คำแนะนำเรื่องโรคและแบบแผนการรักษา
- ยาเคมีบำบัด เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะที่เนื้อเยื่อของร่างกายมีการเจริญผิดปกติ มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อดังกล่าวซึ่งในบางกรณีผู้ป่วยอาจได้รับร่วมกับการผ่าตัดและการฉายแสง
- สำหรับการให้ยาเคมีบำบัดแต่ละครั้งของการรักษาจะมีการให้ยาต่อเนื่องกันเพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติให้เหลือน้อยและหมดไปในที่สุด โดยแต่ละครั้งจะเว้นช่วงห่างของการให้ยาเป็นรอบๆเพื่อให้ร่างกายได้พักและลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากยา
- ผู้ป่วยอาจได้รับยาหลายชนิดร่วมกัน เพื่อเสริมฤทธิ์ในการรักษา
- หลังจากได้รับยาจนครบตามกำหนดแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยเป็นระยะๆ ทั้งนี้เพื่อประเมินผลการรักษา หรือตรวจดูผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัด อาจมีการเจาะเลือดเพื่อดูปริมาณเม็ดเลือด ทั้งนี้เพราะยาเคมีบำบัดหลายตัวมีผลกดการทำงานของเซลล์ไขกระดูก ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ
- เพื่อให้การรักษาได้ผลและสามารถควบคุมโรคได้ ต้องมารับยาเคมีบำบัดให้ตรงนัดและครบตามแบบแผนการรักษา นอกจากนี้ยังเพื่อประเมินการรักษา ผลข้างเคียงจากยาเพราะในบางกรณีอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลการรักษาที่ดีที่สุด
อาการอันไม่พึงประสงค์จากยาเคมีบำบัดที่อาจพบ/พบได้บ่อยและการปฏิบัติตน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระบบ
1. อาการทางระบบทางเดินอาหาร
อาการคลื่นไส้อาเจียน
- ยาอาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้อาเจียนได้ ทั้งก่อน ขณะหรือหลังการได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเนื่องจากแพทย์ได้ให้ยาสำหรับป้องกันและบรรเทาอาการเหล่านี้แก่ผู้ป่วยแล้ว
- ควรรับประทานอาหารเบาๆ ย่อยง่ายเช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ในวันที่มารับการรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
- ควรรับประทานอาหารทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งขึ้นและควรรับประทานอาหารช้าๆ โดยเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน เพื่อช่วยการทำงานของกระเพาะ ป้องกันไม่ให้อาหารแน่นกระเพาะจนเกินไป
- กรณีที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนอาจดื่มเครื่องดื่มที่ใสและเย็น รสไม่หวานจัดเช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม หรือเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม โดยใช้หลอดดูด ค่อยๆจิบทีละนิด จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก อาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน เพราะเป็นอาหารที่ย่อยยากและกลิ่นน้ำมัน อาจจะกระตุ้นให้เกิดการคลื่นไส้อาเจียนได้
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารที่ปรุงด้วยเครื่องเทศ อาหารเผ็ดจัดหรือหวานจัดและอาหารที่มีกลิ่นแรง ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่เย็น เช่น ผลไม้หรือไอศกรีม จะรับประทานได้ง่ายและกลิ่นไม่แรง
- หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ไม่ควรออกกำลังกายทันทีและไม่ควรนอนราบอย่างน้อย 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหาร ควรนั่งหรือพักผ่อน
- สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่คับแน่นเกินไป ควรได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ ซึ่งจะช่วยให้อยากอาหารมากขึ้น
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาต้านการอาเจียน เมื่อรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการรุนแรง
เบื่ออาหาร
- ควรรับประทานครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้งขึ้น เพื่อที่จะได้รับสารอาหารเพียงพอในแต่ละวัน
- ควรทำความสะอาดช่องปากและฟันก่อนรับประทานอาหาร จะช่วยให้รับรสของอาหารได้มากขึ้น
เยื่อบุทางเดินอาหารอักเสบ
- แผลในช่องปากและลำคอ อาจเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาหรือเมื่อรับยาเสร็จแล้วกลับบ้าน หากอาการดังกล่าวรบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ควรใช้แปรงสีฟันชนิดที่มีขนอ่อนนุ่มเพื่อลดการระคายเคืองเยื่อบุช่องปาก
- ควรแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อและก่อนนอนหรือถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
- ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ซึ่งอาจมีผลทำให้ระคายเคืองมากขึ้น สามารถใช้สูตรที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสมได้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ระคายเคืองมากขึ้น ได้แก่อาหารที่มีรสเผ็ด อาหารแห้ง อาหารแข็งหรือน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
- รับประทานอาหารที่อุ่นและเย็น มากกว่าอาหารร้อน
- รับประทานอาหารที่กลืนได้สะดวก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม และควรดื่มน้ำตามมากๆ
- แพทย์อาจให้อมยาชาเพื่อลดอาการปวดแผลที่บริเวณเยื่อบุช่องปาก
- การดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อและภาวะเลือดออกง่ายกว่าปกติได้อีกทางหนึ่ง
ท้องเสีย
- หากมีอาการท้องเสียมากกว่า 3 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการปวดเกร็งท้องตามมา ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบและไม่ควรซื้อยาแก้ท้องเสียมารับประทานเอง
- ช่วงที่มีอาการควรดื่มน้ำมากๆ อาจจะเป็นน้ำเกลือแร่หรือน้ำเปล่าเพื่อป้องกันภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ
- ช่วงที่มีอาการควรรับประทานอาหารอ่อนๆ มีกากน้อยเช่น โจ๊กอุ่นๆ ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกากมาก เช่น ผักและผลไม้
ท้องผูก
- ควรรับประทานอาหารที่มีกากอาหารมากๆ เช่น ผักสด ผลไม้ เมล็ดธัญพืช จะช่วยป้องกันไม่ให้ท้องผูก
- กรณีมีอาการควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งในบางกรณีอาจต้องใช้ยาระบายช่วย แต่ไม่ควรไปซื้อยาระบายมาทานหรือสวนทวารเองโดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์
2. ภาวะกดการทำงานของไขกระดูก
ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกายดังนั้นกรณีที่เม็ดเลือดขาวต่ำอาจทำให้มีโอกาส เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากกว่าบุคคลทั่วไป ดังนั้นผู้ป่วยควรดูแลปฏิบัติตนดังนี้
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ เป็นหวัด หรือการเข้าไปอยู่ในที่ชุมชน คนเยอะๆ
- รักษาความสะอาดของร่างกาย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้มือสกปรกขยี้ตาหรือจมูก รักษาความสะอาดของช่องปากและฟันให้มากขึ้น
- ไม่ควรรับการฉีดวัคซีนใดๆ โดยที่ไม่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เจ้าของไข้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเหน็บทวารหนัก เพราะถ้าหากมีบาดแผลจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
- เมื่อมีไข้สูง หนาวสั่น ไอ เจ็บคอหรือปัสสาวะขัด ให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที
ภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำหรือภาวะโลหิตจาง
- ภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำ อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยเพลีย ไม่มีแรง ควรพักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ กรณีเมื่อพบว่าตนหายใจลำบากหรือหายใจถี่ขึ้นหรือมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก ให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อาจทำให้เกิดการฟกช้ำหรือเลือดออกง่ายกว่าปกติ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม และระมัดระวังการกระทบกระแทกหรืออุบัติเหตุ
- ควรใช้แปรงสีฟันขนอ่อน เพื่อป้องกันการเกิดแผลและการเกิดเลือดไหล ก่อนทำฟันควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
- เมื่อเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ พบจ้ำหรือจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง พบเลือดออกในปัสสาวะหรืออุจจาระ ให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที
3. อาการทางผิวหนัง
ผมร่วง
- ยาบางตัวอาจทำให้เกิดอาการผมร่วงแสดงว่ายาเริ่มออกฤทธิ์แล้ว เมื่อจบการรักษาผมจะงอกขึ้นมาใหม่ตามปกติดังนั้นผู้ป่วยไม่ต้องกังวล
- ควรตัดผมสั้น จะช่วยให้รู้สึกว่าผมไม่ได้ร่วงมาก
- ใช้แชมพูชนิดอ่อน หวีผมเบาๆ หลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนกับเส้นผม เช่น อบผม ดัดผม
- สามารถใส่วิกหรือหมวกได้ ในระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
ผิวหนังเปลี่ยนแปลง
ขณะได้รับยาเคมีบำบัดบางตัว อาจพบผื่น ผิวหนังแห้ง หรือแพ้แสงแดดได้ง่าย ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
- ควรใช้สบู่ที่ไม่มีน้ำหอม และใช้ครีมหรือโลชั่นทาผิวป้องกันผิวแห้ง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง ควรใส่หมวกหรือทาครีมกันแดดก่อนออกแดด
ข้อมูลโดย ฝ่ายเภสัชกรรม โทร 02-4671111 ต่อ 3174
ศูนย์มีสุข (ศูนย์มะเร็งและโรคเลือด) รพ.พญาไท 3