ความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่สังคมในปัจจุบันเปิดกว้างและให้การยอมรับ เพราะทุกคนย่อมเข้าใจถึงความชื่นชอบที่แตกต่างกัน แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกอยู่ในวัยเด็กและเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปย่อมมีความกังวล การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะการดูแลเด็กแต่ละคนย่อมมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แล้วหัวใจหลักของการดูแลเด็กที่ความหลากหลายทางเพศคืออะไร ไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นพฤติกรรมบางอย่างและกังวลว่าลูกจะเป็นเพศที่หลากหลาย เช่น เด็กผู้ชายชอบแต่งหน้า เอาผ้าเช็ดตัวมาแต่งตัวเป็นเจ้าหญิงเอลซ่า เด็กผู้หญิงชอบเล่นหุ่นยนต์ จึงพาเด็กมาปรึกษาจิตแพทย์เด็กเพื่อประเมินและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูก สิ่งที่จิตแพทย์เด็กจะช่วยเหลือ คือ ประเมินความชอบความสนใจของเด็ก เพราะเพศหลากหลายไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เป็นการแสดงออกถึงสิ่งที่เด็กชอบและสนใจเกี่ยวกับเรื่องเพศที่แตกต่างกัน หากพบว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นเพศหลากหลาย จิตแพทย์เด็กจะช่วยให้ครอบครัวและสังคมของเด็กยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็น เพื่อช่วยให้เด็กปรับตัวได้และลดการเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการไม่ยอมรับของสังคมโดยเฉพาะครอบครัว

ปรับเปลี่ยนไปสู่การยอมรับ

คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งรู้สึกว่าเอ๊ะ! ทำไม เมื่อเด็กเริ่มมีความชอบที่ไม่ตรงกับเพศของตัวเอง แล้วแพทย์ให้ยอมรับอย่างเดียวเลยหรือ? สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกนั้น แนะนำสำหรับเด็กเล็กหรือคุณพ่อคุณแม่ยังไม่แน่ใจว่าลูกจะมีความชอบแบบไหนจริงๆ แน่นอนว่าเราเข้าใจหัวอกของผู้เป็นคุณพ่อคุณแม่ แต่สิ่งที่เราจะบอกเสมอ คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจในตัวลูกก่อน ซึ่งความเข้าใจเกิดได้จากการสังเกต และ ใช้เวลาร่วมกับลูก จะทำให้รู้ว่าลูกสนใจอะไร ชอบ/ไม่ชอบ ทำกิจกรรมหรือคุยเรื่องอะไร

ขั้นตอนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมย่อมเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

คนในครอบครัวลดการแสดงความสนุกสนานหรือล้อเลียนเมื่อเด็กเลียนแบบพฤติกรรมเพศที่หลากหลาย หรือทำกิจกรรม ท่าทางที่ไม่ตรงกับเพศของตนเอง

(เน้นว่าเป็นการลดการแสดงในความสนุกสนานเท่านั้น ไม่ใช่การปฎิเสธหรือแสดงท่าทีไม่พอใจ หรือรังเกียจ) เพราะในหลายครั้งเมื่อเด็กเลียนแบบพฤติกรรมของเพศที่หลากหลายแล้วผู้ใหญ่ ขำ ชื่นชอบ หรืออาจจะล้อเลียน เด็กอาจจะเข้าใจว่านั่นคือสิ่งที่เด็กควรจะเป็น หรือทำแล้วได้รับความสนใจ ชื่นชอบจากผู้ใหญ่ การปรับเปลี่ยนนี้จะช่วยลดการแสดงพฤติกรรมของเด็กที่เกิดจากการทำเพื่อต้องการได้รับความสนใจได้ และหากเด็กมีความชอบที่หลากหลายจริง เด็กก็จะได้ไม่มีปมทางจิตใจว่าครอบครัวแสดงท่าทีรังเกียจเพศที่หลากหลายที่เด็กชื่นชอบ และจะได้ไม่เกิดผลกระทบในอนาคตว่าลูกไม่กล้าเป็นตัวของตัวเองเมื่ออยู่บ้าน เกิดความเครียดการกดดัน เพราะรู้สึกว่าครอบครัวไม่ยอมรับ และอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

