คอคือหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย ที่คนส่วนใหญ่อาจละเลยที่จะใส่ใจดูแลโดยสังเกตได้จากอาการปวดคอ ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจว่าจะนำไปสู่โรคร้ายอะไรได้บ้าง หรือการที่หลายๆ คนชอบบิดคอไปมาให้ดังกร๊อบแกร๊บเพราะรู้สึกว่าการทำแบบนั้นแล้วช่วยให้รู้สึกดี ผ่อนคลาย หายเมื่อย ซึ่งจริงๆ นั้นตรงกันข้าม เพราะเป็นการบริหารคอที่ผิดวิธี แถมมีแต่จะเร่งอาการเสื่อมของกระดูกคอให้มีมากขึ้นด้วย อันนำไปสู่การป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาท ที่บางรายอาการรุนแรงถึงขั้นปวดมากจนขยับคอไม่ได้
ทำความรู้จัก โรคกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาท
หลายคนอาจเคยได้ยินแต่โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท แต่อาจไม่ค่อยคุ้นหูกับกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาทเท่าไร แต่รู้หรือไม่ว่า โอกาสของการเกิดโรคกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาทนั้นมีมากไม่แพ้กันเลย เนื่องจากในแต่ละชั่วโมงกระดูกสันหลังส่วนคอของคนเราจะมีการเคลื่อนไหวมากกว่า 500 ครั้ง แล้วลองคิดดูว่าในหนึ่งวันกระดูกคอคนเราจะต้องเคลื่อนไหวใช้งานมากแค่ไหน ซึ่งนั่นยิ่งทำให้หากเราเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมอะไรที่หนักๆ เสี่ยงๆ และทำด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ก็จะส่งผลต่อความเสื่อมของกระดูกคอที่เพิ่มมากขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุแล้ว ในบางรายที่เป็นโรคกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาทนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ปวดและขยับคอไม่ได้เท่านั้น แต่ยังอาจทำให้แขนขาชา และอ่อนแรงได้ด้วย
อาการแบบไหน? สัญญาณเตือนภัยโรคกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาท
- มีอาการคอเกร็ง ขยับและเคลื่อนไหวลำบาก
- รู้สึกปวดคอ และจะยิ่งปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว
- แขนอ่อนแรง และมีอาการชาร่วมด้วย
- ปวดคอร้าวลงแขน
ข้อควรสังเกตของอาการที่เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าเราอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาท คือ การที่ไม่สามารถเอี้ยวคอ หรือเหลียวคอได้สะดวก คือ จะรู้สึกเกร็ง มีอาการปวด ยิ่งฝืนหันคอยิ่งเจ็บ ไม่สามารถหันได้เกิน 90 องศา ซึ่งหากพบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
วิธีการผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังที่คอทับเส้นประสาท
สำหรับแนวทางในการรักษาโรคกระดูกสันหลังที่คอทับเส้นประสาท จริงๆ แล้วมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยประสบอยู่ โดยหากยังไม่ได้เป็นอาการรุนแรง ก็สามารถทำการรักษาได้ด้วยวิธีกายภาพบำบัด การนวดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ร่วมกับการรับประทานยาและการใช้เครื่องมือผ่อนคลายกล้ามเนื้อคอ แต่หากวินิจฉัยแล้วพบอาการรุนแรง ก็คือมีอาการชาและอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบรับการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยเข้ารับการทำ MRI เพื่อตรวจวินิจฉัย และทำการผ่าตัดเพื่อรักษาการทำงานของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทที่เป็นทางเลือกทีมีประสิทธิภาพนั้น เรียกว่า Anterior Cervical Discectomy And Fusion หรือ ACDF เป็นการใช้เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally invasive surgery) ด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง ที่เรียกว่า Microscope เข้าทำการรักษาโดยผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกที่คอทับเส้นประสาทอยู่ออก แล้วใส่วัสดุทดแทนเข้าไปเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังบริเวณคอให้ยึดต่อกัน
ข้อดีของการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่คอทับเส้นประสาทแบบ ACDF คือ
- แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กประมาณ 3 ซม.
- เปิดปากแผลเล็ก ทำให้เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย โอกาสสำเร็จสูง
- ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด
- ฟื้นตัวเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายในการพักฟื้น
- หายไว กลับบ้านได้ไวขึ้น กลับไปเคลื่อนไหวใช้ชีวิตได้ตามปกติไวขึ้น
ปรับปรุงพฤติกรรมเหล่านี้ แล้วสุขภาพกระดูกสันหลังส่วนคอเราจะดีแข็งแรงขึ้น
เนื่องจากสาเหตุหลักของความเสื่อมบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอนั้น มาจากพฤติกรรมและการใช้งาน ดังนั้น หากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ท่าทาง ในชีวิตประจำวันเราให้ถูกสุขลักษณะ ก็จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาทมากขึ้น โดยพฤติกรรมต่อไปนี้ คือพฤติกรรมที่เราควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้เราเสี่ยงน้อยลง
- เลิกนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ท่าเดียวเป็นเวลานานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ
- ไม่ควรนอนหมอนสูงเกินไป หรือเลิกหนุนหมอนสูงๆ เพื่อให้คอทำงานหนักน้อยลง
- เดิน นั่ง วิ่ง ควรจัดให้คอและศีรษะตั้งตรง ไม่ก้มหรือเงยศีรษะบ่อยๆ
- ไม่ควรก้มศีรษะอ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมใดเป็นเวลานานๆ และหันมายกหนังสือขึ้นอ่านแทน
- เบาะนั่งตอนขับรถ ไม่ควรห่างจากพวงมาลัยเกินไป เพราะการเกร็งคอและไหล่ขณะขับรถจะทำให้คอทำงานหนักขึ้น
“คอ” คืออวัยวะที่สำคัญมาในการใช้ชีวิตของคนเรา ลองคิดดูว่า ถ้าเราไม่สามารถหันคอไปมาได้สะดวก และทุกครั้งที่หันต้องเจ็บปวด เราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขได้อย่างไร ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หมั่นบริหารคอให้แข็งแรง และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เพื่อให้เราปลอดภัยจากโรคกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาท ซึ่งถ้าเรามีร่างกายที่แข็งแรง ก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ทำงาน ทำตามหน้าที่ ตามความฝันและเป้าหมายของเราได้อย่างเต็มที่
—
นพ.ธีรชัย ผาณิตพงศ์
ศัลยแพทย์ศูนย์สมองและกระดูกสันหลัง
โรงพยาบาลพญาไท 3