อาการปวดหลัง ถือเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายหลายๆ โรค ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน” โดยทั่วไปเมื่อเกิดอาการปวดหลังขึ้นมา คนส่วนใหญ่มักจะชะล่าใจเพียงแค่ว่าเป็นอาการปวดเมื่อยปวดหลังธรรมดา ทำให้เกิดความล่าช้าในการรักษา และส่งผลให้โรคทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเพื่อให้ทุกคนเข้าใจใน โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนมากขึ้น และสามารถสังเกตอาการได้ว่าแบบไหนคือปวดหลังธรรมดา แบบไหนคือปวดหลังจากภาวะกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน วันนี้จะจะไปทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้น
ทำความรู้จัก โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน
แม้โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน จะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยเท่ากับโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท แต่ความรุนแรงของโรคนี้ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย เพราะหากเป็นมากๆ อาจทำให้ถึงขั้นเดินไม่ได้ ทั้งนี้ โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน คือโรคที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของข้อกระดูกสันหลังบริเวณเอว โดยเคลื่อนไปข้างหน้าจนขัดกับข้อกระดูกสันหลังชิ้นอื่นๆ และทำให้เกิดอาการปวดในที่สุด
สาเหตุอะไร ทำให้เราเสี่ยงภัยกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน
ในความเป็นจริงแล้วสาเหตุของการเกิดโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากความเสื่อมของกระดูกตามวัย และการใช้งานหนัก การเคลื่อนไหวผิดท่าทาง จึงทำให้โรคนี้พบมากในผู้ป่วยสูงวัย และผู้ที่ใช้แรงงานหนัก รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย เล่นกีฬา และการทำกิจกรรมแบบหักโหมด้วย ทั้งนี้ นอกจากสาเหตุเรื่องอายุและพฤติกรรมแล้ว ก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก ได้แก่ การติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง หรือการถูกมะเร็งลุกลามมาที่กระดูกสันหลัง รวมถึงผู้ที่ประสบอุบัติเหตุต่างๆ ก็มีโอกาสเกิดความเสี่ยงกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนได้
ปวดแบบไหน? นี่แหละใช่กระดูกสันหลังเอวเคลื่อน
แน่นอนว่าถ้าแค่บอกว่า “ปวด” อย่างเดียวก็คงแยกออกยากว่าเป็นสาเหตุของโรคอะไรกันแน่ ซึ่งเพื่อให้เราสังเกตอาการตัวเองได้อย่างแม่นยำ และไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที หากพบอาการปวดกับตัวเองแบบนี้ เตรียมตัวให้ดีเลยว่า เราอาจกำลังเป็นโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน
- มีอาการปวดช่วงล่างตั้งแต่เอวลงไป
- อาการปวดจะค่อยๆ รุนแรงขึ้น และจะปวดมากเวลาเดินหรือยืน
- มีอาการปวดที่ก้นและต้นขาร่วมด้วย
- พบอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วยได้ หากกระดูกสันหลังเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท
- บางรายอาจมีอาการกระดูกสันหลังคดให้เห็นชัดเจน
- ในรายที่อาการรุนแรงอาจพบภาวะปัสสาวะลำบากร่วมด้วย
การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกสันหลังด้วยเหล็ก
สำหรับแนวทางในการรักษาโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนนั้น อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งการผ่าตัดเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคว่ากระดูกเอวเคลื่อนมากน้อยเพียงใด โดยหากอาการไม่รุนแรง ก็จะทำการรักษาด้วยอุปกรณ์พยุงหลัง ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้รับประทานยา แต่สำหรับรายที่มีอาการปวดรุนแรง มีภาวะของกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ก็จำเป็นจะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันการรักษาโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน ที่มีประสิทธิภาพนั้น คือ การผ่าตัดแผลเล็กด้วยวิธีการยึดตรึงกระดูกสันหลังด้วยเหล็ก หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Pedicular Screw Fixation Miniopen หรือถ้าให้อธิบายง่ายก็คือ การผ่าตัดรักษาด้วยการใส่สกรูเข้าไปยึดให้กระดูกสันหลังที่เคลื่อนหลุดอยู่นั้นกลับมายึดติดมั่นคงเป็นปกติตามเดิม ซึ่งด้วยการใช้เทคนิคผ่าตัดแบบแผลเล็ก บริเวณด้านซ้ายและขวาของกระดูกสันหลัง แทนการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่บริเวณกลางกระดูกสันหลัง จึงทำให้ลดความเสี่ยงเรื่องภาวะแทรกซ้อน เสียเลือดน้อย ลดความบอบช้ำของกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อในรอบบริเวณจุดเกิดโรคได้ จึงทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น และกลับมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิม ทั้งนี้ การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกสันหลังด้วยเหล็กแผลเล็กนี้ มีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ค่อนข้างมาก โดยรอยแผลผ่าตัดจะมีขนาดเพียงแค่ 2-3 ซม. เท่านั้น
ใช้ชีวิตอย่างไร ให้ห่างไกลโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน
แม้เทคโนโลยีการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกสันหลังด้วยเหล็กแผลเล็ก จะสามารถเยียวยาผู้ป่วยได้ดีแค่ไหน อย่างไรเสียการป้องกันไม่ให้เกิดโรคก็ยังคงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลหลังของเราเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ซึ่งแนวทางในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เราเสี่ยงเป็นโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน มีดังนี้
- มีสติไม่ประมาท เพื่อลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับหลังของเรา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่หักโหมไปจนเป็นอันตรายต่อหลัง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เพื่อบำรุงกระดูกให้แข็งแรงเสมอ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักเกินไป
- หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ
- ควบคุมน้ำหนักตัวเองไม่ให้มากจนเกินไป จนเป็นภาระของหลัง
เมื่อมีอาการปวดหลัง อย่าชะล่าใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและทำกายภาพบำบัดเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค
กระดูกสันหลังเป็นสิ่งสำคัญหากไม่ใส่ใจดูแลป้องกัน เราอาจไม่มีวันกลับมาเดินได้ เป็นปกติเหมือนเดิม
ศูนย์กระดูกสันหลัง
โรงพยาบาลพญาไท 3
Tel. 02-467-1111 ต่อ 3262