Burnout Syndrome คืออะไร อันตรายไหม ใครบ้างเสี่ยงเป็น สัญญาณบ่งบอกว่ากำลังหมดไฟในการทำงาน มีอะไรบ้าง เกิดจากอะไร รักษาและป้องกันอย่างไร ?
ภาวะหมดไฟในวัยทำงาน BURNOUT SYNDROME คืออะไร ป้องกันอย่างไร ?
อาการเครียด หดหู่ เบื่อ ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ ในโซเชียลว่า Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน กำลังเป็นปัญหาที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ เนื่องจากความเครียด ความกดดันในการทำงาน
หากสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการที่สุ่มเสี่ยงเป็น Burnout Syndrome ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้แนะนำวิธีรับมืออย่างเหมาะสม ก่อนอาการจะรุนแรง นำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ เหนื่อยล้าเรื้อรัง เป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล
- ภาวะหมดไฟในการทำงาน คืออะไร ?
- ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นภาวะหมดไฟ
- สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟในการทำงานมีอะไรบ้าง ?
- ภาวะหมดไฟในการทำงานมีผลเสียอย่างไร ?
- รับมือภาวะหมดไฟในการทำงานอย่างไรดี ?
ภาวะหมดไฟในการทำงาน คืออะไร ?
ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะความอ่อนล้าทางอารมณ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรัง ทำให้รู้สึกหมดไฟ มองตัวเองในแง่ลบ ไม่มีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน รู้สึกห่างเหินจากผู้ร่วมงาน และไม่รู้สึกผูกพันกับสถานที่ทำงาน
ภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้อยู่ในแนวทางการวินิจฉัยโรค แม้ยังไม่ถูกจัดว่าเป็นความเจ็บป่วยหรือมีเงื่อนไขทางการแพทย์ (Medical condition) แต่นักวิชาการที่เกี่ยวข้องก็ให้ความสนใจและมีการพูดถึงประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นภาวะหมดไฟ
- ผู้ที่ทำงานหนัก มีภาระงานมาก ทำงานล่วงเวลา
- งานมีความซับซ้อน รีบเร่ง ทำให้เกิดความกดดัน
- จริงจังเกินไป ขาดความยืดหยุ่น ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ
- ทำงานที่ไม่ได้มีความรักหรือความปรารถนาที่จะทำ
- ขาดอำนาจในการตัดสินใจ มีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน
- ไม่ได้รับการตอบแทนหรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเท
- ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และไม่เปิดใจยอมรับ
- รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม ไร้ตัวตน
- ระบบบริหารงานหรือค่านิยมองค์กรขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิต
- องค์กรไม่มั่นคง นโยบายบริหารไม่มีความชัดเจน
Burnout Syndrome สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ขาดสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เช่น ในผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริการ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องแบกรับความเสี่ยง ความกดดัน ความคาดหวัง ทำให้มีทัศนคติในด้านลบต่องานที่ทำ จึงนำไปสู่ภาวะภาวะหมดไฟในที่สุด
สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟในการทำงานมีอะไรบ้าง ?
เนื่องจาก Burnout Syndrome เป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ต่องานที่ทำในรูปแบบต่าง ๆ หากสงสัยว่าตนเองมีกำลังมีภาวะหมดไฟ สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ดังนี้
- อาการทางกาย สูญเสียพลังงานหรืออ่อนเพลีย (Exhaustion)
นอนไม่หลับ ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อย หมดแรง ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ภูมิตก ไม่มีสมาธิ ความสามารถในการจำลดลง
- อาการทางอารมณ์ รู้สึกไม่อยากทำงาน หรือมีทัศนคติเชิงลบต่องานที่ทำ (Negativism)
รู้สึกเบื่อ ไม่มีความสุข หดหู่ ไม่มีชีวิตชีวา สิ้นหวัง ไม่มีแรงจูงใจ อารมณ์แปรปรวน โกรธ หงุดหงิดง่าย มองโลกในแง่ร้าย ไม่สนใจความรู้สึกผู้อื่น มีความขัดแย้งระหว่างบุคคลมากขึ้น สงสัยในความสามารถของตัวเอง
- อาการทางพฤติกรรม ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง (Professional Efficacy )
มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนน้อยลง แยกตัวออกจากกลุ่ม หมกมุ่นอยู่กับการทำงาน ไม่กระตือรือร้น ผัดวันประกันพรุ่ง บริหารจัดการเวลาไม่ได้ ขาดความคิดสร้างสรรค์ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ไปจนถึงมีการใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์
ภาวะหมดไฟในการทำงานมีผลเสียอย่างไร ?
ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) มีความสัมพันธ์กับความเครียด จึงนำไปสู่ปัญหาทางร่างกายและอารมณ์หลายอย่าง ทั้งการนอนไม่หลับ ฝันร้าย ไม่มีสมาธิ เบื่อ หดหู่ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตเช่น โรคซึมเศร้า ตามมาได้ หรือในบางคนที่มีการใช้ยา สารเสพติด แอลกฮอล์ และมีภาวะเครียดเรื้อรัง ก็นำไปสู่การเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน
จะเห็นได้ว่าจิตใจและร่างกายของคนเรามีความสัมพันธ์กัน หากจิตใจมีการเจ็บป่วย ก็จะแสดงออกมาทางพฤติกรรมและร่างกายด้วย
แม้ภาวะ Burnout Syndrome จะยังไม่จัดว่าเป็นความเจ็บป่วยหรือมีเงื่อนไขทางการแพทย์ แต่ควรเฝ้าระวัง สังเกตอาการ อย่านิ่งนอนใจจนเกินไป เพราะการรู้เท่าทันโรคจะทำให้คนไข้สามารถรับมือและดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี ก่อนปัญหาจะลุกลามไปสู่การเป็นโรคอื่น ๆ ที่รักษาได้ยากกว่า
รับมือภาวะหมดไฟในการทำงานอย่างไรดี ?
หากพบว่าตนเองมีภาวะหมดไฟในการทำงาน ควรปรับสมดุลชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ ดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ ขจัดความเหนื่อยล้าที่สะสมมา ช่วยปรับสมดุลร่างกาย
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 3-4 วัน/สัปดาห์ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด
- จัดระเบียบการใช้ชีวิต เรียงลำดับความสำคัญของงาน และไม่ควรนำงานกลับมาทำที่บ้านหากไม่จำเป็น
- ทำสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด ยืดหยุ่นในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้มากขึ้น ลดความกดดันตนเอง
- ยิ้มแย้มแจ่มใส สร้างความสัมพันธ์และบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
- ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความเครียดจากการรับข่าวสารมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้นอนไม่หลับ สมาธิสั้น
- ปรับทัศนคติในการทำงาน เปิดใจยอมรับคนรอบข้าง ทำความเข้าใจเนื้องาน และองค์กร
- ลาพักร้อน ท่องเที่ยว เพื่อให้สมองปลอดโปร่ง ปรับสมดุลจิตใจ
หากรู้สึกหมดไฟในการทำงาน เครียด หรือหดหู่มาก ๆ การขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่ไว้ใจและเข้าใจ เพื่อพูดคุย ระบายความเครียด จะช่วยบรรเทาอาการของภาวะ Burnout Syndrome ได้ แต่หากรู้สึกว่าอาการมีความรุนแรง และไม่สามารถรับมือได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
สิ่งสำคัญเมื่อต้องเผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome คือการหยุดพักผ่อน ให้เวลาตัวเองได้จัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ เพื่อปรับสมดุลชีวิตให้กลับสู่ภาวะปกติ และหา Work Life Balance ในการทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมามีภาวะ Burnout อีก