“ภาวะสมองพิการ” (Cerebral Palsy: CP) คือ กลุ่มอาการความผิดปกติของสมองส่วนมอเตอร์
(motor) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวซึ่งสัมพันธ์กับการสั่งการของกล้ามเนื้อ ความผิดปกตินี้เกิดจากระบบควบคุมการเคลื่อนไหวมีปัญหา ส่งผลให้เกิดการจำกัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวบางอย่าง และภาวะนี้สามารถฟื้นฟูพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้หรือใกล้เคียงกับเด็กปกติ
อะไรเป็นสาเหตุให้เกิด “ภาวะสมองพิการ”
สภาวะสมองพิการสามารถพบได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ขณะคลอด และหลังคลอดจนกระทั่งในวัยเด็กทารกจนถึงอายุ 2 – 3 ปี ซึ่งในกรณีที่เกิดภาวะสมองพิการ ภายหลังสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ อุบัติเหตุ หรือการถูกทารุณกรรม ซึ่งการรักษาและฟื้นฟูโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ บางรายต้องได้รับยาปรับลดการตึงตัว หรือการผ่าตัดกล้ามเนื้อที่ยึดตึงหรือการย้ายเอ็นกล้ามเนื้อ เพื่อสร้างความสมดุลของข้อต่อและการกายภาพบำบัดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ควรเริ่มทำตั้งแต่แรกเริ่ม
แนวทางการทางกายภาพบำบัดในเด็กสมองพิการ
การรักษาทางกายภาพบำบัดนั้นจะเริ่มให้การรักษาตั้งแต่แรกเกิด โดยวิธีการรักษานั้นไม่มีวิธีที่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับอาการ ลักษณะของความผิดปกติ และความรุนแรงของแต่ละบุคคลที่เกิดขึ้น ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะประเมินพัฒนาการ และจัดโปรแกรมการรักษาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยจะพิจารณาจากพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว และความสามารถในการทรงท่า หลังจากนั้นจึงวางแผนแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป โดยทั่วไปมีหลักในการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด ดังนี้
ปรับ และควบคุมความตึงตัวของกล้ามเนื้อให้ใกล้เคียงภาวะปกติมากที่สุด โดยการจัดท่าให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอยู่ในแนวที่ถูกต้อง
กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ รูปแบบการเคลื่อนไหวที่ปกติ และสามารถรักษาสมดุลเพื่อทรงท่าอยู่ได้
ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะผิดรูปของกระดูก และข้อต่อจากการหดรั้งของกล้ามเนื้อ
กระตุ้นให้มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวที่ปกติหรือใกล้เคียงปกติ
กายภาพบำบัดด้วยการจัดท่าให้ถูกต้องเหมาะสม
เริ่มจากการจัดท่าให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ให้ถูกต้อง เหมาะสมที่ควรจะเป็น เช่น
ท่านอนหงาย โดยใช้หมอนหนุนบริเวณศีรษะและใต้สะบักให้อยู่ในท่างอเล็กน้อย และรองใต้เข่าให้มีการงอเล็กน้อย ให้มีการงอสะโพกและข้อเข่าเพื่อช่วยลดอาการเกร็งของขา
ท่านอนตะแคง ใช่หมอนรองขาให้อยู่ในท่างอข้อสะโพกและข้อเข่า แล้วใช้หมอนรองด้านหลัง
ท่านอนคว่ำ ใช้หมอนข้างหรือผ้าห่มวางบริเวณอก หนุนใต้รักแร้ แล้วใช้หมอนข้างวางรองบริเวณขา
การจัดท่านั่ง ใช้มือจับที่ไหลแล้วดันตัวเด็กมาด้านหน้า แล้วใช่หมอนข้างเล็ก ๆ วางพาดบริเวณหน้าอกเด็ก จับแขนบนหมอนข้างแล้วยืดแขนไปข้างหน้า
กายภาพฟื้นฟูด้วย ฝึกการเคลื่อนไหวข้อต่อ
การเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อและความยาวของกล้ามเนื้อทำได้โดย การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อลดการหดสั้นและนำมาซึ่งความผิดรูปของข้อต่อ เช่น การยืดแขน โดยใช้มือกางเหยียดนิ้วหัวแม่มือพร้อมทั้งนิ้วทั้งสี่ออก กระดกข้อมือหงายมือพร้อมเหยียดศอกจนเต็มช่วงการเคลื่อนไหวค้างไว้นับ 1 – 10 ทำ 10 ครั้ง ส่วนการยืดขา โดยจับข้อเข่าให้งอเล็กน้อย อีกมือจับข้อเท้าให้กระดกขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ค่อย ๆ ดันให้ข้อเข่าและข้อสะโพกงอ ค้างไว้นับ 1 – 20 ทำ 10 ครั้ง
กระตุ้นฝึกการเคลื่อนไหว ให้สามารถรักษาสมดุลท่าได้
วิธีการการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ รูปแบบการเคลื่อนไหวที่ปกติและสามารถรักษาสมดุลเพื่อทรงท่าอยู่ได้ เช่นการฝึกชันคอ พลิกตะแคงตัว การลุกขึ้นนั่ง การนั่งทรงตัว การคืบ การคลาน ยืน และเดิน การฝึกการทรงตัว เช่น การฝึกทรงตัวบนบอล หรือการเดินบนทางแคบ เดินบนพื้นผิวที่มีลักษณะต่างกัน เพื่อส่งเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อในการควบคุมการทรงท่า
การใช้เครื่องช่วยและอุปกรณ์พิเศษทางกายภาพบำบัด
การใช้อุปกรณ์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการทรงท่า และจำกัดท่าทางหรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น หมอนรูปลิ่ม อุปกรณ์ฝึกยืน หรืออุปกรณ์ที่ช่วยในการเคลื่อนที่ เช่น อุปกรณ์ฝึกเดิน
นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาทางกิจกรรมบำบัดและการแก้ไขการพูด โดยนักกายภาพบำบัดจะทำการการตรวจประเมินพัฒนาการด้านใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา การฝึกการดูดกลืน ความสามารถทางด้านภาษาและการพูด เมื่อทราบก็จะวางแผนการฝึกผ่านการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การแต่งกาย การรับประทานอาหารด้วยตนเอง การฝึกการเคลื่อนไหวของแขนและมือเพื่อป้องกันข้อติดแข็งและการผิดรูปของข้อต่อ กระตุ้นการรับรู้ประสาทสัมผัส การจัดระเบียบการรับรู้และตอบสนอง ความสามารถทางด้านภาษาและการพูด ฝึกแก้ไขการพูด เป็นต้น
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1603 และ 1602