การให้เด็กได้ใกล้ชิด มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ใหญ่ทั้ง สองเพศอย่างสมดุล ในช่วงอายุ 3-5 ปี เพื่อเห็นบทบาทและการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างกัน เนื่องจากช่วงอายุนี้เป็นช่วงที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาการทางเพศ ซึ่งโดยทั่วไปของเด็กในวัยนี้ เด็กผู้ชายจะติดแม่ และอาจแสดงท่าทีหวงแม่ ไม่ชอบให้พ่อเข้ามาใกล้ชิด ในทางกลับกันเด็กผู้หญิงจะติดพ่อ และแสดงท่าทีไม่ชอบแม่ ซึ่งถ้าพ่อแม่เข้าใจพฤติกรรมนี้ที่เกิดขึ้นของเด็ก จะทำให้พ่อแม่พยายามเป็นมิตร และเข้าหาเด็ก เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศมากขึ้น หากพ่อแม่ไม่เข้าใจจะเกิดปัญหาความขัดแย้งกันขึ้น ส่งผลต่อการแสดงออกทางเพศ และสัมพันธภาพกับเพศตรงข้ามได้ในอนาคต

คุณพ่อคุณแม่จะสามารถช่วยดูแลได้อย่างไรบ้าง

พ่อคุณแม่ยอมรับและเข้าใจเด็ก จะเป็นเกราะสำคัญทางจิตใจที่มั่นคง ให้เด็กปรับตัวกับสังคมภายนอก เช่น ที่โรงเรียน ซึ่งอาจมีบางคนไม่ยอมรับ หรือ Bully : รังแก เด็กกลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่การรังแกทางกาย แต่อาจเป็นด้านจิตใจ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คือกำลังใจชั้นเลิศ และขณะเดียวกันก็ยังเป็นที่ปรึกษาที่คอยแนะนำวิธีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความมั่นใจว่าความแตกต่างเป็นสิ่งปกติ ทุกคนสามารถมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

เริ่มต้นสร้างการยอมรับความแตกต่าง

แน่นอนว่า ถ้าครอบครัวใดมีเด็กในความดูแลมีความสนใจในความหลากหลายทางเพศ และสิ่งที่ชื่นชอบอยากจะเป็นไม่ตรงกับเพศสภาพ ความมุ่งหวังของทุกครอบครัวคงเหมือนกันคือต้องการให้เด็กได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่โดน บูลลี่ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงสามารถใช้ชีวิตได้แบบปกติเช่นเด็กทั่วไป

ดังนั้น การที่เราจะไปสอนเด็กคนอื่นให้ยอมรับความแตกต่างคงทำได้ไม่ง่าย แต่สิ่งสำคัญ คือ สามารถเริ่มต้นได้จากในครอบครัว จากพ่อแม่ที่ยอมรับความแตกต่างของพี่น้อง  ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ของเล่น หรือซื้อเสื้อผ้าให้เด็กเหมือนกัน ลดการเปรียบเทียบในพี่น้อง แสดงการยอมรับความสามารถของลูกที่ต่างกัน ส่วนกิจกรรมหรือความชอบของเด็กๆ ไม่ต้องระบุเพศ เช่น เด็กผู้หญิง ต้องเล่นตุ๊กตา ชอบสีชมพู และเล่นเป็นเจ้าหญิงต้องไว้ผมยาว ส่วนเด็กผู้ชายต้องเล่นหุ่นยนต์ ชอบสีฟ้า เล่นเป็นเจ้าชาย และต้องไว้ผมสั้น เป็นต้น แต่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกอย่างอิสระ ใครชอบอะไร สนใจจะทำสิ่งใด สามารถทำได้เลย โดยไม่คำว่าเพศมาเป็นตัวกำหนด พร้อมทั้งสอนให้เด็กรู้จักยอมรับความแตกต่าง เพื่อสร้างการยอมรับความแตกต่างให้เริ่มต้นจากในครอบครัว

ความชื่นชอบทางเพศที่หลากหลาย ไม่ใช่ความผิด และไม่ใช่สิ่งผิดปกติ ขอเพียงเปิดใจและยอมรับว่าทุกสิ่งย่อมมีความแตกต่าง ความชื่นชอบในเรื่องของเพศก็เฉกเช่นเดียวกัน

พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.พญาไท 3

Start typing and press Enter to search