เอ็นร้อยหวายเสื่อมถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่เกี่ยวข้องกับเท้าที่พบได้บ่อย ซึ่งก็พอคนทั่วไปเห็นคำว่า “เสื่อม” ก็มักจะคิดว่าคนที่มีความเสี่ยงคือผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว หนุ่มๆ สาวๆ ชาวออฟฟิศทั่วไป ก็สามารถป่วยเป็นโรคเอ็นร้อยหวายเสื่อมได้ อันจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดในการเดินและทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างมาก ดังนั้น การทำความรู้จักกับโรคเอ็นร้อยหวายเสื่อมเอาไว้ จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยทำให้ช่วงวัยหนุ่มสาวของเราห่างไกลจากโรคนี้ และเดินเหินได้อย่างคล่องแคล่วปกติดี ไม่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน
อาการเป็นอย่างไร ถึงน่าสงสัยว่าเอ็นร้อยหวายเสื่อม ?
โรคเอ็นร้อยหวายเสื่อม คือ โรคที่เกิดจากความเสื่อมของเอ็นร้อยหวาย ซึ่งจะเสื่อมมากเสื่อมน้อย หรือเสื่อมไวแค่ไหน ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่อายุอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการใช้ร่างกายด้วยว่า ใช้อย่างหนักหน่วง และถูกสุขลักษณะมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ อาการที่เป็นสัญญาณเตือน บ่งบอกถึงว่าเราเป็นเป็นโรคเอ็นร้อยหวายเสื่อมนั้น ได้แก่
- อาการเจ็บปวด บริเวณส้นเท้าด้านหลัง ยิ่งใช้งานเท้ามากเท่าไร ก็ยิ่งปวดมากขึ้นเท่านั้น
- รู้สึกว่ามีกระดูกนูนที่ส้นเท้า ซึ่งหลายคนอาจไม่ได้สังเกต
- พบว่ารองเท้ากัดบ่อยขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่เคยถูกรองเท้าคู่นั้นกัดมาก่อน เนื่องจากกระดูกที่ส้นเท้านูนขึ้น ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้กระดูกนูนขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะเมื่อเอ็นร้อยหวายเสื่อมที่บริเวณจุดเกาะ เอ็นร้อยหวายจะมีการฉีกขาดเล็กๆ ซึ่งร่างกายก็จะซ่อมแซมตัวเอง โดยหากซ่อมผิดก็จะสร้างหินปูนขึ้นมาด้านหลังส้นเท้า ทำให้ส้นเท้าด้านหลังเรานูนกว่าปกติ และเกิดรองเท้ากัดได้ง่ายขึ้นบ่อยขึ้น ทั้งที่ไม่เคยมีปัญหามาก่อน
- ในกรณีเอ็นร้อยหวายเสื่อมที่บริเวณเหนือจุดเกาะ อาจคลำได้ก้อนนูน มีปุ่มนูนขึ้นมาชัดเจน
ทั้งนี้ โรคเอ็นร้อยหวายเสื่อมยังแยกประเภทออกได้เป็น เอ็นร้อยหวายเสื่อมที่บริเวณจุดเกาะกระดูกส้นเท้า และ เอ็นร้อยหวายเสื่อมบริเวณส่วนที่สูงกว่าจุดเกาะของส้นเท้า และในคนไข้บางราย ก็อาจพบโรคอื่นแทรกซ้อนร่วมด้วยก็ได้ อย่างเช่นโรคถุงน้ำหน้าเอ็นร้อยหวายอักเสบ เป็นต้น
สาเหตุปัจจัยใด ที่ทำให้เสี่ยงเอ็นร้อยหวายเสื่อม ?
ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือว่าผู้ชาย ทุกคนล้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเอ็นร้อยหวายเสื่อมด้วยกันทั้งสิ้น โดยมีสาเหตุ และปัจจัยสนับสนุนโอกาสเสี่ยง ที่ควรระวัง ดังต่อไปนี้
- การใช้เท้าอย่างหนัก ทำกิจกรรมซ้ำๆ จนกล้ามเนื้อน่องตึงตัวผิดปกติ จะทำให้เอ็นร้อยหวายขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้แรงกดบริเวณฝ่าเท้าเยอะขึ้น นำสู่การเสื่อมของเอ็นร้อยหวายได้ไวมากขึ้น
- น้ำหนักตัวมาก ส่งผลให้เกิดแรงกดในการใช้เท้ามาก ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสความเสื่อมได้มากขึ้น
- ผู้ที่มีเท้าผิดรูป เช่นเท้าแบน เท้าโก่งสูง มีโอกาสทำให้เอ็นร้อยหวายเสื่อมได้ไวขึ้น เนื่องจากรูปเท้าที่ผิดปกติทำให้เอ็นร้อยหวายตึงตัวมากกว่าปกติ และยิ่งไม่มีการยืดเหยียด รวมถึงใช้งานในลักษณะที่เพิ่มความตึงตัวเป็นเวลานานๆ ก็ยิ่งทำให้เอ็นร้อยหวายเสื่อมได้ง่ายมากขึ้น
- สวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าบางเกินไป ทำให้เท้า กระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็น ต้องรับแรงกระแทกเวลาทำกิจกรรมมากกว่าปกติ รองเท้าแฟชั่นที่บีบรัดเท่าให้ผิดรูป รองเท้าที่ไม่เหมาะกับรูปเท้า คับแน่นเกินไป รองเท้าส้นสูง ฯลฯ โดยการใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมทำกิจกรรม เดินเป็นเวลานานๆ ก็จะยิ่งเพิ่มปัญหา เพิ่มภาระให้เอ็นร้อยหวาย ทำให้เกิดความเสื่อมได้ง่ายขึ้น
รักษาอย่างไรให้หายดี เมื่อมีปัญหาเอ็นร้อยหวายเสื่อม ?
