ภาวะ “กระดูกสันหลังคด” คือ ภาวะที่กระดูกสันหลังผิดรูปบางเป็นรูปตัว C บ้างเป็นรูปตัว S
(กระดูกสันหลังเอียงและหมุน) ส่งผลให้มีอาการปวดเรื้อรัง
สาเหตุของภาวะกระดูกสันหลังคด
สาเหตุเกิดได้ตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากการที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งตัวงอ การนั่งตัวเอียง การยืนลงน้ำหนักทั้งสองข้างไม่เท่ากัน การยืนพักขาบ่อย ๆ หรือการถ่ายน้ำหนักไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป
รู้ได้อย่างไรกระดูกสันหลังคด
สามารถสังเกตด้วยตัวเอง เช่น สังเกตจากการระดับของหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างว่าเท่ากันหรือไม่ หรือสังเกตจากบริเวณแนวกระดูกสันหลังว่าจะมีด้านหนึ่งนูนขึ้นและอีกข้างหนึ่งยุบตัวลง นอกจากนี้ยังสังเกตได้จากสะโพกว่ามีการบิดไปด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่ กรณีที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็อาจจะเกิดมาจากภาวะกระดูกสันหลังคดได้เช่นกัน โดยมีวิธีการเช็คตัวเองอย่างง่าย คือ ให้เอามือประสานกันแล้วก้มลงไปที่พื้น จากนั้นให้สังเกตว่าหลังทั้งสองข้างมีความนูนแตกต่างกันหรือไม่ นอกจากนี้สามารถดูได้จากการเข้ารับการตรวจจากผลเอกซเรย์ หรือการตรวจร่างกายโดยเฉพาะจากนักกายภาพบำบัด
รักษากระดูกสันหลังคดได้อย่างไร
ในส่วนของการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการคด ในกรณีที่มีการคดมากก็จะพิจารณาเรื่องของการผ่าตัด หรือใส่เสื้อพยุงแกนกระดูกสันหลังเพื่อปรับโครงสร้างของร่างกาย เป็นการลดภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การกดทับของรากประสาท แต่ในกรณีที่มีกระดูกสันหลังคดระดับปานกลางหรือน้อย จะรักษาได้ด้วยการออกกำลังกายที่ออกแบบแก้ไขให้เกิดความสมดุลของกล้ามเนื้อที่เกาะตามแนวกระดูกสันหลัง
กายภาพบำบัดอีกหนึ่งทางเลือกการรักษา
เมื่อพบภาวะกระดูกสันหลังคด การรักษาทางกายภาพบำบัดตั้งแต่ระยะแรกนั้นเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยชะลอการเพิ่มมุมการคดของกระดูกสันหลังได้ โดยนักกายภาพบำบัดจะทำการตรวจประเมิน วิเคราะห์ภาวะกระดูกสันหลังคด และออกแบบแนวทางการทำกายภาพบำบัดที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ในกรณีที่กระดูกสันหลังคดไม่มาก มักมีสาเหตุจากพฤติกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเองง่าย ๆ โดยเริ่มจากการปรับท่านั่ง ท่ายืน และการออกกำลังกายในเบื้องต้น ดังนี้
ท่าที่ 1
ให้หายางยืดขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ซึ่งเริ่มต้นด้วยการการนั่งบนเก้าอี้ จับยางยืดทั้ง 2 มือ โดยมีระยะห่างกันขนาดกว่าหนึ่งช่วงตัว ออกแรงดึง หนีบสะบักด้านหลัง แขม่วท้อง ยืดตัวขึ้น ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นค่อย ๆ ผ่อนแรงลง และกลับมาทำซ้ำอีก 10 ครั้ง
ท่าที่ 2
ใช้ยางยืดเส้นเดิมจับห่างกันคล้ายท่าที่หนึ่ง ยกขึ้นเหนือศีรษะ จากนั้นดึงศอกลงไปทางด้านหลังประมาณกลางศีรษะ แขม่วท้อง ยืดตัวขึ้น ค้างไว้ 10 วินาที และค่อย ๆ ผ่อนแรงลง และกลับมาทำซ้ำอีก 10 ครั้ง
ท่าที่ 3
นอนหงายราบไปกับพื้น งุ้มไหล่เข้า หมุนมือเข้าข้างลำตัว จากนั้นแบะไหล่ออก แอ่นตัวขึ้น ท่านี้ทำเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อหลัง ทำซ้ำ 20 ครั้ง
ท่าที่ 4
นอนหงายราบไปกับพื้น ชันเข่าขึ้น จากนั้นจึงเพิ่มการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังส่วนเอว โดยแอ่นเอวขึ้น และกดเอวลง ทำสลับกันเป็นการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังส่วนล่าง ทำซ้ำ 20 ครั้ง
ท่าที่ 5
นอนหงายราบไปกับพื้น ชันเข่าขึ้น ยกขาข้างหนึ่งไขว้ไปยังขาอีกข้างหนึ่ง กางแขนออกทั้ง 2 ข้าง จากนั้นบิดเอวจากขาที่ไขว้ ทำค้างไว้ 5 วินาที แล้วจึงสลับไขว้ขาอีกข้างและบิดเอวเช่นเดิม ท่านี้จะช่วยให้กระดูกสันหลังมีการเคลื่อนไหวในทุกทิศทาง
ท่าที่ 6
อยู่ในท่าตั้งคลาน โดยให้ข้อมือ แขน และไหล่อยู่ในแนวเดียวกัน เข่าและสะโพกก็อยู่ในแนวเดียวกัน จากนั่นแอนหลังลง เงยหน้าขึ้น และโก่งหลังขึ้นสลับกัน ทำซ้ำ 20 ครั้ง
ท่าที่ 7
อยู่ในท่าตั้งคลาน โดยให้ข้อมือ แขน และไหล่อยู่ในแนวเดียวกัน เข่าและสะโพกก็อยู่ในแนวเดียวกัน ยืดแขนไปข้างหน้า 1 ข้าง พร้อมเยียดขาตรงและเตะขาขึ้น โดยที่ยกแขนและขาสลับกันข้างกัน พยายามแขม่วท้องและเกร็งสะโพกร่วมด้วย ทำค้างไว้ 10 วินาที เพื่อให้กล้ามเนื้อทั้งสองข้างทำงานไปพร้อมกัน จากนั้นจึงทำในลักษณะเดียวกันกับแขน และขาอีกข้างหนึ่ง ทำซ้ำ 20 ครั้ง
อย่างไรก็ตามควรปรึกษานักกายภาพบัดเพื่อวางแผนการรักษา พร้อมให้ข้อมูลและให้ความรู้ทางด้านสรีระ และโครงสร้างของภาวะกระดูกสันหลังคดของผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น จัดท่าทาง ฝึกการทรงท่า และการหายใจที่ถูกต้อง เพื่อที่ผู้ป่วยสามารถนำท่าที่ฝึก กลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และจัดโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อลักษณะของกระดูกสันหลังคดในแต่ละรูปแบบเฉพาะบุคคล
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1603 และ 1602