“ เบาหวานขึ้นตา ” เป็นหนึ่งอาการที่ผู้เป็นเบาหวานต้องระวัง เพราะมีความเสี่ยงสูงที่สามารถทำให้เกิดภาวะตาบอดได้ หากไม่ระวังดูแลสุขภาพของตนเองดี ๆ
แล้วผู้เป็นเบาหวานจะรู้ได้อย่างไร ? กำลังมีความเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะตาบอด อาการเบาหวานขึ้นตาเป็นอย่างไร ? เกิดจากสาเหตุใด มีวิธีการป้องกัน-รักษาอย่างไร ? สามารถศึกษาข้อมูลเหล่านี้ เพื่อดูแลตัวเองได้ หรือผู้ป่วยหวานได้
สารบัญ เบาหวานขึ้นตา
- รู้จักภาวะเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy)
- เบาหวานขึ้นตามีกี่ระยะ
- สัญญาณเตือน! เบาหวานขึ้นอาการ ที่ต้องระวัง
- สาเหตุเบาหวานขึ้นตามาจากอะไร ?
- แนวทางป้องกันโรคเบาหวานขึ้นตา
- การรักษาเบาหวานขึ้นตา
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการเบาหวานขึ้นตา
- เบาหวานขึ้นตา อันตรายไหม ?
- ผู้ป่วยเบาหวาน ควรรับการตรวจตาเมื่อไร ?
- เบาหวานขึ้นตา หายได้ไหม ?
- เบาหวานขึ้นตา กินอะไรได้บ้าง ?
รู้หรือไม่ว่า ! ผู้ป่วยโรคเบาหวานนานกว่า 10 ปี
จะมีโอกาสเสี่ยงอาการเบาหวานขึ้นตามากกว่ากว่า 80 %
ภาวะเบาหวานขึ้นตา คือ ภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งในผู้ป่วยเบาหวาน ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระยะปลอดภัยได้ โดยปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ๆ จึงส่งผลให้หลอดเลือดในจอประสาทตา (Retina) มีน้ำตาลอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกาย รวมถึงหลอดเลือดที่จอตา เกิดการอักเสบ โป่งพอง รวมถึงมีเลือด และน้ำเหลืองซึมออกที่จอประสาทตา
เมื่อเริ่มเกิดการอักเสบ ตัวผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัว ในกรณีที่ผู้ป่วยละเลยการตรวจสุขภาพตาตามคำแนะนำของแพทย์ มักรู้ตัวเมื่ออาการเริ่มรุนแรงขึ้น อาจทำให้มีอาการตาพร่ามัว เพราะอักเสบไปถึงจุดศูนย์กลางของการรับภาพ หากปล่อยไว้ก็จะทำให้เกิดการฉีกขาด จอประสาทตาหลุดลอกออก ทำให้เกิดภาวะสูญเสียการมองเห็น หรือตาบอดสนิทได้
เบาหวานขึ้นตามีกี่ระยะ ?
1. ระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดสร้างใหม่ (Non proliferative Diabetic Retinopathy, NPDR)
เป็นระยะเริ่มต้น ที่ผู้ป่วยมักไม่รู้สึกผิดปกติใด ๆ เมื่อตรวจตาอาจพบจุดเลือดออกที่จอตา ว่ามีรั่วซึมของเหลวจากหลอดเลือด ทำให้เกิดจอตาบวม และเริ่มมีอาการตาพร่ามัวเล็กน้อย แต่หากบริเวณจุดภาพชัดมีการบวม (macular edema) หรือขาดเลือด ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้
2. ระยะที่มีหลอดเลือดสร้างใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy, PDR)
เป็นระยะที่รุนแรงมากขึ้น เริ่มมีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ (neovascularization)ซึ่งเกิดจากการขาดเลือดอย่างรุนแรง หลอดเลือดเหล่านี้มักมีลักษณะเปราะบางและแตกง่ายทำให้เกิดเลือดออกในวุ้นตา และเกิดเป็นพังผืดดึงรั้งทำให้จอตา ในระยะนี้ผู้ป่วยมักมีการมองเห็นที่แย่ลงมาก และอาจเกิดการสูญเสียการมองเห็นถาวรได้
หรือถ้าหากหลอดเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นไปแทรกแซงการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งจะผลให้ความดันตาสูงขึ้นด้วย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งภาพจากดวงตาไปยังสมอง ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อหินได้อีกด้วย
สัญญาณเตือน! เบาหวานขึ้นอาการ ที่ต้องระวัง
ผู้ป่วยในระยะแรกของภาวะเบาหวานขึ้นตา อาจไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ ดังนั้นอาการตามัวจึงแสดงว่ามีอาการเบาหวานขึ้นตามากแล้ว ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตา
โดยอาการเบาหวานขึ้นตาที่ต้องรีบแพทย์อย่างเร่งด่วนได้แก้
- เริ่มมีอาการตามัว ตาพร่า การมองเห็นแย่ลง สายตาไม่คงที่
- เริ่มมองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา
- มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
- แยกแยะสีได้ยากขึ้น
- ภาพที่มองเห็นมืดเป็นแถบ ๆ
- ตามัวลง จนสูญเสียการมองเห็นในที่สุด
สาเหตุเบาหวานขึ้นตามาจากอะไร ?
