ความปรารถนาของคุณพ่อคุณแม่ทุกคนล้วนอยากให้ลูกน้อยเกิดมาพร้อมกับสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง
มีพัฒนาการเติบโตตามวัย แต่เมื่อรู้สึกว่าลูกน้อยของเรา “หัดเดินช้าหรือ มีพัฒนาการช้าไปหรือเปล่า?” หากคุณพ่อ คุณแม่ท่านใดที่เกิดความกังวลใจเหล่านี้มาลองเช็คดูกันว่า อาการผิดปกติที่ส่งผลทำให้ลูกหัดเดินช้าเกิดจากอะไร เกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางด้านพัฒนาการด้านร่างกายหรือไม่มีข้อเปรียบเทียบระหว่างลูกของเรากับลูกของคนอื่นในวัยเดียวกันแล้ว
แบบไหน..เรียกพัฒนาการด้านร่างกายของลูกน้อยช้า
คำว่าพัฒนาการด้านร่างกาย (physical development) คือ ความสามารถของร่างกายในการทรงตัว และการเคลื่อนไหว โดยการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (gross motor) เช่น การเดิน และการขีดเขียน การใช้มือ และตาประสานกันในการทำกิจกรรมต่าง ๆ (fine motor-adaptive) ซึ่งพัฒนาการทางด้านร่างกายช้านั้น หมายถึง เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน แต่การเรียนรู้ของเด็กมักเกิดขึ้นตามลำดับเหมือน ๆ กัน เช่น เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มคลานได้ก่อนเดินหรือ สามารถส่งเสียงได้ก่อนที่จะเริ่มพูดออกมาเป็นคำ เป็นต้น
ตัวอย่างของเด็กที่มีพัฒนาการล้าช้า เช่น เด็กอายุ 18 เดือนต้องเริ่มมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยใช้ท่าทางหรือ การเคลื่อนไหว ซึ่งเด็กปกติจะเริ่มเรียนรู้ที่จะเดิน และเดินได้ในช่วงอายุ 9 – 15 เดือน แต่ถ้าอายุ 20 เดือนแล้ว แต่ยังไม่สามารถเดินได้ อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น
ตัวอย่าง วิธีสังเกตพัฒนาการด้านร่างกายลูกรัก
อายุ 1 เดือน: สามารถกำมือ อยู่ในท่าคว่ำมือได้
อายุ 2 เดือน: สามารถชันคอได้ประมาณ 30 องศา นำมือเข้ามาสู่แนวกลางลำตัว และสามารถคลายออกเมื่อเห็นวัตถุได้
อายุ 3 – 6 เดือน: สามารถเคลื่อนไหวแขน และมือทั้งสองข้างได้ กำมือหลวมได้ ชันคอได้มากขึ้น คอแข็งขึ้น เริ่มเอื้อมมือไปหยิบจับสิ่งของที่สนใจได้ และเริ่มทรงตัวท่านั่งได้ประมาณ 1 นาที
อายุ 7 – 9 เดือน: เริ่มยกมือ และเท้ามาที่ปาก คลานได้ เปลี่ยนจากท่านอนคว่ำมาสู่ท่านั่งได้ นั่งได้มั่นคงขึ้น เริ่มพยายามจะเกาะเดิน และพยายามเขี่ยของชิ้นเล็ก ๆ เข้ามาอยู่ในฝ่ามือได้
อายุ 10 เดือน: สามารถเกาะเดินเอง และหยิบจับสิ่งของได้
อายุ 11 – 12 เดือน: สามารถยืนเองได้ชั่วครู่
อายุ 15 เดือน: สามารถเดินได้เตาะแตะ และคลานขึ้นบันไดได้
อายุ 18 – 24 เดือน: สามารถวิ่ง เดิน และขึ้น – ลงบันได้
อายุ 3 – 5 ปี: สามารถยืนขาเดียว และกระโดดได้ทั้งขาเดียว และสองขา
อะไรที่ทำให้พัฒนาการด้านร่างกายของเด็กช้า
โรคพันธุกรรม
พันธุกรรมเป็นปัจจัยทางด้านชีวภาพ เกี่ยวข้องกับยีนที่เด็กได้รับสืบทอดมาจากพ่อ แม่ ซึ่งโรคทางพันธุกรรมเป็นความผิดปกติของโครโมโซม ส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางพัฒนาการ เช่น กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์ (X) เปราะ (Fragile X syndrome) กลุ่มอาการพราเดอร์ – วิลลี่ (Prader – Willi syndrome) และ velocardiofascial syndrome เป็นต้น
จากสภาพแวดล้อมก่อนคลอด
เช่น การติดเชื้อ การได้รับสารพิษทางโภชนาการ และการเจ็บป่วยของมารดา โดยจะส่งผลต่อพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์
จากกระบวนการคลอด
เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะคลอด เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย ภาวะขาดออกซิเจน โครงสร้างภายในยังทำงานไม่สมบูรณ์เพียงพอ ส่วนหนึ่ง คือ สมอง และหลอดเลือดในสมองอาจทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด
การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม
การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม การขาดสารอาหาร เด็กที่ไม่มีพ่อแม่หรือ ผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่ อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่แออัด มีฐานนะยากจน เด็กถูกทอดทิ้งหรือ ถูกล่วงละเมิด ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมหลังคลอด ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก
แนวทางดูแลรักษา
หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการประเมินสาเหตุที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางพัฒนาการ วางแผนการรักษา ซึ่งหากมีข้อบ่งชี้ เช่น ภาวะเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย มีปัญหาสุขภาพทางกาย การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา เป็นต้น แพทย์อาจพิจารณาส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงการพิจารณาให้ยาในกรณีต่าง ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาการ เข้ารับการฝึกพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้น หากเด็กมีปัญหาทางระบบประสาท และกล้ามเนื้อ ควรได้รับการดูแลโดยนักกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันการลีบ และหดเกร็งของกล้ามเนื้อ หากมีปัญหาเกี่ยวกับการพูดควรได้รับการดูแลโดยนักกิจกรรมบำบัด และนักจิตวิทยาร่วมด้วย นอกจากนี้คุณพ่อ และคุณแม่ควรมีความรู้ความเข้าใจมากพอในการเลี้ยงดูลูกที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดในการส่งเสริมพัฒนาการ
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1603 และ 1602