ทำให้เวลาเดินแล้วเกิดอาการเจ็บปวดขึ้น
รักษาอย่างไร เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเป็น “โรคเท้าแบน”?
แนวทางในการรักษาโรคเท้าแบนนั้น จะแยกออกไปตามชนิดของโรค โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- การรักษาโรคเท้าแบนแบบยืดหยุ่น การรักษาจะแบ่งได้ออกเป็น 2 วิธีด้วยกัน คือ “รักษาแบบไม่ผ่าตัด” กับ “รักษาด้วยการผ่าตัด” ซึ่งเบื้องต้นจะพิจารณารักษาด้วยการไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ โดยมีแนวทางในการรักษาคือ ให้ใช้แผ่นรองเท้าสำหรับ “หนุนอุ้ง” เพื่อยกเท้าให้กลับมาอยู่ในทรงที่ดีเหมาะสม ร่วมกับการบริหารเส้นเอ็นอุ้งเท้า และการทานยาลดอักเสบ หลังจากที่การอักเสบหายดี อาการปวดทุเลาลง ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ พร้อมการใช้แผ่นรองเท้าใส่เข้าไปในรองเท้าเพื่อหนุนอุ้งให้รูปเท้าอยู่ในสภาวะปกติที่สุด ทั้งนี้แพทย์จะนัดมาดูอาการเป็นระยะ 2-3 เดือนครั้ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาการจะทุเลาลง แต่หากการหนุนอุ้งไม่ได้ผล คนไข้ยังเดินแล้วเจ็บอยู่ ทำกิจกรรมต่างๆ ได้น้อยลง แพทย์จึงจะทำการพิจารณาผ่าตัดแก้ไข ซึ่งทำได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ การผ่าตัดเส้นเอ็นให้กลับมาใช้งานได้ดีขึ้น หรือผ่าตัดกระดูกเพื่อจัดแนวเท้าที่แบนให้กลับมาเป็นปกติ โดยหลังจากผ่าตัดแล้วเท้าที่แบนจะกลับมามีอุ้งเท้ามากขึ้น อาการเจ็บจะทุเลาลง เดินได้ดีขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่างได้ ไม่กลับมาเจ็บปวดอีก
- การรักษาโรคเท้าแบนแบบติดแข็ง ทำได้โดยการผ่าตัดแก้ไขจัดรูปกระดูกใหม่ เนื่องจากสาเหตุอยู่ที่กระดูกเชื่อมผิดรูป โดยแพทย์จะดำเนินการตรวจดูว่ากระดูกส่วนใดที่ผิดปกติ แล้วจึงผ่าตัดส่วนที่เชื่อมผิดรูปออก
ดูแลตัวเองอย่างไร หลังผ่าตัดแก้ไขปัญหาโรคเท้าแบน?
ในการผ่าตัดรักษาโรคเท้าแบนนั้น จะไม่ได้เป็นการทำให้เท้ากลับมามีอุ้งสวยเหมือนปกติร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะเป็นการทำให้สามารถกลับมาใช้เท้าทำกิจกรรมได้อย่างเป็นปกติโดยไม่มีอาการเจ็บปวดรบกวน ซึ่งโดยทั่วไปการผ่าตัดจะทำทีละข้าง และมีการเข้าเฝือกไว้ประมาณ 6 สัปดาห์ถึง 2 เดือน เพื่อให้กระดูกหรือเส้นเอ็นที่ผ่าตัดไว้ เชื่อมติดกันดี และสามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ ทั้งนี้ หลังจากที่ฟื้นตัวหลังการผ่าตัดแล้ว แพทย์ยังคงแนะนำให้ใส่แผ่นรองเท้าสำหรับหนุนอุ้งไว้เสมอ เพื่อเป็นการรักษาสภาพทรงเท้าเอาไว้ให้อยู่ปกติดีที่สุด โดยหลังจากฟื้นตัวดีแล้ว เท้าจะสามารถใช้งานได้เหมือนคนปกติทั่วไป โดยไม่มีอาการเจ็บปวดรบกวนอีก
โรคเท้าแบนแม้ไม่ใช่โรคร้ายแรงอันตราย แต่หากปล่อยไว้ก็จะทำลายความสุขและคุณภาพในการใช้ชีวิตได้ ซึ่งการป้องกันนั้นก็สามารถทำได้ตั้งแต่เด็กๆ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตรูปเท้าของลูก ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยหากสังเกตพบว่ารูปเท้าผิดรูป แบนผิดปกติ ก็ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อปรับรองเท้าให้มีการหนุนอุ้งเสริมตั้งแต่เล็กๆ จะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวเมื่อลูกโตขึ้นได้