บุคคลที่มีปัญหาโลหิตจางมีอาการ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เคยทำได้ลำบากมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการตรวจสุขภาพประจำปีมากขึ้น ยังพบบุคคลเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆไม่ลดลง เหตุเพราะเพิกเฉยปัญหาโลหิตจางตอนที่ทราบว่ามีโลหิตจางเพียงเล็กน้อยหรือคิดว่าแค่รับประทานยาบำรุงเลือดก็หายแล้ว
แล้ว…โลหิตจางหายเองจริงไหม เมื่อไปซื้อยารับประทานเองโดยไม่หาสาเหตุ จะเลือกรับประทานยาบำรุงโลหิตตัวไหนดีเลือกไม่ถูก จะแจ้งเภสัชกรว่าอะไรดี ทำไม่ยิ่งรับประทานยายิ่งโลหิตจาง ยาปลอม ยาหลอก หรือเราหลอกตัวเองว่าไม่เป็นอะไร กรณีที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบและ/หรือหลอดเลือดสมองตีบเป็นโรคประจำตัวร่วมกับโลหิตจางจากสาเหตุใดๆยิ่งทำให้อาการแย่ลงได้ชัดเจน จากที่เลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่พร้อมจะขาดเลือดอยู่เสมอมากขึ้น
สถานการณ์ที่มัก วนเวียนมาพบโลหิตแพทย์บ่อยครั้ง
- เคยบริจาคโลหิตได้หลายครั้ง รับประทานยาบำรุงโลหิตที่ได้รับมาแต่โลหิตจางไม่ดีขึ้น จึงหยุดบริจาคโลหิตไป
- โลหิตจางมากขึ้นเรื่อยๆจนมีอาการ โดยได้รับรายงานว่าโลหิตจางจากการตรวจสุขภาพทุกปี แต่เพิกเฉยเพราะไม่เหนื่อย คิดว่าไม่เป็นปัญหา
- ประสงค์มารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรค แต่ศัลยแพทย์ไม่ผ่าตัดให้เพราะโลหิตจางมากเกินกว่าที่จะยอมรับ หาโลหิตให้ไม่ได้ เพราะขาดแคลนกระทันหัน ความบกพร่องที่โรงพยาบาลไม่มีความพร้อม?
- ยิ่งให้สารประกอบโลหิต แต่โลหิตจางมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น อาการยิ่งแย่ลง
- รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ตลอด รับประทานยาสม่ำเสมอ แต่เหนื่อยมากขึ้น
- ปวดหลัง แน่นหน้าอก เอกซเรย์พบความผิดปกติที่แนวกระดูกสันหลัง
- ซื้อยาบำรุงวิตามินมารับประทานเองอยู่หลายปี แล้วมาปรึกษาแพทย์ว่าควรรับประทานต่อดีไหม
- รับปรึกษาโลหิตจางที่ห้องฉุกเฉิน เพราะมีเลือดออกในสมองด้วยโลหิตจางมากจนวูบล้มแล้วศีรษะกระแทกพื้น
- ถือผลเลือดที่พบว่าโลหิตจาง แล้วถามแพทย์ว่าต้องรับประทานยาอะไร โดยปฏิเสธการตรวจเพิ่มเติม
เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ เกิดจากความรู้จากสื่อ ออนไลน์มีมากขึ้นแต่กรั่นกรองไม่ได้ว่าใช่ปัญหาที่ตรงกับเราไหม จึงเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน การเข้าถึงแหล่งยาได้ง่ายแต่ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะทราบว่าโลหิตจางจากอะไร จึงรับประทานยาบำรุงโลหิตผิดชนิด ไม่ใส่ใจในผลตรวจสุขภาพจนปล่อยผ่านนับวันรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยรักษา ยอมเสียค่าใช้จ่ายอย่างมากเมื่อเกิดปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้ทั้งที่เคยมีโอกาสเลี่ยงได้
คำวินิจฉัยเบื้องต้นที่แพทย์มักแจ้งคือ โลหิตจางมากต้องหาสาเหตุก่อนเพื่อรักษาให้ตรงสาเหตุ การรับสารประกอบโลหิต หรือ รับประทานยาบำรุงโลหิต อาจเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุเสียมากกว่า
บทความโดย นายแพทย์ศิริวิชญ์ สมานวรกิจ ศูนย์มะเร็งและโรคเลือดชั้น 14 02-4671111 ต่อ 1730-1731
ให้คำปรึกษาโดยพยาบาลชำนาญการ 081-9376906