อายุที่มากขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของความเสื่อมทางร่างกายหลายๆด้านรวมไปถึง “ปัญหาสุขภาพตา”
ด้วยเช่นกัน คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงของสายตา กล้ามเนื้อตาทำงานลดลง ความไวในการมองภาพลดลง ตาแห้งระคายเคือง เกิดต้อลม ต้อกระจก ต้อหิน สามารถส่งผลเสียกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ทำให้เวียนศีรษะได้ง่าย คุณภาพชีวิตลดลง และที่สำคัญคือ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พลัด ตก หกล้ม จากปัญหาการมองเห็นได้
5 โรคตาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
ความผิดปกติของโรคตาในผู้สูงอายุหลายๆโรค ไม่สามารถสังเกตอาการความผิดปกติได้ จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจตาอย่างละเอียด ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆ ของด้วยตัวเอง ลูกหลานควรหมั่นสอบถามอาการจากผู้สูงอายุ หรือสังเกตอาการผิดปกติจากผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุบางท่านไม่ยอมบอกอาการให้ลูกหลานทราบ
1. ภาวะตาแห้ง
“ภาวะตาแห้ง” เป็นโรคทางตาที่พบได้บ่อยๆ เมื่อก้าวสู้วัยสูงอายุ เนื่องจากคุณภาพของน้ำตาลดลง น้ำหล่อเลี้ยงผิวตามีปริมาณไม่มากพอที่จะเคลือบให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา จากต่อมที่สร้างน้ำตาทำงานผิดปกติ หรือ มีการระเหยของน้ำตาเร็วเกินไป มักมีผลพวงมากจากต่อมน้ำตาเสื่อมตามวัย ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน ภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หรือ จากโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคไทรอยด์ โรคข้ออักเสบ การใช้ยาบางชนิด จึงก่อให้เกิดอาการระคายเคืองในตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา แสบตา อาจมีรอยแผลที่กระจกตา ผู้สูงอายุจะรู้สึกไม่สบายตาเรื้อรัง การมองเห็นแย่ลง จึงอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้
2. ต้อกระจก
“ต้อกระจก” เป็นความเสื่อมที่พบได้ในทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉลี่ยที่อายุ 60ปีขึ้นไปสาเหตุเกิดจากการเลนส์แก้วตาภายในดวงตาขุ่นทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาได้น้อยลง ทำให้สายตาเปลี่ยนแปลง ถือเป็นการเสื่อมสภาพตามอายุ และแน่นอนว่าปัญหาตาลักษณะนี้ ส่งผลต่อความสามารถในการมองเห็น ผู้สูงอายุจะมีอาการตามัวเหมือนหมอกบังภาพซ้อน หรือ มองไฟแล้วเห็นเป็นแสงกระจาย ใส่แว่นไม่ดีขึ้น จึงอาจส่งผลให้การกะระยะก้าวเดินลงบันได ผิดพลาด ส่งผลให้เกิดการพลัดตกบันไดได้ ซึ่งสามารถรักษาได้โดย การผ่าตัดสลายต้อและใส่เลนส์เทียม ซึ่งปัจจุบันทำได้รวดเร็ว ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย เจ็บตัวน้อย และฟื้นตัวเร็ว ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุดีขึ้น ลดการเกิดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง
3. ต้อหิน
“โรคต้อหิน” พบได้น้อยกว่าต้อกระจก แต่เป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้ตาบอดได้ เป็นโรคทางตาที่เป็นภัยเงียบ ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้าและ ทำให้เกิดการเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ โดยที่ผู้สูงอายุไม่ทันได้ตั้งตัว เกิดจากการที่ขั้วประสาทตาเสื่อม มักมีภาวะความดันลูกตาสูงจนทำลายประสาทตา มีความเสี่ยงมากขึ้นในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน การใช้ยาสเตียรอยด์ มีสายตาสั้น หรือยาวมาก เคยได้รับอุบัติเหตุทางตา หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไมเกรน ภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ
หากปล่อยละเลยการตรวจคัดกรองสุขภาพตา อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ผู้ดูแลสามารถสังเกตได้ว่าผู้สูงอายุกำลังเผชิญกับโรคต้อหิน หรือไม่ ด้วยการสังเกตพฤติกรรม ผู้ป่วยอาจมีอาการ มักจะเดินชนโต๊ะหรือ สิ่งของบ่อยๆ หยิบจับของพลาด เนื่องจากการมองเห็นจำกัดวงแคบลง จึงควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์ก่อนที่จะสายเกินไป โดยสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา การทำเลเซอร์ หรือผ่าตัดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
4. โรคจอประสาทตาเสื่อม
“โรคจอประสาทตาเสื่อม” เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของตาบอดถาวรในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมตามอายุ ที่มีผลต่อจุดรับภาพ ตรงกลาง ซึ่งเป็นบริเวณที่ชัดที่สุดในจอประสาทตา
แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แบบเปียกและแบบแห้ง โดยโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิด แบบเปียก (Wet AMD) เกิดจากเส้นเลือดฝอยด้านหลังจอประสาทตาผิดปกติ ซึ่งมีของเหลวในหลอดเลือดรั่วไหลไปโดนจุดรับภาพ ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างมากทั้งแบบถาวรและเฉียบพลัน ส่วน โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD) นั้นมักค่อยเป็นค่อยไป อาการในช่วงแรก ผู้ป่วยอาจมองเห็นภาพเบลอและจุดดำหรือจุดบอดตรงกลางภาพ หลังจากนั้นเซลล์จอตาจะเสื่อมลงอย่างช้าๆ จนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ซึ่งการรักษาจะทำได้ต่อเมื่อรีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม อย่างไรก็ตามโรคจอประสาทตาเสื่อม มักไม่ค่อยแสดงอาการหากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ดังนั้นแนะนำผู้ดูแลพาผู้สูงอายุตรวจเช็คสุขภาพตาทุกปี
5. ภาวะสายตายาว
ปัญหาสายตายาวในผู้สูงอายุ เกิดจากความสามารถในการเพ่งของกล้ามเนื้อตาลดลง เกิดได้กับทุกคน ที่มีอายุ 40ปี ขึ้นไป ทำให้มองระยะใกล้ไม่ชัดเจน ปรับfocus ช้าลง ต้องอ่านหนังสือ หรือทำงานในระยะห่างขึ้น หากพยายามเพ่ง จะทำให้มีอาการปวดตา ปวดศีรษะได้ สามารถรักษาด้วยการใช้แว่นสายตา ลดการเพ่ง หรือทำเลสิก ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจักษุแพทย์
ทั้งนี้การตรวจคัดกรองโรคตาอย่างละเอียดในผู้สูงอายุจะช่วยให้ทราบถึงภาวะที่แท้จริงของดวงตา เมื่อพบในระยะเริ่มแรก สามารถรักษาและชะลอการสูญเสียการมองเห็นได้ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ลูกหลานควรใส่ใจ ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข
ผู้ที่มีอายุ 40ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
แพทย์หญิงกิตติกมล วงศ์ไพศาลสิน
จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตา รพ.พญาไท 3