ผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า สภาพร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้อีก เช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ผู้ป่วยจะมีอาการเข้าสู่ระยะท้าย ๆ ของโรคที่ทรุดหนักลงเรื่อย ๆ
สิ่งที่ครอบครัวและญาติต้องการทราบคือ ในท้ายที่สุด ผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่ได้กี่เดือน ? เพื่อสามารถเตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน และวางแผนช่วยเหลือผู้ป่วยให้รู้สึกสบาย อยู่ให้ดีที่สุด จนถึงวันสุดท้ายที่เขาจากไป
ผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่ได้กี่เดือน ?
โดยทั่วไป ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย (end of life) ที่การรักษาเฉพาะไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้มักอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน หรืออยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ในบางเคส หากผู้ป่วยมีการเจ็บป่วยเรื้อรังรุนแรง ที่ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือสื่อสารกับบุคคลรอบข้างได้
ญาติวางแผนรับมือ ดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมได้อย่างไร ?
วิธีการรับมือดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะมุ่งเน้นไปที่การดูแลให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานทางร่างกายให้น้อยที่สุด โดยเน้นการให้การดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัว หรือ ญาติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดร่วมกันในช่วงสุดท้ายของชีวิต
การดูแลแบบประคับประคอง หมายถึง การดูแลทางการแพทย์ และการพยาบาลทุกชนิด รวมถึงการดูแลทางด้านจิตใจ สังคม และความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งในขั้นตอนเหล่านี้ ตัวผู้ป่วยและญาติ นับว่ามีบทสำคัญที่ต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ขั้นตอนการดูแล ผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ก่อนการดูแล สิ่งสำคัญคือตัวผู้ป่วยจะต้องรู้อาการของตัวเอง ญาติควรบอกความจริงเกี่ยวกับอาการโรค ระยะเวลาของตัวผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่ได้กี่เดือน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง และยังเป็นประโยชน์ต่อญาติด้วย เนื่องจากเข้าใจวิธีการดูแลรักษา สามารถเตรียมความพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะดีหรือร้ายได้
การแจ้งอาการป่วยที่เป็นจริงกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย
การแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถ ตัดสินใจล่วงหน้าเกี่ยวกับอาการของต้นเองได้ หากอาการหนักลงจนไม่รู้สึกตัวจะให้เยียวยารักษาอย่างไรต่อไป
การแจ้งอาการจริงกับผู้ป่วย ผู้ป่วยจะรับได้จริงไหม ? เป็นสิ่งที่ญาติและคนในครัวอาจจะกำลังกังวลใจ ในกรณีที่ปิดบัง แต่ด้วยอาการแสดงของโรคที่ทรุดลงเรื่อย ๆ การดูแลจากญาติที่เอาใจใส่ดูแล ผู้ป่วยก็สามารถคาดเดาอาการได้ การแจ้งความจริงจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเตรียมตัวเตรียมใจกับอาการ ต่าง ๆของโรค และการรักษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรวมถึงเตรียมจากไปอย่างสงบ
แต่วิธีการการแจ้ง ก็ต้องอาศัยเทคนิคการบอกข่าวจากญาติผู้ที่ทำหน้าที่นี้ เช่น
- ควรเลือกสถานที่ในการแจ้งข่าว หรือแจ้งข่าวในบรรยากาศที่เหมาะสมในการพูดคุย มีความเป็นส่วนตัว ไม่มีเสียงรบกวน
- ใช้คำพูดที่ใช้ควรเข้าใจง่าย มีน้ำเสียงที่นุ่มนวล ท่าทางที่จริงใจ เป็นมิตร
- ระหว่างที่บอกต้องสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างตั้งใจ ไม่ควรรีบเร่ง
- หลังแจ้งข่าวไม่ควรผละจากไปในทันที ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีคำถามหรือต้องการ การปลอบโยน
- การตอบคำถามผู้ป่วย ควรตอบความจริงอย่างซื่อตรง เล่าผลการวินิจฉัยของแพทย์ และควรให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจว่าญาติและทีมแพทย์ผู้ดูแลพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างให้คำปรึกษาและเลือกแผนการรักษาที่ดีที่สุด เป็นต้น
การวางแผนรับมือการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning)
เมื่อผู้ป่วยเข้าใจอาการ รับรู้สถานการณ์ของโรคที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ ญาติที่ดูแล ควรมีการสอบถามผู้ป่วยว่าต้องการสิ่งใดบ้าง เนื่องจากการวางแผนดูแลล่วงหน้า ควรดำเนินการตั้งแต่ตอนที่มี สติสัมปชัญญะดี
- มีการวางแผนการดูแล รูปแบบใด เช่น ต้องการรักษาแพทย์ทางเลือก,การรักษาแพทย์ปัจจุบัน หรือการรักษาแบบผสมผสาน
- สอบถามความต้องการของป่วยว่าต้องอยู่ที่บ้าน หรือโรงพยาบาล หรือผสมผสาน
- ในกรณีเข้าสู้วาระสุดท้าย ต้องให้มีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ยื้อชีวิตหรือไม่ เช่น กระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ การเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น
- ผู้ป่วยต้องการให้ใครดูแลหน้าที่ตัดสินใจแทน หากไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ตามปกติ
- ผู้ป่วย ต้องการเยียวยาทางจิตใจอย่างไร เช่น การสวดมนต์ ทำบุญ ให้ทาน
- ผู้ต้องการทำสิ่งใดเพื่อให้สมความปรารถนาหรือความใฝ่ฝันที่ค้างคาใจ
- การเตรียมการจัดทำเอกสารทางกฎหมายเพื่อแสดงเจตนารมณ์ผู้ป่วย เป็นต้น
เมื่อญาติทราบแล้วว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่ได้กี่เดือน การเตรียมความพร้อม และวางการดูแลอย่างเหมาะสม โดยสิ่งที่ญาติควรให้ความสำคัญมากที่สุดในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือ การให้กำลังใจ เพราะผู้ป่วยมักจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อมีญาติหรือคนที่รักมาช่วยดูแล ในขณะเดียวกัน ญาติหรือคนในครอบครัว ก็จะรู้สึกไม่ติดค้าง หรือมีบาดแผลในใจหลังผู้ป่วยจากไป หากให้การดูแลที่ไม่เหมาะสม
สอบถามรายละเอียดหรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่
LINE OA@phyathai3family