พญ. ณัฐวรรณ จารุวรพลกุล
กุมารแพทย์ สาขาพัฒนาการและพฤติกรรม
พญ. ณัฐวรรณ จารุวรพลกุล จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขากุมารเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วศึกษาต่ออนุสาขากุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหตุผลที่เลือกเรียนสาขานี้ เพราะคิดว่าสำคัญและในประเทศยังมีแพทย์ทางนี้น้อย ถ้าเป็นแพทย์สาขานี้จะได้ช่วยเด็กเรื่องพัฒนาการในกลุ่มที่เป็นโรค อย่างกลุ่มที่มีพัฒนาการช้า กลุ่มออทิสติก กลุ่มสมาธิสั้น เป็นต้น และจะทำให้การเป็นกุมารแพทย์สมบูรณ์มากขึ้น เพราะไม่ได้ดูแค่เรื่องโรค แต่จะดูเรื่องพัฒนาการ จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของเด็กด้วย เพราะหลักสำคัญของการพัฒนาคือ ต้องปลูกฝังสิ่งที่ดีให้เด็กตั้งแต่ยังเล็ก จะเป็นการช่วยสร้างบุคลิกภาพ สร้างนิสัยของเขา ซึ่งส่งผลต่ออนาคตของเด็กได้ เมื่อโตขึ้นเขาก็จะเป็นเด็กที่มีคุณภาพ และสามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้
นอกจากการรักษา การให้ความรู้และคำแนะนำก็สำคัญ
ขอบเขตการทำงานของคุณหมอณัฐวรรณมี 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ รักษาเด็กที่มีปัญหาหรือเป็นโรคทางพัฒนาการ กลุ่มอาการต่างๆ เช่น พวกที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่มีปัญหาพัฒนาการร่วมด้วย เช่น ดาวน์ซินโดรม ออทิสติก สมาธิสั้น กลุ่ม LD (Learning Disorder หรือโรคการเรียนรู้บกพร่อง) กับอีกส่วนหนึ่งคือ เด็กที่ไม่ได้เป็นโรค แต่มีปัญหาทางพฤติกรรม ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่เกิดจากตัวเด็กเองหรือเกิดจากการเลี้ยงดู หรือบางอย่างเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติตามวัย แต่พ่อแม่จัดการไม่ได้ เป็นต้น โดยหลังจากที่คุณหมอวินิจฉัยความผิดปกติแล้ว อาจจะต้องมีการส่งเด็กไปฝึกหรือปรับพฤติกรรมกับฝ่ายต่างๆ เช่น ครูฝึกพูด นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยาพัฒนาการ นักกายภาพบำบัด แล้วคุณหมอก็จะประเมินว่าได้ผลดีขึ้นหรือไม่ หรือมีปัญหาอย่างไร ซึ่งคุณหมอก็จะทำหน้าที่แนะนำ ส่งเสริม และสนับสนุนให้พ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจที่จะส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้เหมาะสมวัยและให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กด้วย
นอกจากนี้ คุณหมอยังให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจตามสื่อต่างๆ เช่น เขียนบทความลงในนิตยสาร ให้ความรู้ในงานอีเวนท์ต่างๆ ตอบคำถามในเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ Small world Doctor ซึ่งคุณหมอทำขึ้นเพื่อตอบคำถามหรือปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเด็ก เนื่องจากเห็นว่าหมอทางนี้มีน้อย และปัญหาบางอย่างก็พอแนะนำแล้วพ่อแม่อาจแก้ไขได้เอง โดยไม่ต้องมารอคิวพบหมอที่โรงพยาบาล
ครอบครัวมีส่วนในการพัฒนาเด็กมากที่สุด
“ปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กที่พ่อแม่พามาพบคุณหมอ มักจะเป็นเคสที่มีความผิดปกติด้านการพูดได้ช้า และมีปัญหาสมาธิสั้น ซึ่งสามารถรักษาได้ทุกเคส เพราะบุคลากรของโรงพยาบาลพญาไท 2 มีความพร้อมและมีศักยภาพ โดยเฉพาะทีมครู ซึ่งมีจำนวนเพียงพอ ทำให้คนไข้สามารถมาที่พญาไท 2 ที่เดียวได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องไปหาครูฝึกที่อื่นอีก แต่อุปสรรคที่ทำให้การรักษาไม่เป็นไปตามเป้าหมายส่วนใหญ่ มักมาจากพ่อแม่และคนในครอบครัวที่ไม่ยังพร้อมจะปรับไปพร้อมกับเด็ก ฉะนั้นปัจจัยที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ นอกจากการรักษา การให้คำแนะนำของหมอแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับการร่วมมือร่วมใจของคนในครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญและอยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด”