อากาศที่มีฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน ฝุ่นพิษนี้สามารถทะลุทะลวงเข้าสู่ทางเดินหายใจเราโดยง่าย เข้าสู่ถุงลมปอดทำให้ อวัยวะภายในร่างกายต่าง ๆได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ ปอด หัวใจ และการพัฒนาของสมอง คนหลายกลุ่ม ล้วนมีผลกระทบโดยตรงกับฝุ่นพิษนี้

ผู้สูงอายุ

จะอันตรายมากหากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หัวใจ และสมอง เพราะส่วนหนึ่งผู้สูงอายุจะมีภูมิคุ้มกันลดน้อยลงไปตามวัยและหากยิ่งสูดดมเอาฝุ่นพิษเข้าไปจำนวนมาก สารพิษเหล่านั้นจะเข้าสู่อวัยวะที่สำคัญโดยตรง โรคประจำตัวสามารถเกิดอาการกำเริบหนักและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่นอาการหัวใจวายกำเริบฉับพลัน ถุงลมโป่งพอง หรือภาวะปอดอักเสบก็มีโอกาสเป็นได้

เด็ก

เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 รุนแรงที่สุด เนื่องจากในวัยที่ต่ำกว่า 5 ปี ระบบการหายใจและภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ส่งผลให้เจ้าฝุ่นละออง PM 2.5 สามาถซึมลึกเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ นั้นก็จะส่งผลทำให้เด็กมีคว ามเสี่ยงเป็นโรคต่างๆมากมายตามมา แบ่งออกได้เป็น ระยะเฉียบพลัน และสะสมระยะยาว
ระยะเฉียบพลัน อาการแสดงคือ เด็กมีอาการแสบจมูก แน่นจมูก แสบตา ตาแดง เป็นไข้ได้ ซึ่งหากเด็กมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น หอบหืด หรือภูมิแพ้ อาจอาการกำเริบได้มาก หรือหายใจเร็ว เฉียบพลัน แน่นหน้าอก หรือในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อง่าย อาจจะมีอาการติดเชื้อรุนแรงมากกว่าปกติถึงขั้นไอจามเป็นเลือดได้
สะสมระยะยาว คือเด็กจะได้รับสารพิษจากฝุ่น PM 2.5 สะสมมาก ๆ อวัยวะในร่างกายระบบแรกที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้สมรรถภาพปอดลดลง และในระยะยาวกว่านั้น พบว่าอาจเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ หรือ ทำให้เป็น มะเร็งปอดได้

นอกจากนี้หากเด็กมีการสะสมฝุ่นพิษต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจ และหลอดเลือด รวมทั้งพัฒนาการทางสมองของเด็ก สติปัญญาหรือสมาธิได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก สามารถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด ไปสู่ระบบประสาทและสมอง  โดยฝุ่นที่เข้าไปนั้นจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่บริเวณเซลล์ ต่าง ๆ ทำให้การทำงานของเซลล์ประสาทผิดปกติ

คนเป็นโรคภูมิแพ้

คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ก็จะง่ายต่อการกำเริบของอาการเมื่อมาเจอสภาวะอากาศแบบในกรุงเทพฯ ขณะนี้ คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศมักจะมีอาการ ดังนี้  โรคหวัดภูมิแพ้ / โรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis; Hay fever)  เป็นโรคหวัดจากการแพ้ หรือเป็นภาวะที่เยื่อบุจมูกอักเสบ จัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งเกิดจากเยื่อบุจมูกสัมผัสสารก่อภูมิแพ้เป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งเกิดอาการของโรคขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันจมูก  คัดจมูก  หายใจไม่สะดวก น้ำมูกไหล อาจจะกระแอมบ่อย ๆ เนื่องจากมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคนี้พบได้บ่อยทุกเพศทุกวัย มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดความน่ารำคาญแต่ไม่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง  อาจจะเป็นหวัดจามบ่อย ๆ  เป็นต้น  ยิ่งมาเจอกับ เจ้าฝุ่นละออง PM 2.5 ผู้ที่จะได้รับผลกระทบก่อนคนอื่น และอาจจะหนักกว่าคนที่มีร่างกายแข็งแรง ก็คือผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้ แล้วต้องทำงานหรือต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ ที่ค่าฝุ่นละอองเกินเกณฑ์ มาตรฐานความปลอดภัย ยิ่งทำให้แสดงอาการได้ง่ายและรุนแรงมากขึ้น

หากอาการภูมิแพ้กำเริบหนัก อาการแสบจมูก แน่นจมูก แสบตา ตาแดง มีไข้ โดยที่ทานยาไปแล้ว 2-3 วันยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการไอจามมีเลือดออก ให้รีบเข้ามาพบแพทย์โดยด่วน

คุณแม่ตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการเผชิญฝุ่น PM 2.5 เพื่อลูกน้อยของคุณ

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการสูดดมฝุ่นพิษ เป็นพิเศษกว่าคนอื่น ๆเพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จะมีทั้งแม่และลูกน้อยในครรภ์ ถึงแม้จะส่งผลต่อสุขภาพแม่เป็นหลัก โดยเฉพาะถ้าในช่วงไตรมาสที่สาม คุณแม่จะมีอาการเหนื่อยง่าย อาจจะทำให้เหนื่อยได้มากขึ้น หรือกระตุ้นอาการภูมิแพ้ หรือโรคปอดที่มีอยู่ได้ แต่ถ้าคุณแม่ยังแข็งแรงดี สุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ก็ไม่น่ากังวล

การป้องกันฝุ่นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ถ้ากรณีอยู่ในที่โล่งโดนฝุ่นไม่นาน หน้ากากอนามัยทั่วไปก็เพียงพอ แต่ถ้าจำเป็นต้องอยู่ที่โล่งโดนฝุ่นทั้งวันทุกวัน การใช้ N95 จะสามารถช่วยลดอันตรายจากฝุ่นลงได้ แต่ทั้งนี้ หน้ากากN95 ถ้าใส่แบบถูกต้อง เวลาคุณแม่หายใจจะค่อนข้างลำบาก ดังนั้นการใส่นานๆทั้งวันจะไม่เหมาะสม ทำให้คุณแม่เหนื่อยและอาจทนไม่ไหวได้ สุดท้ายสิ่งที่ดีที่สุดคือต้องเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด

วิธีการหลักหนีฝุ่นละออง PM 2.5

  • หลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด ในการออกไปพื้นที่โล่งแจ้ง
  • หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องพกหน้ากากอนามัยชนิด N95 ติดตัวตลอดและใส่ทุกครั้งที่ออกจากอาคาร
  • สังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากเริ่มมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์จ่ายยาแก้แพ้ที่เหมาะกับตัวเองมารับประทาน (ไม่ควรซื้ออย่าแก้แพ้มาทานเอง)
  • หากรับประทานยาแก้แพ้แล้ว 2 – 3 วันอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแน่นหน้าอกเพิ่มขึ้นมา ให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วน เพื่อทำการหาสาเหตุอย่างละเอียด
  • ล้างจมูกทุกวัน เช้า – เย็น
  • หมั่นทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอเพื่อให้บ้าน ปลอดฝุ่น
  • พกยาประจำตัวไว้เสมอ ให้สะดวกในการหยิบมาใช้เวลาฉุกเฉิน

Start typing and press Enter to search