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเป็นเวลานาน ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
- ระยะเวลาของการเป็นโรคเบาหวาน (ยิ่งเป็นนานก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง)
- การไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มักมาจากพฤติกรรมการกิน
- ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
- มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ หรืออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ เป็นต้นฃ
แนวทางป้องกันโรคเบาหวานขึ้นตา
การป้องกันที่ดีที่สุดคือลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แต่หากเป็นเบาหวานแล้วสิ่งมีควรระวังและควรให้ความสำคัญคือ ป้องกันและลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน โดยปฏิบัติดังนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารที่มีรสเค็ม หวาน และมีไขมันสูง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก
- ลดเลิกการสูบบุหรี่ และเลิกการดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานยารักษาเบาหวานตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ (ระหว่าง 70-100 mg/dL)
- ควบคุมระดับความดัน โดยที่ระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg)
- ควบคุมระดับไขมันในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานควรมีระดับไขมันในเลือดไม่เกินกว่าค่าปกติ
- สังเกตความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็น หากพบความผิดปกติ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นอย่างฉับพลัน เช่น ตามัว มองไม่ชัด หรือมองเห็นเป็นจุดดำ เป็นต้น ควรรีบพบแพทย์
- ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาเป็นประจำทุกปี แม้ยังไม่มีปัญหาการมองเห็น
การรักษาเบาหวานขึ้นตา
รักษาเบาหวานขึ้นตาได้อย่างไร ? ในเบื้องต้นหากผู้ป่วยเป็นในระยะแรก แพทย์จะให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ ทั้งการดูแลโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอความรุนแรงของโรค
ในกรณีที่มีอาการเพิ่มมากขึ้น การรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาในปัจจุบันมี 3 วิธีคือ
- การรักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยเลเซอร์
การรักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยเลเซอร์เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษา ในกรณีที่ตรวจตาแล้วพบว่า ผู้ป่วยมีอาการเบาหวานขึ้นตาในระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่และในกลุ่มผู้ป่วยที่มีจุดภาพชัดบวม
หลังทำเลเซอร์จะช่วยให้หลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติฝ่อลง ส่งผลให้จอตายุบบวม เลี่ยงการเกิดเลือดออกในตา และชะลอให้ไม่ให้ตาบอดได้
- รักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยยา
การรักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยยา จะเป็นการฉีดยาเข้าวุ้นตา ด้วยคุณสมบัติของตัวจะช่วยลดการรั่วของหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดที่เกิดใหม่ฝ่อลง ให้ผลการรักษาดี แต่ฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นานและมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาเข้าวุ้นตาได้ เช่น การอักเสบ หรือมีเลือดออกในวุ้นตา
- การรักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดรักษาเบาหวานขึ้นตา จะทำให้กรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีเลือดออกในตาเป็นจำนวนมาก จนไปดึงพังผืดของจอประสาทตา การผ่าตัดวุ้นตา จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรือลุกลามไปมาก และยังสามารถช่วยซ่อมแซมจอตาที่ลอกให้กลับเข้าที่เดิม ลดความเสี่ยงตาบอด แต่การมองเห็นก็อาจไม่กลับมาเป็นปกติเหมือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการเบาหวานขึ้นตา
เบาหวานขึ้นตา อันตรายไหม ?
ภาวะเบาหวานขึ้นตา ถือเป็นอาการแทรกซ้อนที่อันตราย เพราะมีความเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะตาบอดสนิทได้ หากละเลย หรือไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้ ผู้ป่วยปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน รวมถึงไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรักษาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้หากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูง อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ นอกจากตาบอดแล้ว ยังเสี่ยงเกิด ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือแม้กระทั่งถูกตัดขาได้
ผู้ป่วยเบาหวานควรรับการตรวจตาเมื่อไร ?
ผู้ป่วยเบาหวาน ทุกควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์และนัดติดตามผลอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง หากพบความผิดปกติ จะได้ป้องกันและรักษาได้อย่างเหมาะสม
เบาหวานขึ้นตา หายได้ไหม ?
เบาหวานขึ้นตาไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นสภาพปกติได้ การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่ป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรง หรือลุกลามไปถึงระยะที่เป็นอยู่ ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำตาลสะสมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
เบาหวานขึ้นตา กินอะไรได้บ้าง ?
การควบคุมอาหารเพื่อไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูง โดยควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นทานอาหารเพื่อสุขภาพ ลดอาหารที่มีรสเค็ม หวาน และมีไขมันสูง
- แนะนำประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง หรือมีมันน้อย เช่น เนื้อปลา อกไก่
- ควรรับประทานผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ ส้ม
- หลีกเลี่ยงขนมหวาน และอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง (ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง)
- เลี่ยงอาหารการปรุงรสชาติอาหารเพิ่มเติมจากเครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น เกลือแกง น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอส
โดยสรุป เบาหวานขึ้นตา สามารถป้องกันได้ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในระดับปกติ และควรตรวจตาเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงที่รุนแรง ในกรณีมีอาการเบาหวานขึ้นตาแล้ว การรีบรักษาเพื่อไม่ให้อาการลุกลามเป็นสิ่งสำคัญ หากละเลยปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่อง และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็ส่งผลให้เกิดเบาหวานขึ้นตา รุนแรงถึงขั้นตาบอดสนิทได้
พญ. สุวรรณา ไชยชุมศักดิ์
อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม
ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ
สอบถามรายละเอียดหรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่
LINE OA@phyathai3family