อาการทางกระดูกสันหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
กระดูกสันหลังคัด กระดูกสันหลังพรุน เป็นต้น เมื่อการรักษาเกี่ยวกับกระดูกสันหลังไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ให้ดีขึ้นได้แล้ว การผ่าตัดกระดูกสันหลัง จึงเป็นทางออกสุดท้ายที่นำมาใช้ในการรักษา ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่แพร่หลาย โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาตามลักษณะอาการของโรค เช่น เพื่อลดอาการปวด เพื่อลดการกดทับประสาทไขสันหลัง ฯ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ป่วยหลายๆ ท่านกังวลกับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะประเด็นของการกลับมาลุกเดินได้อีกครั้งหรือไม่
ก่อนทำการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ต้องรู้อะไรบ้าง
การผ่าตัดกระดูกสันหลังผู้ป่วยและญาติต้องรู้ก่อนว่าผลจาการผ่าตัด อาจจะดีบ้างและไม่ดีบ้างหรือไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ป่วย แต่อัตราของผลเสียนับว่ามีอยู่น้อยมาก โดยองค์ประกอบที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผลการรักษาที่ทำให้การผ่าตัดอาจจะไม่ได้ผลตามความคาดหวังผู้ป่วย มีอยู่ 4 ปัจจัย คือ
ทีมแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากน้อยเพียงใด ทั้งเรื่องการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง และโรคอื่นๆ ในผู้ป่วยรายนั้นๆ เช่น เบาหวาน ความดัน ประวัติการรับประทานยา เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการผ่าตัดทั้งสิ้น
ตัวผู้ป่วยเอง เช่น ในกรณีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ยิ่งในรายที่มีโรคประจำตัวมากว่า 1 โรค ย่อมส่งผลต่อการฟื้นฟูร่างกาย
การเลือกวิธีการรักษา ต้องยอมรับว่าปัจจุบันวิธีการรักษาผ่าตัดสามารถทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังก็มีหลายวิธีเช่นกัน เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง, การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ หรือการผ่าตัดใหญ่แบบผ่าตัดเปิดแผลโดยตรง ซึ่งวิธีการเหล่านี้มีผลต่อการหายจากโรค และการกลับคืนสู่สภาพปกติทางด้านร่างกาย
การดูแลหลังผ่าตัด เช่น การทำกายภาพอย่างถูกวิธี และการออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่หักโหม หรือใช้แรงมากจนเกินไป รวมถึงการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำร้ายกระดูกสันหลัง
เมื่อผ่าตัดกระดูกสันหลัง สามารถเดินได้ปกติหรือไม่?
เมื่อเข้ารับการผ่าตัด และทำกายภาพบำบัด พร้อมปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง แต่ในกรณีที่เดินไม่ได้กว่า 80-90 % มาจากตัวผู้ป่วยเอง เช่น หลังผ่าตัดไม่ยอมทำกายภาพบำบัด อาจด้วยมาจากสาเหตุของอายุที่มากขึ้น ต้องใส่อุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลังแล้วไม่สบายตัว รู้สึกปวดแผล เจ็บแผลจึงไม่อยากขยับร่างกาย ลูกหลานก็ไม่อยากให้ฝืน ขาดการทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับก่อนเข้ารับการผ่าตัดผู้ป่วยไม่ได้รับการออกกำลังกาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อขาดความแข็งแรง เสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ ตลอดการพักฟื้นไม่ออกกำลังกาย หรือทำกายภาพบำบัดเลย รอจนกว่าแผลหายดี เมื่อถึงเวลานั้นกล้ามเนื้อที่ไม่เคยใช้งานตลอด 3-4 สัปดาห์ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง เมื่อลุกยืนไม่ไหว กระทั่งเกิดเป็นความท้อใจ ผู้ป่วยก็จะกลับไปนอนติดเตียงอีกครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้กล้ามเนื้อแต่ละส่วนก็จะฝ่อลงเรื่อยๆ เพราะไม่ได้ขยับ หรือเคลื่อนไหว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นที่มาของผู้ป่วยที่ผ่าตัดแล้วไม่สามารถกลับมาเดินได้
หลังผ่าตัดกระดูกสันหลังต้องเจออะไรบ้าง
โดยทั่วไปผู้ป่วยจะลุกยืน และสามารถเริ่มฝึกเดินในช่วงวันที่ 2 หรือ 3 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่แพทย์เห็นสมควร โดยที่ผู้ป่วยได้ทำการถอดสายระบายเลือดหรือปัสสาวะแล้ว ในช่วงวันแรกๆ อาจมีความรู้สึกปวดตึง และเจ็บบริเวณแผลผ่าตัด เมื่อยาชา หรือยาระงับปวดอ่อนฤทธิ์ลง หากในช่วงนี้มีอาการปวดแผลแนะนำให้แจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลเพื่อรับยาแก้ปวด ทั้งนี้อาการปวดจากการผ่าตัดจะค่อยๆ ทุเลาลงในช่วง 3-4 วันต่อมา(ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ขนาดแผล อายุ และต้นทุนเดินด้านสภาพร่างกาย) ในระหว่างนี้ผู้ป่วยและญาติควรให้ความสำคัญกับการทำกายภาพฟื้นฟู เพื่อให้กล้ามเนื้อกลับมาแข็งแรงได้เร็วขึ้น
โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้น และสบายตัวมากขึ้น และสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวัน หรือกลับไปทำงานได้ในช่วง 3-4 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย ลักษณะของงานที่ทำ และชนิดของการผ่าตัด
Don’t 5 พฤติกรรมต้องห้ามหลัง “ผ่าตัดกระดูกสันหลัง”
1. ก้มๆ เงยๆ หรือ ก้มตัวสุด หรือแอ่นหลังสุด
2. ก้มหลังเก็บของ -ยกของ ผิดวิธี (ควรย่อเข่า)
3. ยกของหนัก
4. อยู่ในที่ซึ่งมีการสั่นสะเทือน
5. นั่งนานๆ นั่งแช่อยู่กับที่ โดยเฉพาะในที่นั่งซึ่งอ่อนนุ่มจนทำให้หลังโค้งงอ