แนวทางในการรักษาโรคเอ็นร้อยหวายเสื่อมนั้น โดยปกติแล้วจะเน้นที่การบริหารเป็นสำคัญ ซึ่งจะเป็นการบริหารให้กล้ามเนื้อน่องกลับมามีความยืดหยุ่น และไม่ส่งผลทำให้เอ็นร้อยหวายตึง จึงเกิดการฉีกขาดเวลาใช้งาน และลดอาการอักเสบเจ็บปวดลงไปได้ในที่สุด ทั้งนี้ เพราะ “ความเสื่อม” เราไม่สามารถยับยั้งได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ “การชะลอ” ปัจจัยที่ทำให้เอ็นร้อยหวายทำงานหนัก ไม่ว่าจะเป็นการใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม น้ำหนักตัวมากเกินปกติ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ เช่น การใช้งานเท้าหนัก การออกกำลังกาย เล่นกีฬาหนักหักโหม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้หากเราบริหารร่างกายจนกลับมาดีขึ้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยงได้ เอ็นร้อยหวายที่เสื่อม ก็จะไม่มีอาการ แม้ส่วนที่ปูดนูนจะไม่หายไป แต่อาการเจ็บปวดก็จะไม่มารบกวนเรา แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับในกรณีที่การบริหารใช้ไม่ได้ผลแนวทางในการรักษาโรคเอ็นร้อยหวายเสื่อมขั้นต่อไป ก็ได้แก่การใช้คลื่นเสียง หรือ Shock Wave ไปกระตุ้นบริเวณที่มีการตึงตัวให้คลายลง เพื่อให้อาการปวดหายไป หรือในขั้นสุดท้ายถ้าใช้ทุกวิธีแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยหากเป็นโรคเอ็นร้อยหวายเสื่อมที่บริเวณจุดเกาะ แพทย์จะทำการตัดส่วนที่เสื่อมออก เพราะส่วนที่เสื่อมจะมีการฉีกขาด มีการอักเสบที่ทำให้มีอาการเจ็บปวด นอกจากนั้นก็จะทำการผ่าตัดหินปูนที่เกิดจากการซ่อมแซมตัวเองของร่างกายที่ผิดปกติออกด้วย และดำเนินการเย็บส่วนเอ็นร้อยหวายที่ดีไปใช้แทนที่ใหม่ที่บริเวณกระดูกส้นเท้า สำหรับกรณีที่เอ็นร้อยหวายเสื่อมมาก จนไม่เหลือเอ็นร้อยหวายที่ดีไปใช้ แพทย์จะใช้วิธีย้ายเอ็นที่อยู่ใกล้เคียงไปช่วยทำงานแทนเอ็นร้อยหวายเดิมที่เสื่อมและต้องตัดทิ้งไป
เพราะชีวิตคนเราจำเป็นต้องเดิน วิ่ง เคลื่อนไหวเพื่อทำกิจกรรมตลอดเวลา ดังนั้น หากปล่อยให้เอ็นร้อยหวายเสื่อมไว จนเกิดความเจ็บปวดในทุกย่างก้าวที่เดิน ก็คงทำให้คุณภาพและความสุขในการใช้ชีวิตนั้นลดน้อยลงอย่างมาก ดังนั้น การดูแลการใช้เท้าตัวเองให้ดี หมั่นบริหารยืดเหยียด เพื่อคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดความตึงของกล้ามเนื้อน่องที่เป็นสาเหตุโรค ตลอดจนเลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับเท้าถูกสุขลักษณะ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และในขณะเดียวกัน ก็ควรหมั่นสังเกตอาการ โดยหากพบอาการเจ็บปวดบริเวณส้นเท้าด้านหลัง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเอ็นร้อยหวายเสื่อม จึงควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยรักษาให้โรคไม่ลุกลามบานปลาย
—
นพ.ชาคร ริมชลา
แพทย์ด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อการผ่าตัดเท้าและข้อเท้า
โรงพยาบาลพญาไท 3
โทร.02-467-1111 ต่อ 3100 และ 3112
Phyathai Call Center 1772