เจาะลึกข้อมูลโรคไบโพลาร์ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว เกิดจากสาเหตุใด ลักษณะอาการที่สังเกตได้ ป้องกันได้หรือไม่ รักษาอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ
โรคไบโพล่าร์ (อารมณ์สองขั้ว) เดี๋ยวร่าเริง เดี๋ยวเศร้า จริงไหม รู้อาการและวิธีรักษา
“เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย” มีปัญหาทางอารมณ์ หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าตนเอง หรือคนใกล้ชิด ป่วยเป็น “โรคไบโพลาร์” หรือไม่ เพื่อให้เข้าใจโรคนี้มากขึ้น ในบทความนี้เรามีรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับ โรคไบโพล่าร์ มาแนะนำ โรคไบโพล่าร์ คืออะไร ? อารมณ์สองขั้วเป็นอย่างไร ? เกิดจากสาเหตุใด ? และรักษาได้หรือไม่ ? พร้อมรู้แนวทางป้องกัน ก่อนเสี่ยงอันตราย
โรคไบโพลาร์ คืออะไร ?
โรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว คือ โรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่มีความผิดปกติทางอารมณ์สองแบบเปลี่ยนแปลงไปมาสลับกัน แบ่งเป็น 2 ขั้ว
- อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (mania)
- อารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (depressed)
โดยในช่วงที่มีอารมณ์ ผิดปกติมักมีอาการนานแทบทั้งวัน และมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคไบโพลาร์ในประเทศไทย ในปี 2564 พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 38,681 คนที่เข้าถึงการรักษา ซึ่งลดลงจากปี 2563 ถึง 3% โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีช่วงเวลาที่เกิดอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติบ่อยกว่าอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติเพียงอย่างเดียวก็ได้
อาการของโรคไบโพลาร์
ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอาการของโรคแบ่งเป็น 2 ช่วง แปรปรวนสลับกันระหว่าง อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ และ อารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติโ ดยอาการทั้ง 2 อารมณ์จะไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ใด ๆ
1. ลักษณะช่วงอารมณ์ดีหรือก้าวร้าว : ผู้ป่วยจะมีอาการอารมณ์ดี หรือครึกครื้นกว่าปกติ หรืออาจจะหงุดหงิดมากกว่าปกติ ร่วมกับความรู้สึกว่ามีพลังงานล้นเหลือ สามารถทำกิจกรรมในแต่ละวันได้มากขึ้น ร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้แก่
- รู้สึกเชื่อมั่นในตนเองมาก หรือ รู้สึกว่าตนมีความสาคัญมีความสามารถมาก
- ไม่ต้องการการนอนหลับพักผ่อน โดยไม่มีอาการเพลียหรือต้องการนอนเพิ่ม
- พูดมากกว่าปกติหรือหยุดพูดไม่ได้
- มีความคิดแล่นเร็ว และมีหลายความคิดเข้ามาในสมอง
- ว่อกแว่กง่าย ไม่มีสมาธิ
- มีกิจกรรมที่มีจุดหมายเพิ่มขึ้นมาก (ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านสังคม การเรียนการทำงาน หรือ เรื่องเพศ) หรือกระสับกระส่ายมาก
- หมกมุ่นกับกิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลินแต่มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมา (เช่น ฟุ่ มเฟือย สำส่อนทางเพศ หรือลงทุนทำาธุรกิจโดยไม่ยั้งคิด)
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอารมณ์หงุดหงิดก้าวร้าวจนทำร้ายร่างกายผู้อื่น ก่อการวิวาท ส่วนในรายที่เป็นมากอาจมีอาการของโรคจิตร่วมด้วย เช่น คิดว่าตนมีความสามารถผิดมนุษย์ ได้ยินเสียงหรือเห็นภาพที่อื่นไม่ได้ยินหรือได้เห็น เป็นต้น
2. ลักษณะช่วงอารมณ์ซึมเศร้า : ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า รู้สึกไม่มีความสุข เบื่อหน่าย หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบทำ ร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้แก่
- มีความต้องการอาหารมากขึ้นหรือลดลง หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ
- นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
- กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้ามากขึ้น
- อ่อนเพลียหรือไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า ท้อแท้ หรือมีความรู้สึกผิดที่มากผิดปกติ
- สมาธิแย่ลง หรือตัดสินใจอะไรได้ยากขึ้น
- มองทุกอย่างในแง่ลบ คิดถึงเรื่องการตายหรือคิดฆ่าตัวตาย
สำหรับช่วงเวลาขึ้น-ลงของอารมณ์ทั้ง 2 ช่วง ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว อาจเป็นภายในหนึ่งวัน สัปดาห์ เดือน หรือปีก็ได้
สาเหตุของโรคไบโพลาร์
โรคไบโพลาร์เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- พันธุกรรมที่ผิดปกติทั้งที่เกิดจากการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษและเกิดใหม่ช่วงเป็นทารกในครรภ์
- ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็ นไบโพลาร์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงกว่าบุคคลทั่วไป
- การทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล
- ความผิดปกติของฮอร์โมน
- จากสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก
- ความเครียดในชีวิตประจำวันที่กระตุ้นให้โรคแสดงอาการ
- โรคบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน
- การใช้ยาเสพติดรวมถึง แอลกอฮอล์และกัญชา
การรักษาโรคไบโพลาร์
การรักษาโรคไบโพลาร์ จะรักษาตามอาการ โดยจะต้องให้จิตแพทย์พิจารณา โดยสามารถรักษาด้วยการใช้ยาเป็นหลัก เพื่อปรับสารสื่อประสาทและควบคุมอารณ์ ควบคู่ไปกับการดูแลตัวเอง หรือแนะนำให้ทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อให้สามารถจัดการกับความเครียด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยจะต้องอาศัยระยะเวลา เฉลี่ย 2-8 สัปดาห์
ทั้งนี้โรคไบโพลาร์ สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้สูง ดังนั้นจิตแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและญาติ
สำหรับการดูแลตัวเอง เพื่อให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้
- ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการรับประทานยา หากพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ และไม่ควรหยุดยาเอง
- พยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หมั่นดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด
- หากิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด ทำจิตใจให้สบาย
- หมั่นสังเกตอารมณ์ของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมากขึ้น
- แจ้งให้คนใกล้ชิดทราบถึงอาการเริ่มแรกของโรค เพื่อให้ช่วยสังเกตและพาไปพบแพทย์
ในกรณีที่เป็นคนใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไบโพลาร์ ควรปฏิบัติดังนี้
- พยายามทำความเข้าใจว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยที่แท้จริงของผู้ป่วย
- ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของจิตแพทย์ และไม่ให้ผู้ป่วยหยุดยาก่อนปรึกษาจิตแพทย์
- สังเกตุอารมณ์ของผู้ป่วย เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรคและรีบพาผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมากขึ้น
- ควรให้กำลังใจเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์ขึ้น ๆลง ๆ จนรู้สึกผิดปกติ และสงสัยว่าตนเอง เข่าข่ายโรคไบโพลาร์หรือไม่ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัด เพื่อลดผลกระทบต่อใช้ชีวิต การทำงานหรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
อกสารอ้างอิง