ภาวะกลืนลำบาก”(Dysphagia)เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญพบบ่อยถึงร้อยละ 50 ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ป่วยที่รอดชีวิตส่วนใหญ่มักมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว การทรงตัว พฤติกรรม และอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งมีความบกพร่องในการรับรู้ การสื่อสาร และปัญหาการกลืนลำบาก มีผลทำให้ความสามารถในการรับประทานอาหารด้วยตนเองลดลง ส่งผลเสียต่อกระบวนการฟื้นฟู อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และเป็นภาระหนักแก่ญาติในการดูแลอีกด้วย
ภาวะกลืนลำบาก มีผลเสียอย่างไรบ้าง
ภาวะกลืนลำบากเป็นความผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะปอดอักเสบติดเชื้อจากการสำลักอาหารและน้ำ หรือภาวะกลืนลำบากส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ บางรายแพทย์พิจารณาต้องให้อาหารทางสายยาง เพราะภาวะปอดอักเสบจากการสำลักทำให้ผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต ดังนั้นหากผู้ป่วยได้รับการประเมินเพื่อหาสาเหตุ และความรุนแรงของการกลืนลำบาก เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืน จากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกิจกรรมบำบัด เป็นการป้องกันปัญหาที่เกิดจากการกลืนลำบาก ลดความเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร และลดภาระของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วย
รู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยมี “ภาวะกลืนลำบาก”
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู /นักกิจกรรมบำบัด และพยาบาลจะทำการประเมินปัญหาเกี่ยวกับการสูญเสียหน้าที่ในการกลืน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อน โดยอาการแสดงของภาวะกลืนลำบากได้แก่ การสำลัก มีการไอ เสียงแหบ เสียงเครือ ระหว่างการกลืนน้ำและอาหาร รู้สึกเหมือนมีอาหารติดที่ลำคอหรือ มีอาหารเหลือค้างในช่องปากหลังกลืน เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการเหนื่อย หายใจเร็วขึ้นระหว่างรับประทานอาหาร
ทั้งนี้ การกลืน (swallowing) คือ กระบวนการทำงานของอวัยวะในช่องปากจนถึงหลอดอาหาร ภายใต้การควบคุมของระบบประสาทสมองที่ซับซ้อน ซึ่งมีทั้งระบบกระตุ้น และยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน เพื่อนำอาหารที่ผ่านการบดเคี้ยวแล้วในช่องปากเดินทางเข้าสู่กระเพาะอาหาร และลำไส้เพื่อการย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
นักกิจกรรมบำบัดฟื้นฟู “ภาวะกลืนลำบาก” ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น
เมื่อพบปัญหาภาวะกลืนลำบาก จำเป็นต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิดและได้รับคำแนะนำจากนักกิจกรรมบำบัดเพื่อให้สามารถกลืนได้อย่างปลอดภัย โดยทำตามขั้นตอนดังนี้
- ปรับลักษณะของอาหาร และน้ำ ให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้ป่วย โดยอาจให้สารเพิ่มความหนืดใส่ลงในอาหารและของเหลวต่าง ๆ เพื่อช่วยลดโอกาสการสำลัก
- ดูแลความสะอาดของปาก และฟัน ก่อน และหลังการรับประทานอาหารทุกครั้ง เพื่อขจัดเสมหะหรือ เศษอาหารที่ตกค้างอยู่ในช่องปาก ลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดปอดอักเสบได้
- ฝึกการออกกำลังกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน เช่น การบริหารกล้ามเนื้อรอบปาก และลิ้น โดยการเม้มปาก ทำปากจู๋ ฉีกยิ้ม อ้าปาก – ปิดปากสลับกัน ฝึกออกเสียง “อา- อี-อู” เป็นต้น ส่วนการบริหารกล้ามเนื้อลิ้น นักกายภาพบำบัดจะให้ผู้ป่วยแลบลิ้นออกมาด้านหน้าให้มากที่สุด ใช้ปลายลิ้นแตะริมฝีปากบน ใช้ลิ้นแตะมุมปากทั้งสองข้างสลับกันซ้าย – ขวา ฝึกออกเสียง “ลา ๆ ๆ ๆ ทา ๆ ๆ ๆ” โดยจะมีการบันทึกวัดผลเพื่อวางแผนพัฒนาการฝึกต่อไป
- การปรับท่าทางขณะกลืน ให้เหมาะสมกับความผิดปกติที่ตรวจพบในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การก้มหน้า เอียงคอ หรือหันศีรษะไปด้านหนึ่งขณะกลืนเพื่อให้กลืนได้อย่างปลอดภัย ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำเทคนิคการกลืนอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรง หรืออาการที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล เช่น การให้กลืนโดยออกแรงเต็มที่ หรือการไอหลังการกลืนอาหารแต่ละคำ เพื่อช่วยไล่เศษอาหารที่ตกค้างอยู่ เป็นต้น
ลักษณะอาหารที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก
ควรเป็นอาหารที่มีกากน้อย มีการดัดแปลงเนื้ออาหารเป็นการปั่นแทน การรับประทานอาหารแบบปกติทั่วไป แต่ให้เป็นของเหลวต้องทำให้ข้นขึ้นโดยใช้แป้งมันหรือแป้งข้าวโพด เพื่อให้เป็นเนื้อเดียวกันมีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลวคล้ายแป้งเปียก เนื้ออาหารไม่หยาบ เป็นอาหารที่กระตุ้นการกลืนและลดสารคัดหลั่งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด อาหารเหลว อาหารที่มีส่วนผสมของนม อาหารที่มีส่วนผสมทั้งของแข็งและของเหลว ไอศกรีม เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยสำลักได้ง่าย อย่างไรก็ตามลักษณะอาหารที่จะให้ผู้ป่วยรับประทานต้องทำการประเมินระดับความเหมาะสมเสียก่อน
จัดท่าที่เหมาะสม ช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ง่ายขึ้น
ในขณะรับประทานอาหารควรจัดท่าให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งตัวตรง หรือไขเตียงนั่งศีรษะสูงประมาณ 90 องศาและข้อสะโพก /เข่างอ นอกจากนี้ควรจัดสิ่งแวดล้อม และสร้างบรรยากาศให้เงียบสงบ พูดคุยกับผู้ป่วยเท่าที่จำเป็น ไม่ทิ้งให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียว ขณะรับประทานอาหารนั้น ผู้ที่ป้อนอาหารให้ผู้ป่วยควรนั่งหรือ อยู่ในระดับต่ำกว่าระดับสายตาของผู้ป่วย ให้เวลาผู้ป่วยในการกลืน ไม่เร่งรัดผู้ป่วย ถ้ามีเสียงน้ำในคอหลังกลืน ให้ผู้ป่วยกระเเอมไอหลาย ๆ ครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้สำลักอาหาร/น้ำ และหลังรับประทานอาหาร ผู้ป่วยควรอยู่ในท่านั่งศีรษะสูง 30 – 60 องศา อย่างน้อย 30 นาที
TRICK 10 ข้อง่ายควรปฏิบัติก่อนการฝึกกลืน
- ผู้ป่วยต้องรู้ตัวดี
- ได้รับการพักผ่อนเพียงพอ
- ควรกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย เช่น อาหารรสเปรี้ยว หวาน
- ผู้ป้อนอาหารควรอยู่ในระดับสายตาของผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการสนทนา
- ป้อนอาหารครั้งละ 5 – 10 ซีซี หรือครั้งละ 1 คำ
- วางอาหารหรือยา บนลิ้นข้างที่มีแรง
- ไม่ป้อนอาหารเข้าไปลึกจนเกินไป
- กระตุ้นให้ไอหลังการกลืน
- หลีกเลี่ยงการใช้หลอดดูดอาหารและน้ำ
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1603 และ 1602