กระดูกหักจากอุบัติเหตุในบ้าน เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
หลาย ๆ คนอาจมองว่า “กระดูกหัก” เป็นเรื่องไกลตัว เพราะเชื่อว่าตัวเองคงไม่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุอะไรรุนแรงนอกบ้าน อีกทั้งถ้าไม่ได้เล่นกีฬาอะไรผาดโผนด้วยแล้ว ก็ไม่น่าจะมีเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้กระดูกหักได้เลย แต่ทั้งนี้อุบัติเหตุภายในบ้านนั้น สามารถทำให้เราและสมาชิกทุกคนที่รัก กระดูกหักได้เช่นกัน ยิ่งกับคุณปู่คุณย่าผู้สูงวัย หรือคนที่มีภาวะกระดูกพรุนก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง ซึ่งอันตรายจากกระดูกหักนั้น คือเสี่ยงทำให้พิการและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัวให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุภายในบ้านจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
ลดเสี่ยงกระดูกหักในบ้าน ควรจัดบ้านอย่างไร?
สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุในบ้านจนถึงขั้นทำให้กระดูกหักนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากการสะดุดสิ่งของ ลื่นล้ม ตกบันได ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดบ้านที่ไม่เป็นระเบียบ และสภาพแวดล้อมภายในบ้านก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุ ทั้งนี้ แนวทางในการจัดบ้านให้ปลอดภัยลดเสี่ยงจากการสะดุด หกล้ม จนกระดูกหักนั้น มีดังต่อไปนี้
- จัดให้ทุกพื้นที่ในบ้านมีแสงสว่างเพียงพอ โดยเฉพาะทางเดิน ห้องน้ำ ห้องครัว บันได ฯลฯ
เพื่อให้มองเห็นชัดเจน ไม่เดินสะดุด เดินชน หกล้ม จนเกิดอุบัติเหตุ - จัดเก็บสิ่งของ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ ไม่วางเกะกะ กีดขวางทางเดิน
- ทำความสะอาด ปัด กวาด เช็ด ถู ดูแลพื้นที่ภายในบ้านไม่ให้ลื่น โดยเฉพาะห้องน้ำ บันได ห้องนอน ฯลฯ
เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติลื่นล้ม
จะรู้ได้อย่างไร ว่ากระดูกหักหรือไม่?
แม้จะระมัดระวังตัวเองอย่างดี จัดระเบียบสภาพแวดล้อมในบ้านให้เรียบร้อยแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดอุบัติได้อยู่ แต่ทั้งนี้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นภายในบ้าน เราจำเป็นต้องสังเกตอาการให้ทราบด้วยว่า “กระดูกหัก” หรือไม่ เพื่อให้ปฐมพยาบาลได้อย่างถูกต้อง และตัดสินใจได้อย่างทันท่วงทีว่าจะต้องโทรเรียกรถพยาบาล โดยอาการที่ชวนสงสัยว่า กระดูกหักจากอุบัติเหตุนั้น ได้แก่
- ปวดกระดูก หรือปวดบริเวณรอบ ๆ และจะยิ่งปวดมากขึ้นเมื่อขยับเคลื่อนไหวร่างกายบริเวณนั้นที่ได้รับบาดเจ็บ
- มีอาการบวม รวมถึงอาจมีรอยช้ำร่วมด้วยในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ
- สังเกตเห็นอวัยวะผิดรูป อาทิ แขน หรือ ขา บิดงอ
เมื่อเกิดอุบัติเหตุจนกระดูกหักแล้ว ลักษณะของอาการจะจำแนกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ กระดูกหักแบบไม่มีแผลเปิด ซึ่งเป็นภาวะกระดูกหักที่ไม่มีกระดูกทิ่มทะลุแผลออกมา ลักษณะกระดูกหักแบบนี้จะปวด บวม ช้ำ แต่ไม่มีเลือดออก และอีกประเภทหนึ่งคือ กระดูกหักแบบมีแผลเปิด คือ กระดูกที่หักจะทิ่มทะลุผิวหนังออกมา มีรอยแผลที่มีเลือดไหล เมื่อเราเข้าใจลักษณะของภาวะกระดูกหักแล้ว จะทำให้ปฐมพยาบาลได้ถูกต้องมากขึ้น หรือแจ้งอาการกับเจ้าหน้าที่ในตอนเรียกรถพยาบาลได้ถูกต้อง อันนำไปสู่การเตรียมการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อเกิดอุบัติเหตุกระดูกหักภายในบ้าน ควรทำอย่างไร?
ในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหักนั้น จำเป็นต้องทำให้ถูกต้องด้วยความระมัดระวัง ดังนั้น หากไม่มั่นใจ จึงควรเรียกรถพยาบาลและปรึกษาเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์จะปลอดภัยที่สุด ไม่ควรพยายามดึง หรือพยายามจัดกระดูกให้เข้าที่ด้วยตัวเอง และหากมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย ก็ต้องย้ายอย่างถูกวิธีด้วยความระมัดระวังไม่ให้กระดูกเคลื่อนผิดที่ เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดโอกาสพิการและเป็นอันตรายมากขึ้นได้ แนวทางที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ง่าย ๆ คือ ใช้หมอนหรือวัสดุที่หาได้หนุนประคองบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด และให้อยู่นิ่งที่สุด พร้อมกับประคบเย็นที่อวัยวะเกิดเหตุ หากมีความจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าให้ใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกแทนเพื่อลดการเคลื่อนไหวร่างกาย และหากเป็นภาวะกระดูกหักแบบแผลเปิดมีเลือดออก ก็ควรทำการห้ามเลือดเบื้องต้น และโทรเรียกรถพยาบาลเพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
แท้จริงแล้วอุบัติเหตุเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในบ้านของเราเองได้ทุกเมื่อ และเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้น การใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังและดูแลบ้านให้เป็นระเบียบจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุในบ้านจนกระดูกหัก การนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยเร็วคือทางออกที่ปลอดภัยที่สุด โดยโรงพยาบาลพญาไท 3 ได้รับการรับรองว่าเป็นศูนย์อุบัติเหตุ Trauma LV 3 ผ่านมาตรฐาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ครบครัน และมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมดูแลผู้ป่วยผ่านศูนย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและรถพยาบาล ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน จึงมั่นใจได้ว่าหากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น เพียงติดต่อ Call Center 1772 ก็จะได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพแบบทันท่วงที