รู้ไหมว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคร้ายที่มีคนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด วิธีหนึ่งในการลดอัตราการสูญเสียคือการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยและปลอดภัยกับคนไข้อย่างการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องน่ากลัวที่ต้องกังวลอีกต่อไป
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ คืออะไร
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ยืดหยุ่นได้ มีกล้องและไฟบริเวณปลายเพื่อให้ได้ภาพคมชัดในการตรวจ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นพยาธิสภาพภายในได้อย่างชัดเจน และทำการตรวจรักษาในจุดต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ
ผู้ที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยการส่องกล้อง
- อายุ 50 ปีขึ้นไป
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืดเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำ
- น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลียท้องผูกหรือท้องผูกสลับท้องเสีย
- มีการระคายเคือง มีการอักเสบของลำไส้เรื้อรัง
- เคยตรวจพบติ่งเนื้อผิดปกติในลำไส้ใหญ่
- ชอบบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง ไขมันสูง มีกากใยน้อย
- ดื่มสุรา สุบบุหรี่
ประโยชน์ดีๆ จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- เพื่อหาสาเหตุและรักษาอาการเลือดออกในลำไส้ใหญ่
- เพื่อสาเหตุและความผิดปกติเกี่ยวกับอุจจาระ เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง อุจจาระมีเลือดปน มีติ่งเนื้อยื่นออกมา มีอาการท้องอืด แน่นท้อง ซีด อ่อนเพลีย
- ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ และช่วยในการรักษาก้อนเนื้องอกแบบที่ไม่ใช่มะเร็ง (polyps) ที่เจริญเติบโตขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่
ก่อนตรวจ ต้องเตรียมตัวอย่างไร
- คนไข้ต้องงดอาหารที่มีกากใย หรือผักผลไม้ก่อนตรวจประมาณ 2 วัน
- กินยาตามที่แพทย์ระบุเพื่อช่วยขับถ่ายอุจจาระออกจากลำไส้ใหญ่
- แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา สารเคมี ยาที่กินประจำ รวมถึงประวัติการรักษาและการผ่าตัดที่ผ่านมา
ขั้นตอนการส่องกล้อง ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) แพทย์จะฉีดยาเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและหลับ หลังจากนั้นจะใส่กล้องตรวจเข้าไปทางทวารหนัก และค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปเพื่อตรวจวินิจฉัยลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ส่วนการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper GI endoscopy) ซึ่งประกอบด้วยหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โดยแพทย์จะพ่นยาชาบริเวณลำคอ ให้นอนตะแคง และสอดกล้องเข้าทางปาก การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นจะช่วยในการประเมินวินิจฉัยอาการกลืนลำบาก ปวดท้อง เลือดออกในช่องท้อง แผลในกระเพาะอาหาร และเนื้องอก เป็นต้น
เมื่อออกจากห้องตรวจ ต้องได้รับการดูแลอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ในวันที่แพทย์นัดตรวจควรพาญาติมาด้วย โดยหลังจากส่องกล้องจะมีอาการแน่นท้อง เจ็บทวารหนัก และหากมีอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายเป็นเลือด หรือปวดท้องมาก ควรรีบมาพบแพทย์
การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่…ดียังไง?
เพราะ “มะเร็ง” เป็นโรคร้ายแรง หากตรวจพบเร็วตั้งแต่ช่วงระยะแรกเริ่ม!! ก็จะสามารถผ่าตัดได้ ซึ่งการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพรวมของลำไส้ใหญ่ได้ชัดเจน และการตรวจส่องกล้องนี้…ยังใช้สำหรับตัดติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นได้ด้วย
สอบถามรายละเอียดหรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่
LINE OA@phyathai3family